วิมานหนาม และโอกาสสมรสเท่าเทียม

Experts pool

Columnist

Tag

วิมานหนาม และโอกาสสมรสเท่าเทียม

Date Time: 30 ส.ค. 2567 17:52 น.

Video

คนไทยจ่ายภาษีน้อย มนุษย์เงินเดือนรับจบ ปัญหาอยู่ที่ระบบหรือคนกันแน่ ? | Money Issue

Summary

  • จาก “วิมานหนาม” ภาพยนตร์ที่กำลังมาแรงและเป็นกระบอกเสียงให้ผู้คนหันกลับมามองถึงการเรียกร้องสิทธิของคู่รักเพศเดียวกัน มาถึงเรื่องราวในโลกความเป็นจริง ซึ่งอีกไม่นานประเทศไทยจะไม่มีปัญหาเช่นนี้เกิดขึ้น เพราะกฎหมายสมรสเท่าเทียมหรือ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่..) พ.ศ.. ได้ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาไปเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2567 จะทำให้ไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียน ที่เปิดกว้างให้คู่รักเพศหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) สามารถสมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

Latest


“วิมานหนาม” ภาพยนตร์ที่กำลังมาแรงและเป็นกระบอกเสียงให้ผู้คนหันกลับมามองถึงการเรียกร้องสิทธิของคู่รักเพศเดียวกัน ของบอส นฤเบศ กูโน ผู้กำกับ “แปลรักฉันด้วยใจเธอ” นำแสดงโดย เจฟ ซาเตอร์ และ อิงฟ้า วราหะ

ปัญหาการถูกแย่งชิงสวนทุเรียนของคู่รักเพศเดียวกันที่อุตสาหะมาด้วยกัน แต่เมื่อ “พี่เสก” คนรักของ “ทองคำ” เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ทำให้กรรมสิทธิ์เหนือที่ดินและสวนทุเรียนต้องถูกแย่งชิงไป

เป็นเรื่องราวของความไม่เท่าเทียมทางเพศ ที่ “ทองคำ” ไม่สามารถใช้สิทธิต่างๆ ที่ควรจะมีได้ เพราะในภาพยนตร์เรื่องนี้ กฎหมายสมรสเท่าเทียมยังไม่มีผลบังคับใช้

มาถึงเรื่องราวในโลกความเป็นจริง อีกไม่นานประเทศไทยจะไม่มีปัญหาเช่นนี้เกิดขึ้น เพราะกฎหมายสมรสเท่าเทียมหรือ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่..) พ.ศ.. ได้ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาไปเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2567

ทำให้ไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียน ที่เปิดกว้างให้คู่รักเพศหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) สามารถสมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เป็นการลดช่องว่างของความเสมอภาคและการเลือกปฏิบัติทางเพศ โดย พ.ร.บ. ฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 120 วัน นับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ออกบทความเรื่อง “เตรียมพร้อมอย่างไรเพื่อรองรับการสมรสเท่าเทียม” สรุปเรื่องราวของสิทธิที่คู่สมรสเพศหลากหลายจะได้รับตามกฎหมาย อาทิ สิทธิในการตั้งครอบครัว สิทธิในการรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน สิทธิทางทรัพย์สินและมรดก สิทธิในการดูแลระหว่างคู่ชีวิต

นอกเหนือจากนั้นได้นำเสนอประเด็นว่ากฎหมายสมรสเท่าเทียม ยังมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการสมรสของคู่รักเพศหลากหลายโดยยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนจะย้อนกลับมาประเทศไทย

ในสหรัฐฯ มีผลการศึกษาของสถาบันวิจัย The William Institute พบว่า ภายหลังที่ได้มีการบังคับใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมทั่วประเทศในปี 2558-2562 สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ถึง 3,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 133,000 ล้านบาท รวมทั้งช่วยสร้างการจ้างงานในธุรกิจที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นถึง 45,000 ราย

ประโยชน์ของเศรษฐกิจส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจาก 75% ของกลุ่ม LGBTQ+ เป็นกลุ่มประชากรที่มีรายได้สูงและไม่มีลูก หรือ “Double Income, No Kid” (DINK) ทำให้เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้หลักหักภาษี และรายได้หลักหักค่าใช้จ่ายพื้นฐานอยู่ในระดับสูงกว่าประชากรทั่วไป รวมทั้งพฤติกรรมการใช้จ่ายของครอบครัวกลุ่มนี้ในสหรัฐฯ มีการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคสูงกว่าครัวเรือนทั่วไป

กลับมาที่ประเทศไทย จากข้อมูลของบริษัทวิจัย Ipsos ในปี 2566 คาดว่า ไทยอาจมีประชากร LGBTQ+ วัยผู้ใหญ่ประมาณ 9% ของประชากรหรือคิดเป็นจำนวนกว่า 4.4 ล้านคน หากในจำนวนนี้มีการสมรสในอัตราเดียวกับการจดทะเบียนสมรสระหว่างชายหญิง อาจทำให้ในแต่ละปีมีการจัดงานแต่งงานเพิ่มขึ้น 12,000 งาน อาจสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ถึงปีละ 1,700 ล้านบาท เป็นโอกาสในการเติบโตของหลายธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการจัดงานแต่ง เช่น ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจสตูดิโอถ่ายภาพ ธุรกิจซื้อเช่าชุดแต่งงาน ธุรกิจบริการรับจัดงานแต่งงาน

กฎหมายสมรสเท่าเทียมยังเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อและการเป็นเจ้าของทรัพย์สิน โดยคู่สมรสสามารถใช้สิทธิในการกู้ร่วมเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ได้ โดยมีข้อมูลของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ พบว่า ในจำนวนผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัย 4.9% เป็นกลุ่ม LGBTQ+

การเตรียมความพร้อมทางธุรกิจเพื่อรองรับคนกลุ่มนี้จึงมีความสำคัญและเป็นโอกาส เพราะยังมีธุรกิจด้านสินค้าและบริการที่จะได้ประโยชน์ร่วมด้วย เนื่องจากครอบครัว LGBTQ+ มีการใช้จ่ายค่อนข้างสูง ภาคธุรกิจจึงควรศึกษาพฤติกรรมการบริโภคและความต้องการของกลุ่ม เพื่อเตรียมความพร้อมกลยุทธ์ทางการตลาดให้สามารถตอบโจทย์กลุ่มนี้ได้มากขึ้น

นอกจากนี้ ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มได้ประโยชน์ จากการที่ไทยอนุญาตให้คู่รัก LGBTQ+ สมรสได้ถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มนี้ได้มากขึ้น รวมทั้งอาจส่งเสริมให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ เช่น คลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย ที่ตรวจและให้คำปรึกษาแบบครบวงจร ทั้งด้านสุขภาพร่างกาย จิตใจ และครอบครัว

ที่มองข้ามไม่ได้ คือ การเตรียมพร้อมงบประมาณเพื่อรองรับการได้รับสวัสดิการที่เพิ่มขึ้น เพราะคู่สมรสของกลุ่มเพศหลากหลายที่เป็นข้าราชการย่อมมีสิทธิได้รับสวัสดิการจากภาครัฐเช่นกัน ดูการใช้งบด้านการรักษาพยาบาลในปี 2564 มีทั้งสิ้น 3.25 ล้านคน ในจำนวนนี้ 51% เป็นคนในครอบครัว และใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 79,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกันคู่สมรสเพศหลากหลายยังมีโอกาสการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี อาจทำให้การจัดเก็บภาษีของรัฐลดลง การบริหารจัดการภาครัฐจึงต้องคำนึงถึงการเบิกจ่ายที่เพิ่มมากขึ้นและการลดลงของรายได้ภาครัฐด้วย

ทั้งหมดนี้จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ต้องเตรียมพร้อม เพื่อให้การสมรสเท่าเทียม ไม่เป็น “วิมานหนาม” และต้องทำให้เป็นโอกาสใหม่ของชีวิต เศรษฐกิจ สังคม

ติดตามข่าวสารอัปเดต อ่านการตลาด และธุรกิจ กับ Thairath Money ที่จะทำให้ "การเงินดีชีวิตดี" ล่าสุด ได้ที่นี่ https://www.thairath.co.th/money/business_marketing

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

อมรรัตน์ จรูญสมิทธิ์

อมรรัตน์ จรูญสมิทธิ์
ข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ