เมื่อวันที่ 5 ส.ค. ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นสหรัฐฯ และทั่วโลกเผชิญเหตุการณ์ Black Monday โดยหุ้นถูกเทขายทั่วโลกโดยเฉพาะในสหรัฐฯ และญี่ปุ่นที่ตกต่ำกว่า 5-12% ในวันเดียว ขณะที่หุ้นทั่วโลกตกต่ำในระดับ 2-5% ในวันจันทร์ที่ 5 ส.ค.
สถานการณ์เหล่านั้นเป็นผลจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่
(1) นโยบายการเงินที่ผิดพลาด (โดยเฉพาะญี่ปุ่น)
(2) กระแสการเก็งกำไรที่มีมากในช่วงก่อนหน้า
(3) ตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ออกมาต่ำกว่าคาด ทำให้นักลงทุนกังวลว่าอาจนำไปสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยการที่ ธ.กลางญี่ปุ่น (BOJ) ปรับขึ้นดอกเบี้ยไปสู่ 0.25% รวมถึงผู้ว่าการฯ ประกาศว่าพร้อมที่จะขึ้นดอกเบี้ยต่อหากจำเป็น เพื่อดูแลเงินเฟ้อและค่าเงินเยนไม่ให้อ่อนค่าเกินไป ประกอบกับตัวเลขตลาดแรงงานที่ชะลอลง ทำให้ตลาดมองว่า ธ.กลางสหรัฐฯ (Fed) พร้อมจะลดดอกเบี้ยมากกว่าที่เคยคาด ทำให้ตลาดปรับความคาดหวังในทิศทางนโยบายการเงินโลก ท่ามกลางราคาหุ้นที่ปรับขึ้นค่อนข้างสูงในช่วงที่ผ่านมา ทำให้หุ้นสหรัฐฯ หุ้นญี่ปุ่น รวมถึงหุ้นโลกปรับลดลงรุนแรง และทำให้เงินเยนแข็งค่าขึ้นอย่างรุนแรง
หากสถานการณ์ Black Monday ครั้งนี้ เป็นสถานการณ์ด้านการเงินที่เริ่มจากความกังวลด้านเศรษฐกิจ คำถามคือ เศรษฐกิจโลกเสี่ยงจะเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือไม่ ซึ่งอาจพิจารณาจาก 4 มาตรวัดหลัก อันได้แก่ หนึ่ง ตลาดแรงงาน พบว่าอัตราการว่างงานของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น แต่วัฏจักรนี้อาจแตกต่างออกไป เพราะเป็นการคลายตัวของตลาดแรงงานที่ตึงตัวเป็นพิเศษในช่วงสิ้นสุดของการแพร่ระบาดของ Covid-19 ที่ทำให้นายจ้างที่ต้องเผชิญกับภาวะการขาดแคลนแรงงานและความต้องการที่สูงขึ้นมาก สอง อาจวัดได้จากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน แต่ในปัจจุบัน บริษัทต่างๆ ทั่วโลกของประเทศพัฒนาแล้วกำลังไปได้ดี สาม ได้แก่ดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจปัจจุบัน (Concurrent economic indicator) ไม่ว่าจะเป็นดัชนีชี้วัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ซึ่งจัดทำโดย Fed สาขา Dallas ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ในระดับโลก ของ S&P Global หรือดัชนีบ่งชี้กิจกรรมปัจจุบัน (Current activity index) ที่จัดทำโดยสำนักวิจัย Goldman Sachs ก็ตาม ซึ่งทั้งหมดซึ่งโดยรวมยังดีต่อเนื่อง และสี่ ได้แก่อัตราเงินเฟ้อ ซึ่งส่งสัญญาณที่ดีขึ้น โดยมีทิศทางลดลงอย่างต่อเนื่อง และทำให้ธนาคารกลางมีโอกาสที่จะสามารถลดดอกเบี้ยได้มากขึ้น
โดยสรุป เรามองว่า (1) เศรษฐกิจโลกปัจจุบันยังห่างไกลกับสภาวะถดถอย โดยเครื่องชี้ว่าเศรษฐกิจจริงต่างๆ หรือแม้กระทั่ง GDP เองยังอยู่ในโซนที่แข็งแกร่ง (2) ในส่วนของการลงทุน ยังไม่มีการเก็งกำไรที่ใช้สถานะกู้ยืมสูง (Highly Leverage) ที่จะนำไปสู่การปรับสถานะรุนแรง แต่อาจมีนักลงทุนบางส่วนทำธุรกรรม Yen Carry Trade ทำให้ต้องปรับสถานะ แต่ปัจจุบันก็มีการปรับสถานะไปแล้วส่วนหนึ่ง (3) ในปัจจุบันไม่มีความเสี่ยงสภาพคล่อง (Liquidity Risk) รวมถึงมีความเสี่ยงเชิงระบบ (Systemic Risk) มากเท่าวิกฤติก่อนๆ อย่างไรก็ตาม อาจต้องจับตามูลค่าของหุ้นกลุ่ม AI ที่ขึ้นมามาก อย่างไรก็ตาม การที่ดอกเบี้ยที่อยู่ระดับสูงมายาวนานโดยเฉพาะในสหรัฐฯ อาจนำไปสู่ภาวะผันผวนได้บ้าง ซึ่งการลดดอกเบี้ยของ Fed จะช่วยปรับสมดุลให้กับการลงทุนได้ในระยะต่อไป
แต่แม้ว่าเศรษฐกิจโลกยังคงไปได้ท่ามกลางเงินเฟ้อที่ลดลง ภาวะกู้ยืมเพื่อลงทุนหรือ Leverage มีไม่มากนัก รวมถึงยังไม่มีความเสี่ยงสภาพคล่องหรือความเสี่ยงเชิงระบบ แต่ความผันผวนทางการเงินโลกเริ่มต้นขึ้นแล้ว และมีแต่จะมากขึ้นในอนาคต
ในส่วนของไทยนี้ ตลาดปรับตัวลดลงจากปัจจัยการเมือง หลังจากในวันที่ 14 ส.ค. ศาลรัฐธรรมนูญ (รธน.) มีมติ 5 ต่อ 4 ให้นายเศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดการเป็นนายกรัฐมนตรี ขณะที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องพ้นจากตําแหน่ง แต่ยังให้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่า ครม. ใหม่จะเข้ารับหน้าที่ แต่ทางสภาผู้แทนราษฎรได้เลือก น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป และได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกฯ ในวันที่ 18 ส.ค. ขณะเดียวกัน ก่อนหน้านี้ในวันที่ 7 ส.ค. ศาลรัฐธรรมนูญก็ตัดสินยุบพรรคก้าวไกลและตัดสิทธิกรรมการบริหาร 10 ปี
ความเสี่ยงทางการเมืองที่มากขึ้น แม้ว่าจะคลี่คลายได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็มีผลต่อเศรษฐกิจและการลงทุนเช่นกัน โดยในสัปดาห์ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินให้นายเศรษฐาฯ พ้นตำแหน่งการเป็นนายกฯ ได้มีแรงขายพันธบัตรจากต่างชาติออกถึง 2.4 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม เริ่มมีแรงซื้อกลับหลังสถานการณ์คลี่คลายได้รวดเร็ว
ภาพดังกล่าวมาพร้อมกับการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 2/2024 โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ที่ขยายตัว 2.3% สูงกว่าที่เราคาดที่ 2.1% จากการส่งออกที่ดีขึ้นแต่นำเข้าหดตัว โดยองค์ประกอบที่ขยายตัวมาจาก (1) การบริโภคภาคเอกชน ที่ขยายตัว 4.0% ชะลอจากไตรมาสก่อนที่ 6.9% (2) ปริมาณการส่งออกสุทธิที่ขยายตัว 2.5% จากปริมาณการส่งออกสินค้าเริ่มกลับมาขยายตัว ขณะที่มูลค่าการนำเข้าลดลง ส่วนองค์ประกอบที่หดตัวได้แก่ (1) สินค้าคงคลังที่ลดลงกว่า 6.6 หมื่นล้านบาท และ (2) การลงทุนทั้งภาครัฐ (-4.3%) และเอกชน (-6.8%)
สำหรับคาดการณ์ GDP ปีนี้ สภาพัฒน์คงประมาณการเศรษฐกิจที่ 2.5% โดยปรับลดการลงทุนภาคเอกชน แต่ปรับลดการหดตัวของการลงทุนภาครัฐ โดยมองว่ามีปัจจัยสนับสนุน สี่ประการ คือ 1) การฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว 2) การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการอุปโภคบริโภคในประเทศ 3) การเพิ่มขึ้นของแรงขับเคลื่อนของการใช้จ่ายภาครัฐในช่วงครึ่งปีหลัง และ 4) การกลับมาฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของการส่งออกโลก ขณะที่มีปัจจัยกังวล สามประการ ได้แก่ 1) ภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง และมาตรฐานสินเชื่อที่เข้มงวดเพิ่มขึ้น 2) ผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และ 3) ความผันผวนของเศรษฐกิจการเงินโลก
เราวิเคราะห์ว่ามุมมองทางเศรษฐกิจของสภาพัฒน์ เป็นการมองโลกในแง่ดีในระดับหนึ่ง โดยเรามีข้อกังวล 4 ประเด็น ได้แก่ 1) โมเมนตัมเศรษฐกิจไทยเริ่มชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญ ใน ช่วงครึ่งหลังของไตรมาสสอง ต่อเนื่องเดือน ก.ค. โดยเฉพาะภาคการบริโภคและลงทุน 2) การส่งออกของไทย ได้รับผลกระทบจากความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง รวมถึงการทุ่มตลาดของจีนมากขึ้น 3) การเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ทำให้การบริหารประเทศ และกระบวนการจัดทำงบประมาณสะดุดในระดับหนึ่ง ท่ามกลางการเบิกจ่ายงบลงทุนยังคงไม่กลับไปเท่าช่วงก่อนหน้า และ 4) นโยบายการเงินที่ตึงตัวจากนโยบาย Responsible Lending ของ ธปท. ที่ยังคงเน้น Debt Deleveraging เพื่อลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP
เราจึงปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยลงสู่ 2.3% ต่ำกว่าที่สภาพัฒน์คาดจาก (1) การลงทุนเอกชนตามตัวเลขไตรมาส 2 และครึ่งปีแรก ที่การลงทุนหดตัวแรง จากความกังวลด้านเศรษฐกิจ ทำให้เจ้าของกิจการ-ผู้พัฒนาโครงการอสังหาฯ ไม่ลงทุน (2) การบริโภคเอกชน จากการบริโภคสินค้าคงทนที่หดตัวต่อเนื่อง ทั้งจากรายได้ประชาชนที่ลดลง หนี้ครัวเรือนที่สูง และนโยบายการเงินที่หดตัว (3) การบริโภคและลงทุนภาครัฐ จากการเบิกจ่ายนโยบายการคลังที่ต่ำกว่าคาด โดยเฉพาะงบลงทุน นอกจากนั้น เรายังคงมุมมองว่าการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลจะทำให้เกิดการล่าช้าในกระบวนการจัดทำงบประมาณและการบริหารราชการแผ่นดิน ทำให้การบริโภคภาครัฐชะลอตัวด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยอาจมีโอกาสขยายตัวได้ดีขึ้นในครึ่งปีหลังหาก (1) รัฐบาลใหม่ปรับเปลี่ยนโครงการ Digital Wallet โดยปรับเป็นการแจกเงิน 2 งวด โดยงวดแรกแจกก่อนวันที่ 30 ก.ย. วงเงิน 1.65 แสนล้านบาท และ (2) การลดดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินวันที่ 16 ต.ค. และ 18 ธ.ค. จากเหตุผล 3 ประการ คือ (1) เศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอลงมาก ขณะที่ความเสี่ยงเงินเฟ้อจากการทำนโยบาย Digital Wallet เต็มรูปแบบเริ่มลดลง (2) สินเชื่อรวมที่หดตัวท่ามกลางเศรษฐกิจที่โตต่ำ และ (3) เป็นการช่วยลดทอนการแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งทั้งหมดนี้ อาจช่วยทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาขยายตัวที่ 2.5% ในปีนี้ได้
ด้วยภาพเศรษฐกิจและการเมืองโลกและไทยที่ผันผวนขึ้น ท่ามกลางความหวังการลดดอกเบี้ยของ Fed ที่จะทำให้ Fund flow ไหลเข้าตลาดหุ้นไทยมากขึ้น ทำให้สุญญากาศการเมืองสั้นลง เราจึงแนะนำกลยุทธ์ “Selective Buy” ใน 4 ธีมการลงทุน ดังนี้
1) หุ้นกลุ่ม Earnings Play ที่มีโมเมนตัมกําไรยังดี โดย 3Q67 คาดเติบโต YoY และ QoQ รวมถึง Valuation ไม่แพง เลือก DELTA GULF TU BTG BDMS TRUE BEM
2) นักลงทุนที่รับความเสี่ยงและต้องการสร้างกระแสเงินสดในพอร์ต แนะนําหุ้น ปันผลสําหรับลงทุนระยะสั้นเลือก BCP และ TU
3) หุ้นที่คาดได้อานิสงส์บวกจากปรับเงื่อนไขกองทุน Thai ESG ใหม่ โดยขยาย วงเงินเป็น 3 แสนบาทและลดระยะเวลาถือครองเหลือ 5 ปี ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว เลือก ADVANC AOT BDMS BBL CPALL KTB GULF 4) ราคาน้ำมันดิบ Brent ฟื้นตัวจากความไม่สงบในตะวันออกกลางที่รุนแรงมากขึ้น และยังมีการโจมตีเรือบรรทุกสินค้าในทะเลแดง อีกทั้งโครงสร้างพื้นฐานน้ำมันในรัสเซีย กลับมาเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ควรมีหุ้นน้ำมันสำหรับป้องกันความเสี่ยง (Hedging) ได้ แนะนำ PTTEP
ขอให้นักลงทุนโชคดี