“การบินไทย” พ้นพงหนามจริงหรือ?

Experts pool

Columnist

Tag

“การบินไทย” พ้นพงหนามจริงหรือ?

Date Time: 4 ต.ค. 2567 17:57 น.

Video

ล้วงลึกอาณาจักร “PCE” สู่บริษัทมหาชน ปาล์มครบวงจร | On The Rise

Summary

  • จากการเตรียมความพร้อม การดำเนินงานต่างๆ ของการบินไทยในช่วงวิกฤตที่ผ่านมาพอจะทำให้เห็นได้ว่า การบินไทยหลังจากนี้จะก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ ปลอดจากการแทรกแซง และนำพาองค์กรให้กลับมายืนหนึ่งของนิยาม “สายการบินแห่งชาติ สายการบินของคนไทย อย่างแท้จริงได้หรือไม่”?

Latest


จากที่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ได้เข้ากระบวนการแผนฟื้นฟูกิจการ และล่าสุดได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ และร่างหนังสือชี้ชวน (Filing) สำหรับการปรับโครงสร้างทุนต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพื่อปรับโครงสร้างทุน และเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนอีกประมาณ 9,800 ล้านหุ้น ในราคาไม่ต่ำกว่า 2.5452 บาทต่อหุ้น มูลค่ารวมไม่น้อยกว่า 25,000 ล้านบาท ไปเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2567 ที่ผ่านมา

จากนี้ไปก็ต้องมาดูว่า การบินไทย จะเดินหน้าไปในทิศทางไหน ที่จะนำการบินไทยออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ คาดว่ากระบวนการใช้สิทธิ และแจ้งเจตนาแปลงหนี้เป็นทุนเพิ่มเติมของเจ้าหนี้แต่ละกลุ่มจะแล้วเสร็จในช่วงเดือน พ.ย. 2567 ดังนั้นกระบวนการเสนอขาย การจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนสำหรับผู้ถือหุ้นก่อนการปรับโครงสร้างทุน ทั้งในส่วนของพนักงานบริษัทและนักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง (Private Placement: PP) จะดำเนินการเสร็จในปี 2567

ขณะเดียวกันในระหว่างนี้การบินไทยจะเสนอรายชื่อผู้เหมาะสมเข้ามาเป็นคณะกรรมการ (บอร์ด) ชุดใหม่ ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขสุดท้ายตามข้อกำหนดยื่นออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ เบื้องต้นคาดว่าจะเสนอรายชื่อได้ภายในเดือน ธ.ค. นี้ ในเรื่องนี้ “ชาย เอี่ยมศิริ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร การบินไทย ได้กล่าวย้ำว่า หากให้การบริหารงานให้ต่อเนื่อง ส่วนตัวก็เชื่อว่าควรจะมีหนึ่งในผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการที่มาเป็นบอร์ดชุดใหม่ด้วย เพื่อทำให้การขับเคลื่อนนโยบายของบอร์ดชุดใหม่สอดคล้องไปกับแผนที่วางไว้ และเกิดความต่อเนื่อง อย่างไรก็ดีรายละเอียด รายชื่อของบอร์ดใหม่ขึ้นอยู่กับการโหวตของผู้ถือหุ้น

เมื่อการบินไทยเดินหน้าปรับโครงสร้างทุน เสนอขายหุ้นเพิ่มทุนแล้วเสร็จในเดือน ธ.ค. 2567 และยื่นงบการเงินซึ่งคาดว่าจะมีผลในงวดปี 2568 ช่วงเดือน ก.พ. 2568 งบการเงินของการบินไทยจะมีส่วนทุนเป็นบวก หลังจากนั้นการบินไทยมีกำหนดนัดประชุมผู้ถือหุ้นในช่วงเดือน เม.ย. 2568 เพื่อพิจารณาวาระการแต่งตั้งคณะกรรมการ (บอร์ด) ชุดใหม่ของบริษัท

และเมื่อขั้นตอนเหล่านี้แล้วเสร็จ ก็จะถือได้ว่าการบินไทยดำเนินการครบทั้ง 4 เงื่อนไขในการยื่นออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ จะสามารถยื่นคำร้องออกจากแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางในเดือน เม.ย. 2568 โดยคาดว่าศาลฯ จะมีคำสั่งให้ออกจากแผนฟื้นฟูกิจการราวเดือน พ.ค. 2568 จากนั้นบริษัทจะยื่นไฟลิ่งเพื่อขอนำหุ้นกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ เดือน มิ.ย. 2568

ส่วนประเด็นที่ว่าหลังจากการปรับโครงสร้างทุน และออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จะกลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่นั้น ในเรื่องนี้ก็ต้องรอดูกระทรวงการคลัง เพราะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ แม้ว่าการเพิ่มทุนของกระทรวงการคลังจะเพิ่มเต็มตามสิทธิ์ที่ได้รับ สัดส่วนการถือหุ้นจะอยู่ที่ 45% เท่านั้น ก็จะยังไม่ทำให้ การบินไทย กลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจในปีนี้อย่างแน่นอน แต่เมื่อมีการซื้อขายในตลาดฯ ก็ต้องมาดูอีกครั้งว่า คลังจะกลับเข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มหรือไม่

ซึ่งในช่วงฟื้นฟูกิจการ 4 ปีที่ผ่านมา ก็เป็นเครื่องพิสูจน์และประจักษ์ให้เห็นกันแล้วว่า การที่การบินไทยเดินตามแผนฯ อย่างเคร่งครัด และเป็นบริษัทเอกชนเต็มตัว มีความคล่องตัวในการบริหารงาน ปราศจากการแทรกแซงจากการเมือง ทำให้สามารถกำหนดกลยุทธ์แผนการทำธุรกิจ เส้นทางบิน เครื่องบินอย่างรวดเร็วทันตามสถานการณ์ ส่งผลให้ผลประกอบการดีขึ้น ทำให้ในปัจจุบันการบินไทยมีเงินสดสภาพคล่องในมือรวมกว่า 80,000 ล้านบาท ซึ่งการเดินตามแผนฯ ครั้งนี้ทำให้พลิกโฉมองค์กรครั้งใหญ่

ขณะที่เจ้าหนี้ส่วนใหญ่ก็ไม่อยากให้การบินไทยกลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจ อีกทั้งในแผนฟื้นฟูก็ยังระบุด้วยว่า หน้าที่ผู้บริหารแผนคือ ไม่ทำให้การบินไทยกลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจอีก “คงไม่มีใครอยากให้การบินไทยกลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจ การจะเป็นรัฐวิสาหกิจมันมีข้อติดขัดในการทำธุรกิจ บทบาทของการเป็นรัฐวิสาหกิจและการเป็นบริษัทมหาชน ค่อนข้างที่จะไปคนละทางเพราะบริษัทมหาชนดำเนินงานเพื่อสร้างผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้น แต่การดำเนินภายใต้รัฐวิสาหกิจคือการทำตามนโยบายรัฐและนโยบายทางสังคมมากกว่าทำให้ 2 สถานภาพขัดแย้งกัน” ชายกล่าวย้ำ

นอกจากนี้ เพื่อทำให้ผู้ถือหุ้นของการบินไทยได้รับปันผลจากการลงทุนและการแปลงหนี้เป็นทุน และดึงดูดนักลงทุนใหม่ การบินไทยได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการศาลล้มละลายกลาง เพื่อขอลดมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ ซึ่งเป็นวิธีใช้ล้างขาดทุนสะสมปัจจุบันที่มีประมาณ 60,000 ล้านบาท

โดยขณะนี้ศาลฯ ได้นัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาขอแก้ไขแผนในวันที่ 8 พ.ย. นี้ หากเจ้าหนี้เห็นชอบ คาดว่าจะมีผลดำเนินการในเดือน ก.พ. 2568 หลังเพิ่มทุนและกลับไปเทรดในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำให้ผู้ถือหุ้นทุกรายจะได้รับเงินปันผลในงวดปี 2568 ซึ่งเบื้องต้นการบินไทยมีนโยบายเงินปันผลไม่ต่ำกว่า 25% ของกำไรสุทธิ

ชาย ได้กล่าวเสริมว่า ส่วนยุทธศาสตร์ของการบินไทยหลังจากนี้ในการเพิ่มศักยภาพทางการบินผ่านเส้นทางการบินทั่วโลกเพื่อสร้างรายได้นั้น การบินไทยจะใช้กรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางทางการบิน (ฮับ) ไปยังเครือข่ายเส้นทางการบินทั่วโลก จากเดิมที่ประเทศไทยเป็นเพียงจุดหมายปลายทาง หรือบินจากจุดหนึ่งไปยังจุดที่สองเท่านั้น ต่อไปจะขยายเชื่อมต่อจากจุดหนึ่งไปยังจุดที่สองและต่อไปยังจุดที่สาม ซึ่งจะทำให้การบินไทยสร้างรายได้ได้มากขึ้น ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์หลักของการบินไทยในอนาคต

ปัจจุบันการบินไทยมีจุดบินทั้งหมด 62 จุด 27 ประเทศ 803 เที่ยวบิน/สัปดาห์ ส่วนแผนการจัดหาเครื่องบินที่จะนำมาทำการบินนั้น ปัจจุบันการบินไทยมีเครื่องบินประจำฝูงที่ 77 ลำ และในแผนระยาวในปี 2572 การบินไทยจะมีเครื่องบิน 143 ลำ แบ่งเป็น ลำตัวกว้าง 91 ลำ และลำตัวแคบ 52 ลำ ส่วนปี 2576 ที่จะมีเครื่องบิน 150 ลำ แบ่งเป็น ลำตัวกว้าง 98 ลำ และลำตัวแคบ 52 ลำ ซึ่งสะท้อนถึงการขยายฝูงบินลำตัวกว้างเพิ่มขึ้น เตรียมพร้อมในการแข่งขันของธุรกิจตลอดระยะเวลาอีก 10 ปีข้างหน้า

ซึ่งจากการเตรียมความพร้อม การดำเนินงานต่างๆ ของการบินไทยในช่วงวิกฤตที่ผ่านมาก็พอจะทำให้เห็นได้ว่า การบินไทยหลังจากนี้จะก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ ปลอดจากการแทรกแซง และนำพาองค์กรให้กลับมายืนหนึ่งของนิยาม “สายการบินแห่งชาติ สายการบินของคนไทย อย่างแท้จริงได้หรือไม่”

อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money เพื่อให้คุณ "การเงินดีชีวิตดี" ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/investment

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้
https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

สุรางค์ อยู่แย้ม

สุรางค์ อยู่แย้ม
ข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ