ใครควรทำอะไร…ในวันที่บาทแข็งค่า

Experts pool

Columnist

Tag

ใครควรทำอะไร…ในวันที่บาทแข็งค่า

Date Time: 27 ก.ย. 2567 18:21 น.

Video

สาเหตุที่ทำให้ Intel อดีตยักษ์ใหญ่ชิปโลก ล้าหลังยุค AI | Digital Frontiers

Summary

  • ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ค่าเงินบาทของไทยเผชิญกับพายุความผันผวนแบบรถไฟเหาะตีลังกา ทั้งแข็งค่าแตะ 32 บาทต่อดอลลาร์ และอ่อนลงไปใกล้ 38 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนการแข็งค่ามาอยู่ระดับเกิน 32.50 บาทต่อดอลลาร์ในเวลานี้ นักวิเคราะห์ชี้ว่า เป็นระดับที่ Overvalued ซึ่งหากปัจจัยพื้นฐานไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เงินบาทก็ไม่ควรแข็งค่าเกินระดับดังกล่าวไปมากนัก

Latest


เขียนคอลัมน์วันนี้ จากการถูกตั้ง 2 โจทย์คำถามเกี่ยวกับ “ค่าเงินบาท” คำถามแรกคือ หลายคนกังวลใจเกี่ยวกับ “ค่าเงินบาท” ที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องมาระยะหนึ่งแล้ว ว่าจะแข็งค่าขึ้นต่อไปมากและนานแค่ไหน มีโอกาสหรือไม่ที่เราจะกลับมาเห็น “อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ” อยู่ที่ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

ในขณะที่อีกคำถาม เป็นคำถามต่อเนื่องถึง “ธนาคารแห่งประเทศไทย” (ธปท.) ที่หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า “ทำไม ธปท.ไม่เข้าแทรกแซงค่าเงินบาทให้อ่อนค่าลง” เพราะหลังจากที่ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ของไทยทะลุ 32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบมากกว่า 30 เดือน ทั้งภาครัฐบาล และภาคเอกชน ได้ออกมาเรียกร้องให้ ธปท.ดำเนินการอะไรสักอย่างเพื่อให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมาอยู่ที่ระดับ 35-36 บาทต่อดอลลาร์ฯ เพื่อช่วยดูแลภาคการส่งออกสินค้า ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาวะเศรษฐกิจไทยโดยรวม

ก่อนที่จะตอบคำถามเหล่านี้ มีคำถามเล็กๆ เพิ่มเติมมาว่า ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้นเร็วหรือช้าอย่างไร

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ค่าเงินบาทของไทยประสบกับความผันผวนที่รุนแรงมาก โดยหากเทียบเงินบาทวันนี้ (27 ก.ย.2567) ที่ 32.4266 บาทต่อดอลลาร์ฯ กับช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งวันที่ 2 ม.ค.2567 ซึ่งค่าเงินบาทอยู่ที่ 33.9954 บาทต่อดอลลาร์ฯ พบว่าเปลี่ยนแปลงแข็งค่าขึ้น 1.5688 บาทต่อดอลลาร์ฯ หรือประมาณ 4.6%

แต่ถ้าหากเทียบใหม่ กับวันเดียวกันของปีก่อน วันที่ 27 ก.ย.2566 ซึ่งค่าเงินบาทอยู่ที่ 37.8383 บาทต่อดอลลาร์ฯ จะแข็งค่าขึ้น 5.4117 บาทต่อดอลลาร์ หรือแข็งค่าขึ้นประมาณ 14%

ในทางตรงกันข้าม หากเทียบกับวันที่ 23 ก.พ.2565 ค่าเงินบาทของไทยอยู่ที่ 32.1267 บาทต่อดอลลาร์ฯ ซึ่งแข็งค่ากว่าในขณะนี้ แสดงให้เห็นว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ค่าเงินบาทของไทยเผชิญกับพายุความผันผวนแบบรถไฟเหาะตีลังกา ทั้งแข็งค่าแตะ 32 บาทต่อดอลลาร์ และอ่อนลงไปใกล้ 38 บาทต่อดอลลาร์

และความผันผวนสวิงขึ้นสวิงลงแรงๆ นี้เอง ที่กระทบรุนแรงทั้งต่อการตั้งราคาสินค้าในการส่งออก และรายรับรายจ่ายของผู้ประกอบการ


แล้วค่าเงินบาทที่กลับมาแข็งค่าขึ้นแรงๆ ในรอบนี้เกิดจากอะไร?

จากการสำรวจข้อมูลพบว่า ปัจจัยส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) โดยตั้งแต่ก่อนเดือน มี.ค.2565 ซึ่งเป็นช่วงที่เฟดตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรก และประกาศว่าจะขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องไปจนถึง 5.0-5.25% ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งขึ้นต่อเนื่อง กระทบต่อเงินสกุลต่างๆ ของโลก รวมทั้งเงินบาทไทยอ่อนค่าลงแรงและเร็ว

แต่เมื่อเฟดกลับลำมาลดดอกเบี้ยลงครั้งแรกในวันที่ 18 ก.ย.ที่ผ่านมา และเป็นการลดลงแรงถึง 0.5% ต่อปี ส่งผลให้เงินทุนที่เคยลงทุนในดอลลาร์สหรัฐฯ กลับทิศ ทิ้งดอลลาร์ออกมาลงทุนในสกุลเงินอื่น ส่งผลให้ทุกสกุลแข็งค่าขึ้น โดยเฉพาะประเทศที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับไม่ต่ำจนเกินไป

แต่ยังไม่หมดแค่นั้น เงินบาทของเรายังมีปัจจัยอื่นเพิ่มเติมมาอีก คือ ที่ผ่านมา นักลงทุน (ซึ่งก็ไม่รู้ว่าใคร) เอาเศรษฐกิจไทยของเราไปผูกไว้กับเศรษฐกิจจีน ทั้งในฝั่งการผลิต การค้า และการท่องเที่ยว ดังนั้น ในช่วงก่อนหน้าที่เศรษฐกิจจีนแย่ ค่าบาทเราก็พลอยอ่อนค่าแรงๆ ตามไปด้วย มาวันนี้รัฐบาลจีนโหมกระตุ้นเศรษฐกิจ นักลงทุนส่วนหนึ่งก็มองว่า เศรษฐกิจไทยจะได้ประโยชน์จากส่วนนี้ ส่งผลให้เข้ามาลงทุนในเงินบาทเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกัน อีกปัจจัยที่ส่งผลกับค่าเงินบาท และเป็นอีกตลาดหนึ่งที่ผันผวนสูงมากในขณะนี้ คือ ตลาดทองคำ ซึ่งในขณะนี้ราคาทองคำโลกทำนิวไฮอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนั้น การแข็งขึ้นของค่าเงินบาท ยังสะท้อนโดยตรงถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งตั้งแต่ประเทศไทยสามารถมีรัฐบาลบริหารประเทศได้อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่รัฐบาลนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน และมั่นคงมากขึ้น เมื่อมาถึงรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ส่งผลให้มีเงินไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น และตลาดพันธบัตรของไทยเพิ่มขึ้น

บาทแข็งมากกว่า 33 บาทต่อดอลลาร์ เป็นระดับที่ Overvalued

อย่างไรก็ตาม หากถามว่า ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นมากวันนี้สะท้อนเศรษฐกิจไทยที่แท้จริงหรือไม่ นักบริหารเงินของธนาคารพาณิชย์ชั้นนำหลายแห่ง ตอบตรงกันว่า ค่าเงินบาทที่ 32.50 บาทต่อดอลลาร์นั้น เป็นอัตราที่เกินจริง

พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ในเชิง Valuation การแข็งค่าของเงินบาทมากกว่าโซน 33 บาทต่อดอลลาร์ โดยเฉพาะโซนแข็งค่าเกิน 32.50 บาทต่อดอลลาร์ ถือว่า เป็นระดับที่ Overvalued ซึ่งหากปัจจัยพื้นฐานไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เงินบาทก็ไม่ควรแข็งค่าเกินระดับดังกล่าวไปมากนัก

จุดนี้อาจจะตอบคำถามแรกได้ว่า หากเศรษฐกิจไทยไม่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในเวลาอันใกล้ ค่าเงินบาทไทยไม่ควรแข็งค่ากว่านี้ และไม่ควรไปถึง 30 บาทต่อดอลลาร์อย่างที่ปั่นราคากัน ยกเว้นว่า จะมีกระบวนการเก็งกำไรค่าเงิน หวนกลับมาจ้องถล่มค่าเงินของไทย

ส่วนคำถามที่สอง เมื่อบาทแข็งเกินพื้นฐานเศรษฐกิจอย่างวันนี้ เหตุใด ธปท.ไม่ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง ทั้งๆ ที่ ธปท.ก็รู้ดีว่า ค่าเงินบาทถ้าอยู่ในสภาวะ “อ่อนกว่าพื้นฐานเศรษฐกิจ” นิดๆ จะเป็นค่าเงินที่ประเทศได้ประโยชน์ที่สุด

เท่าที่รู้ว่า ในช่วงก่อนหน้า ธปท.ก็มีการเข้าแทรกแซงค่าเงินบาทเป็นระยะๆ เช่นกัน ในวันที่ค่าเงินบาทแข็งเร็วและแรงเกินไป แต่อาจจะไม่ได้แทรกแซงถึงขนาดหยุดการแข็งค่าของเงินบาทไว้ที่ใดที่หนึ่ง เพราะทุกการแทรกแซงของ ธปท.เพื่อให้บาทอ่อน ก็คือ การซื้อดอลลาร์ทั้งแบบทันที และแบบล่วงหน้า ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีอะไรได้มาฟรี “มีต้นทุนที่ต้องแบกรับ” ยิ่งแทรกแซงมากเท่าไร ธปท.ก็ต้องรับต้นทุนความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนฯ เพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การแทงกั๊กของ ธปท.อาจจะเสียเปล่า หากปล่อยค่าเงินบาทในขณะนี้แข็งค่ามากเกินไป จนกระทบต่อการส่งออก การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในภาพรวมมากกว่าที่สามารถทนรับได้ ซึ่ง ณ จุดนี้ ธปท.คงจะต้องชั่งน้ำหนักให้ดี และจะนิ่งเฉยต่อไปไม่ได้เช่นกัน

จุดที่สำคัญและอยากฝากให้ตามกันคือ ในการดูแลค่าเงินของ ธปท. จะต้องจับตาการเคลื่อนไหวที่ผันผวนของค่าเงินบาทในเวลานี้ เป็นไปตามปกติหรือไม่ เริ่มเห็นการไหลเข้าออกของเงิน หรือ การเก็งกำไรค่าเงินที่ผิดปกติแล้วหรือยัง รวมทั้ง การไหลเข้ามาเก็งกำไรในตลาดอื่นๆ เช่น ตลาดพันธบัตร และการเข้ามากินดอกเบี้ยในไทย หลังจากที่ยังไม่มีสัญญาณการลดดอกเบี้ยนโยบายที่ชัดเจนจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

ท้ายที่สุด ในฝั่งผู้ส่งออกและนำเข้า โดยเฉพาะรายกลาง รายเล็ก ท่ามกลางความผันผวนของตลาดการเงินโลก และค่าเงินบาทที่ยังสูงขึ้นต่อเนื่องตลอดทั้งปีนี้ และปีหน้า ค่าเงินที่แข็งในขณะนี้ เมื่อวันที่เรารับเงินจริงจากการขายสินค้าอาจแข็งขึ้น หรืออ่อนลงก็ได้ไม่มีใครรู้ “การซื้อการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน” เป็นเซฟโซน ที่ปลอดภัยมากที่สุด เพราะจากการสอบถามผู้ส่งออกวันนี้ คนที่ซื้อป้องกันความเสี่ยง เจ็บตัวน้อยที่สุด” จริงๆ

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney เพื่อให้คุณ "การเงินดีชีวิตดี" ได้ที่ 
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

ประอร นพคุณ

ประอร นพคุณ
ข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ