บรรษัทภิบาลไทย จะไปไกลกว่ากระดาษได้อย่างไร

Experts pool

Columnist

Tag

บรรษัทภิบาลไทย จะไปไกลกว่ากระดาษได้อย่างไร

Date Time: 24 ส.ค. 2567 10:00 น.

Video

“The Summer Coffee Company” มากกว่า เครื่องดื่ม คือ ความสุข | Brand Story Exclusive EP.3

Summary

  • การผลักดันบรรษัทภิบาลให้เกิดขึ้นจริงๆ ไม่ใช่อยู่แต่ในหน้ากระดาษ หรือโล่รางวัลบรรษัทภิบาล ก็ต้องอาศัยการออกแรงของผู้ถือหุ้นที่ไม่ใช่รายใหญ่ ทำตัวเป็น “ผู้ถือหุ้นนักเคลื่อนไหว” (shareholder activist) ไม่ใช่รอแค่มาตรการของ ก.ล.ต และ ตลท. อย่างเดียว

Latest


ตอนที่แล้วผู้เขียนเทียบ CG Reporting มาตรฐานบรรษัทภิบาลที่ใช้กันแพร่หลายที่สุดในไทย กับ ASEAN CG Scorecard มาตรฐานบรรษัทภิบาลระดับอาเซียน เพื่อดูว่า CG Reporting จะพัฒนาให้ตามทันมาตรฐานอาเซียน (ซึ่งก็พัฒนาอย่างต่อเนื่องตามมาตรฐานธรรมาภิบาลของ G20/OECD) ได้อย่างไรบ้าง

ผู้เขียนเห็นว่า หลายข้อที่ ASEAN CG Scorecard 2024 ใช้ในการประเมิน แต่ CG Reporting ยังไม่มี น่าจะช่วยปรับปรุงระดับบรรษัทภิบาลของบริษัทจดทะเบียนในไทย ลดความเสี่ยงที่จะเกิดกรณีทุจริตที่ทำให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยเสียหายมหาศาลอย่าง STARK หรือ EARTH – โดยเฉพาะถ้าหากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพิ่มหัวข้อเหล่านี้ลงในหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี (CG Code) และเพิ่มมาตรการติดตามตรวจสอบอย่างต่อเนื่องว่า บริษัทจดทะเบียนมีการปฏิบัติตามหลักการชุดนี้จริงหรือไม่ เพียงใด

ส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อยและผู้ถือหุ้นสถาบัน ก็ควรมีบทบาทมากขึ้นเช่นกันในการติดตามตรวจสอบการทำงานของบริษัท และหยิบยกประเด็นขึ้นมาหารือกับบริษัททันทีที่พบเห็นความผิดปกติ โดยไม่ต้องรอยกมือถามในที่ประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี เช่น การแต่งตั้งกรรมการอิสระที่ดูไม่มีความรู้ความสามารถใดๆ ที่จะช่วยบริษัทได้ ดูเหมือนเป็นการแต่งตั้งแบบ “ต่างตอบแทน” ของผู้ถือหุ้นรายใหญ่เสียมากกว่า 

หลักบรรษัทภิบาลข้อหลักๆ ตามมาตรฐานอาเซียนและ G20/OECD ที่ผู้เขียนเห็นว่า ก.ล.ต. ควรบรรจุเพิ่มเติมใน CG Code และเปิดเผยผลการตรวจสอบบริษัทจดทะเบียนตาม CG Code ต่อสาธารณะ (อาจทำผ่านความร่วมมือกับสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (Thai Institute of Directors: IOD) และสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย) มีดังต่อไปนี้ 

1. ไม่มีการจ่ายค่าตอบแทนกรรมการอิสระในรูปแบบอื่นใดนอกเหนือจากเบี้ยประชุม เช่น เงินโบนัส ออปชันหุ้น หรือผลตอบแทนประเภทอื่นที่ผูกโยงกับผลประกอบการของบริษัท 

ทั้งนี้ เนื่องจากกรรมการอิสระโดยตำแหน่งเป็นคนนอก ไม่ได้เป็นพนักงานประจำ หรือผู้บริหารบริษัท ดังนั้นถ้าหากกรรมการอิสระได้รับผลตอบแทนชนิดเดียวกันเป๊ะกับกรรมการที่เป็นผู้บริหาร (กรรมการ “คนใน”) ก็อาจสร้างแรงจูงใจผิดๆ ให้ทำหน้าที่อย่างเป็นอิสระน้อยลง มีแนวโน้มที่จะคล้อยตามกรรมการ “คนใน” และฝ่ายจัดการมากขึ้นในการพิจารณาเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะโครงการที่มีความเสี่ยงสูง แทนที่จะเป็นตัวของตัวเองและเน้นการกำกับฝ่ายจัดการ เพราะส่วนตัวมีโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนสูงขึ้น (แลกกับความเสี่ยงที่สูงขึ้น) 

2. กรรมการบริษัทควรแจ้งเหตุผลที่ชัดเจนในการลาออก หากลาออกก่อนครบวาระ 

เนื่องจากกรรมการ โดยเฉพาะกรรมการอิสระ มีบทบาทสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการกำกับดูแลบริษัท นับเป็น “ปราการด่านสุดท้าย” ก่อนที่เรื่องอื้อฉาวจะออกสู่สายตาคนนอก (ซึ่งกว่าจะถึงตอนนั้น ผู้ถือหุ้นก็มักเสียหายไปแล้วเพราะนั่นมักหมายถึงคดีความ การสอบสวนของทางการ และราคาหุ้นดิ่งเหวตามมา) แต่อย่างที่เราๆ รู้กันอยู่ว่า กรรมการอิสระในไทยมักไม่ค่อยเป็นอิสระเท่าไรนัก หลายคนมักเป็นญาติพี่น้องหรือมิตรสหายของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ คนที่ไม่ใช่ก็ยากยิ่งที่จะทำงานอย่างเป็นอิสระ ทำงานอย่างสุจริตได้สักพักสุดท้ายก็อาจถูกบีบให้ลาออกอย่างเงียบๆ โดยไม่ “ทิ้งทวน” ด้วยการแฉความแย่ของบริษัทไว้เป็นอนุสรณ์

เนื่องจากการแต่งตั้งกรรมการ (มารับค่าตอบแทนงามๆ) มักถูกใช้เป็นวิธี “ตกรางวัล” หรือ “ต่างตอบแทน” ของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือถ้าเป็นรัฐวิสาหกิจ หรือบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจ ก็เป็นวิธี “ตกรางวัล” ของนักการเมืองในอำนาจ เหตุการณ์ที่จู่ๆ บริษัทจดทะเบียนมีกรรมการลาออกก่อนครบวาระ โดยเฉพาะกรณีที่ลาออกพร้อมกันมากกว่า 1 คน แล้วจากนั้นไม่กี่วันคณะกรรมการบริษัทลงมติแต่งตั้งกรรมการคนใหม่มาแทนที่ทันที จึงเป็นเหตุการณ์ที่อาจบ่งชี้ว่า ผู้ถือหุ้นรายใหญ่หรือนักการเมืองในอำนาจอาจกำลัง “ตกรางวัล” หรือ “ต่างตอบแทน” คนของตัวเอง ซึ่งก็แปลว่ากรรมการรายใหม่อาจไม่ได้มาเพื่อ “ทำหน้าที่” กรรมการบริษัทอย่างที่ควรทำ

ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนเห็นว่า ก.ล.ต. ควรเพิ่มใน CG Code อย่างชัดเจนว่า กรรมการทุกคนที่ลาออกก่อนครบวาระ ควรระบุเหตุผลที่ชัดเจนในการลาออก เพื่อสนับสนุนให้กรรมการบริษัทจดทะเบียนมีความกล้ามากขึ้นที่จะประกาศต่อสาธารณะ หากถูกบีบให้ลาออกก่อนกำหนด เพียงเพื่อเปิดทางให้ผู้ถือหุ้นรายใหญ่หรือนักการเมืองในอำนาจส่งคนของตัวเองมารับผลตอบแทนโดยไม่คาดหวังให้ทำหน้าที่

ตัวอย่างที่น่าสนใจ ณ วันที่ผู้เขียนเขียนบทความนี้ (สิงหาคม 2567) คือ กรณีบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC, ปตท. ถือหุ้น 45%) แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ถึงการลาออกของกรรมการ 2 คนพร้อมกัน (ไม่ระบุเหตุผล) หลังจากนั้น 1 สัปดาห์ ส่งสารสนเทศอีกฉบับแจ้ง ตลท. วันที่ 21 สิงหาคม ว่ากรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารก็ลาออกด้วย ในวันเดียวกันนั้นเองที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติแต่งตั้งกรรมการทดแทนตำแหน่งที่ว่าง และกรรมการที่ลาออก รวดเดียว 5 คน 

ในบรรดากรรมการใหม่ 5 คน ของ IRPC สองคนที่น่าสนใจคือ 

  • พล.ต.ท.นพ.โสภณรัชต์ สิงหจารุ ได้รับแต่งตั้งเป็น กรรมการอิสระ และกรรมการตรวจสอบ โดย พล.ต.ท.นพ.โสภณรัชต์ โด่งดังในหน้าสื่อในฐานะ “แพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ” ที่คอยอธิบาย และแถลงเรื่องอาการป่วยของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ที่ย้ายจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์มารักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ นานถึง 6 เดือน ต่อสื่อเป็นระยะๆ 
  • นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ได้รับแต่งตั้งเป็น กรรมการอิสระ และกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดีและความยั่งยืน ของบริษัท นายเสกสกลโด่งดังในสมญา “แรมโบ้อีสาน” และผู้ประพันธ์เพลง “กตัญญูทักษิณ” จากนั้นกลายเป็น “องครักษ์ลุงตู่” ผู้ก่อตั้งพรรครวมไทยสร้างชาติ ก่อนที่ล่าสุดจะลาออกจากพรรคในเดือนตุลาคม 2566

ผู้เขียนเห็นว่า ผู้ถือหุ้นของ IRPC ทั้งนักลงทุนสถาบัน และนักลงทุนรายย่อย ที่ข้องใจว่า พล.ต.ท.นพ.โสภณรัชต์ และนายเสกสกล อาจได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการอิสระเพราะมีความสนิทสนมกับนักการเมืองในอำนาจ มากกว่าความรู้ความสามารถที่จะทำหน้าที่กรรมการอิสระได้ ควรสอบถามคณะกรรมการ IRPC โดยตรง ไม่ต้องรอไปยกมือถามในที่ประชุมผู้ถือหุ้นประจำปีของ IRPC แต่อย่างใด

ทั้งนี้ เนื่องจากบริษัทจดทะเบียนที่จริงใจกับหลักบรรษัทภิบาล ย่อมมีช่องทางหารือพูดคุยและรับเรื่องร้องเรียนจากผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มอื่นๆ อยู่แล้ว 

และการผลักดันบรรษัทภิบาลให้เกิดขึ้นจริงๆ ไม่ใช่อยู่แต่ในหน้ากระดาษ หรือโล่รางวัลบรรษัทภิบาล ก็ต้องอาศัยการออกแรงของผู้ถือหุ้นที่ไม่ใช่รายใหญ่ ทำตัวเป็น “ผู้ถือหุ้นนักเคลื่อนไหว” (shareholder activist) ไม่ใช่รอแค่มาตรการของ ก.ล.ต และ ตลท. อย่างเดียว

(หมายเหตุว่า การถอดถอนกรรมการบริษัทมหาชนก่อนครบวาระ จะต้องได้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนผู้ถือหุ้นที่เข้าประชุมและมีสิทธิออกเสียงและนับเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้ถือหุ้นที่เข้าประชุมและมีสิทธิออกเสียง) 

3. กำหนดให้มีนโยบายเรียกเงินทำโทษ (malus) และเรียกคืนค่าตอบแทน (clawback policy) จากกรรมการบริษัทและผู้บริหาร 

การทุจริต หรือฉ้อโกงผู้ถือหุ้นครั้งมโหฬาร มักเกิดจาก “คนใน” ที่รู้เห็นเป็นใจหรือเป็นคนออกแบบกลโกงตั้งแต่ต้น เมื่อเริ่มรู้แกวว่าอาจถูกจับได้ก็ชิงลาออก ด้วยเหตุนี้ นโยบายเรียกเก็บเงินทำโทษ (malus) เรียกคืนค่าตอบแทน (clawback policy) จึงเป็นเครื่องมือสำคัญของกลไกบรรษัทภิบาลสมัยใหม่ แต่ในไทยยังแทบไม่เห็น (ดูเพิ่มเติมในมาตรฐาน ICGN Global Governance Principles 2021)

เงื่อนไขการเก็บเงินทำโทษและเรียกคืนค่าตอบแทน ควรระบุให้ชัดเจนว่าหมายถึงกรณีที่สร้างผลกระทบต่อบริษัทหรือผู้ถือหุ้น เช่น มีการพบภายหลังว่า กรรมการหรือผู้บริหารระดับสูงบางรายละเมิดจรรยาบรรณอย่างร้ายแรง หรืองบการเงินของบริษัทมีการปกปิดหรือบิดเบือนสาระสำคัญ ทั้งนี้ เนื่องจากกรรมการบริษัทเป็นผู้อนุมัติงบการเงิน จึงควรต้องมีส่วนรับผิดชอบหากเกิดการปกปิดหรือบิดเบือนสาระสำคัญในงบการเงิน การกำหนดเงื่อนไขเรียกคืนค่าตอบแทนจึงควรสร้างแรงจูงใจให้กรรมการบริษัท โดยเฉพาะกรรมการตรวจสอบ ใช้ความระมัดระวังรอบคอบมากขึ้นในการตรวจทาน และอนุมัติงบการเงิน

4. คณะกรรมการบริษัทควรแต่งตั้ง “หัวหน้ากรรมการอิสระ” (lead independent director: LID)

ข้อนี้มาจากข้อ 2.4 ในมาตรฐาน ICGN Global Governance Principles 2021 ซึ่งผู้เขียนชอบมากและคิดว่าควรนำมาใช้ในไทย โดย ICGN เสนอว่า “หัวหน้ากรรมการอิสระ” ควรได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นกิจจะลักษณะ เพื่อเป็นตัวกลางและช่องทางตรงในการหารือและสื่อสาร สำหรับผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ ในประเด็นที่อาจเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนกับประธานกรรมการบริษัท 

หัวหน้ากรรมการอิสระในที่นี้ ถ้าเป็นประธานกรรมการตรวจสอบก็น่าจะเหมาะสม แต่นั่นหมายความว่าบริษัทต้องมอบทรัพยากรที่เพียงพอให้ประธานกรรมการตรวจสอบ “สามารถ” รับเรื่องร้องเรียนและหารือทางตรงกับผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มอื่นๆ ได้

5. ประธานกรรมการบริษัทควรมีการประชุมอย่างสม่ำเสมอร่วมกับกรรมการอิสระเท่านั้น และกรรมการอิสระควรมีการประชุมกันเองอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อประเมินการทำงานของประธานกรรมการบริษัท

ข้อนี้เป็นอีกข้อที่ผู้เขียนชอบมากในมาตรฐาน ICGN Global Governance Principles 2021 โดยข้อ 2.7 เสนอว่า ประธานกรรมการบริษัทควรจัดการประชุมอย่างสม่ำเสมอกับเฉพาะกรรมการอิสระเท่านั้น โดยไม่ให้กรรมการที่เป็นผู้บริหาร (executive directors) เข้าร่วมด้วย เพื่อจะได้รับฟังเสียงสะท้อนจากกรรมการอิสระอย่างเต็มที่ (เพราะถ้าหากกรรมการที่เป็นผู้บริหารอยู่ด้วย กรรมการอิสระอาจเกรงใจ สะท้อนได้ไม่เต็มที่) รวมถึงกรรมการอิสระทั้งหลายก็ควรจะประชุมกันโดยไม่มีประธานกรรมการบริษัทอยู่ด้วยอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง นำโดย “หัวหน้ากรรมการอิสระ” เพื่อประเมินการทำงานของประธานกรรมการอย่างตรงไปตรงมา

6. บริษัทจดทะเบียนควรเปิดเผยรายชื่อ “ที่ปรึกษา” ที่เคยดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตำแหน่งในกระบวนการยุติธรรม หรือทำงานในหน่วยงานของรัฐ ไม่เกิน 2 ปี หรือกำลังอยู่ในตำแหน่งเหล่านี้ ทุกรายที่ได้รับค่าตอบแทน

ข้อนี้ไม่ได้มาจากมาตรฐานสากลใดๆ แต่มาจากข้อสังเกตของผู้เขียนว่า บริษัทจดทะเบียนหลายแห่งมีการว่าจ้างอดีตข้าราชการระดับสูง อดีตตุลาการระดับสูง หรือแม้แต่ข้าราชการที่ยังรับราชการอยู่ จำนวนนับสิบหรือหลายสิบคน มาเป็น “ที่ปรึกษา” คณะกรรมการบริษัท ที่ปรึกษาเหล่านี้มักได้รับค่าตอบแทนรายเดือนในอัตราสูง และอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับตำแหน่งหน้าที่ในภาครัฐ หรือเป็นส่วนสำคัญที่เอื้ออำนวยให้ “ระบอบอุปถัมภ์” ระหว่างภาคเอกชนกับภาครัฐ การแจก “สวัสดิการบรรษัท” โดยไม่สมควรจากภาครัฐ ดำรงต่อไปในสังคมไทย

ด้วยเหตุนี้ CG Code และ CG Rating ควรสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยรายชื่อ “ที่ปรึกษา” ทุกคนที่ได้รับค่าตอบแทนจากบริษัท และกำลังดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตำแหน่งในกระบวนการยุติธรรม หรือทำงานในหน่วยงานของรัฐ หรือเคยทำงานเหล่านี้มาไม่เกิน 2 ปี ก่อนได้รับค่าตอบแทนจากบริษัท

และการเปิดเผยรายชื่อที่ปรึกษาดังกล่าว หรือไม่ก็ต้องเปิดเผยว่า “บริษัทไม่มีการว่าจ้างที่ปรึกษาใดๆ ที่เข้าข่ายนี้”  ก็ควรเป็นเงื่อนไขข้อหนึ่งในการได้ “5 ดาว” จากโครงการ CG Rating 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

สฤณี อาชวานันทกุล

สฤณี อาชวานันทกุล
นักเขียน นักแปล และนักวิชาการอิสระด้านการเงิน มีความสุขกับการทำงานในประเด็น ธุรกิจที่ยั่งยืน พลังพลเมือง และเกม