สามความชัดเจนเศรษฐกิจการเมืองโลก

Experts pool

Columnist

Tag

สามความชัดเจนเศรษฐกิจการเมืองโลก

Date Time: 28 ก.ค. 2567 08:00 น.

Video

“The Summer Coffee Company” มากกว่า เครื่องดื่ม คือ ความสุข | Brand Story Exclusive EP.3

Latest


เข้าสู่กลางไตรมาส 3 ภาพเศรษฐกิจและตลาดการเงิน กำลังคลี่คลายลงทีละเปลาะ เราเริ่มเห็นสัญญาณที่เปลี่ยนแปลงสามประการในทิศทางเศรษฐกิจการเมืองโลกในเดือนนี้ หนึ่ง ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีแนวโน้มว่าจะลดดอกเบี้ยลงในไม่ช้า ซึ่งน่าจะเป็นเดือนกันยายน สองอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ น่าจะได้ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายนนี้ และสาม เศรษฐกิจจีนชะลอลงรุนแรงขึ้น และต้องการมาตรการกระตุ้นที่ชัดเจนขึ้นจากภาครัฐ แต่สัญญาณจากภาครัฐคือมุ่งเน้นการเติบโตที่มีคุณภาพมากกว่า


โดยในประเด็นแรก เรื่องโอกาสในการลดดอกเบี้ยของเสร็จ ที่มากขึ้นนั้น เป็นผลจากการที่เศรษฐกิจอเมริกาเริ่มมีทิศทางชะลอลงชัดเจนขึ้น โดยสัญญาณล่าสุดโดยรายงานของ Fed รายสาขา (Fed Beige book) ไตรมาส 3 เริ่มส่งสัญญาณว่ากว่าครึ่งของเศรษฐกิจสหรัฐในรายภูมิภาคเริ่มทรงตัวหรือชะลอลง ขณะที่เงินเฟ้อเริ่มลดลงเนื่องจากประชาชนลดการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยและหันมาใช้จ่ายสินค้าจำเป็นมากขึ้น 


นอกจากนั้นหากพิจารณาในประเด็นเงินเฟ้อก็พบว่าชะลอลงมาชัดเจนมากขึ้น โดยเงินเฟ้อผู้บริโภคทั่วไป (Headline CPI) ลดลงต่อเนื่องกันสามเดือน โดยล่าสุดมาอยู่ที่ 2.97% จาก 3.47% ในเดือน ก.พ. ซึ่งเงินเฟ้อที่ลดลงนี้ เป็นผลทั้งจากเงินเฟ้อฝั่ง Demand side หรือฝั่งความต้องการของผู้บริโภค เช่น ค่าเช่า และค่าจ้าง และฝั่ง Supply side หรือฝั่งต้นทุน เช่น ค่าน้ำมัน ค่าอาหาร ในขณะที่ตลาดแรงงานต้องมีทิศทางที่จะชะลอลงแรงขึ้นโดยอัตราว่างงานเดือนล่าสุด (มิ.ย.) อยู่ที่ 4.1% ของกำลังแรงงานรวม เพิ่มขึ้นเกินกว่าที่เป็นเป้าของ Fed ที่ 4% ภาพเหล่านี้ทำให้ Fed สามารถมั่นใจได้มากขึ้นว่าจะสามารถลดดอกเบี้ยได้ ซึ่งเราคงต้องติดตาม การประชุมของ Fed ภายในปลายเดือนนี้ (30-31 ก.ค.) ที่จะส่งสัญญาณล่าสุดว่าจะเริ่มลดดอกเบี้ยในเดือน ก.ย. ได้หรือไม่


ในส่วนของโอกาสที่ได้อดีตประธานาธิบดีทรัมป์ จะได้รับการเลือกตั้งกลับเข้ามาเป็นประธานาธิบดีครั้งนั้นเป็นไปได้สูงขึ้นมาก โดยคะแนนนิยมทรัมป์เพิ่มขึ้นตั้งแต่หลังการโต้วาทีกับประธานาธิบดีไบเดน 

ในส่วนของเศรษฐกิจจีนนั้น ตัวเลขเศรษฐกิจเศรษฐกิจล่าสุดของ GDP ไตรมาสที่สอง รวมไปถึงตัวเลขรายเดือน เช่น ยอดค้าปลีก การผลิตอุตสาหกรรมและการลงทุนสินทรัพย์ถาวร ชี้ถึงทิศทางที่ชะลอตัว โดย GDP ขยายตัว 4.7% ในไตรมาส 2 จาก 5.3% ในไตรมาส 1 ขณะที่ตัวเลขในเดือน มิ.ย. ชะลอลงเช่นเดียวกัน โดยยอดค้าปลีกขยายตัว 2.0% จาก 3.7% ในเดือนก่อน (โดยยอดขายรถยนต์หดตัวถึง 6.2% แม้มีมาตรการกระตุ้นการซื้อก็ตาม) การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัว 5.3% จาก 5.6% ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทน ขยายตัว 3.9% จาก 4.0% เช่นเดียวกับราคาบ้านในจีนที่ตกต่ำต่อเนื่อง แต่การส่งออกของจีนเดือน มิ.ย. ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง โดยอยู่ที่ 8.6% แต่นำเข้าปรับลดลงที่ -2.3% ทำให้เกินดุลการค้าสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 9.9 หมื่นล้านดอลลาร์

ภาพดังกล่าวบ่งชี้ถึงสามวิกฤติของจีน อันได้แก่ วิกฤติเงินฝืด วิกฤติรายได้ และวิกฤติอสังหาฯ รวมถึงบ่งชี้ว่ามาตรการที่ทางการจีนแก้ไขอยู่ในปัจจุบันอาจไม่ได้ผลเต็มที่ เนื่องจากเป็นการกดค่าแรงให้ต่ำเพื่อสามารถผลิตสินค้าได้ถูกและส่งออกได้ในราคาที่ถูกกว่าประเทศอื่น แต่ปัญหาคือนั้นทำให้รายได้ของผู้ผลิตน้อยและทำให้ประชาชนมีรายได้น้อยจึงชะลอการใช้จ่ายหรือทำให้เศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว ซึ่งทางแก้ก็คือจำเป็นจะต้องเพิ่มค่าจ้างของประชาชนให้มากขึ้นแต่ก็จะทำให้กลยุทธ์ในการกดราคาสินค้าส่งออกไม่เป็นผล ทำให้เรามองภาพว่าจีนคงไม่ได้ทำมาตรการดังกล่าว


และสัญญาณล่าสุดจากการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์วาระที่สาม หรือ Third plenum ก็ส่งสัญญาณดังคาด โดยยังคงมุ่งเน้นที่จะพัฒนาเศรษฐกิจผ่านการใช้การผลิตสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง (Advance manufacturing) เช่น รถยนต์ไฟฟ้า (EV) เซมิคอนดักเตอร์ รวมถึงแบตเตอรี่ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่า การมุ่งเน้นดังกล่าวจะนำไปสู่ความตึงเครียดทางการค้า เห็นได้จากการส่งออกของจีนที่เพิ่มขึ้นได้กระตุ้นให้เกิดรัฐบาลสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปเริ่มเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนอีกครั้ง


ภาพทั้งสามทำให้การลงทุนในสหรัฐน่าสนใจ แต่การลงทุนในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่มูลค่าของหุ้นค่อนข้างแพงแล้ว (High valuation) ทำให้นักลงทุนหันไปลงทุนในหุ้นในตลาดที่ตัวเล็กลง ในขณะเดียวกันเริ่มเห็นสัญญาณของการที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีทิศทางที่อ่อนค่าลง ซึ่งเรามองว่า ค่าเงินดอลลาร์เริ่มมีทิศทางอ่อนค่าลงชัดเจนขึ้นจาก (1) สัญญาณเศรษฐกิจและเงินเฟ้อสหรัฐที่ชะลอลงชัดเจนขึ้น ทำให้ Fed เริ่มส่งสัญญาณเตรียมลดดอกเบี้ย (2) สัญญาณจากอดีต ปธน. ทรัมป์ที่ส่งสัญญาณว่าเงินดอลลาร์แข็งค่าเกินไปและกระทบต่อการส่งออกของสหรัฐฯ โดยเป็นไปได้ว่าในระยะต่อไปดอลลาร์อาจอ่อนค่าลงต่อเนื่องพร้อมกับความชัดผลตอบแทนพันธบัตรที่จะเริ่มกลับมาปกติหลังจากที่ความเป็นไปได้ที่จะลดดอกเบี้ยมีมากขึ้นพร้อมๆ กับโอกาสที่อดีต ปธน. ทรัมป์จะได้กลับเข้ามาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง


เรามองว่าเมื่อสัญญาณของการลดดอกเบี้ยความชัดเจนขึ้นและแนวคิดจากทรัมป์ รวมถึงพรรครีพับบริกกันที่มีการสนับสนุนการลดกฎระเบียบ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจและทำให้เศรษฐกิจอเมริกาจึงสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง การลงทุนในอเมริกาจึงยังน่าสนใจ 


นอกจากนั้นการลดดอกเบี้ยทำให้การลงทุนในประเทศตลาดเกิดใหม่ก็เริ่มมีความน่าสนใจมากขึ้น อย่างไรก็ตามหากพิจารณาทิศทางของจีนที่เริ่มมีทิศทางชะลอลงและการที่ที่จีนเป็นประเทศเศรษฐกิจกำลังพัฒนาที่ใหญ่ การที่จีนยังมีทิศทางชะลอ ก็ทำให้การลงทุนในจีนอาจจะไม่ให้ผลตอบแทนที่ดีเท่าไรนัก 


ในส่วนของยุโรปอาจจะได้รับผลกระทบจากการที่ทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดีแล้วอาจจะใช้มาตรการภาษีในการกลับมาทำให้ดุลการค้ากับยุโรปและกับจีนเกินดุล ซึ่งอาจไม่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจยุโรปและเศรษฐกิจจีนทำให้การลงทุนในทั้งสองประเทศอาจต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น


ในส่วนของหุ้นไทยเรามองว่า ยังมีความท้าทายอยู่อีกหลายประการเช่นหนึ่งถึงแม้ทิศทางทางเศรษฐกิจในภาคใหญ่จะมีทิศทางที่น่าจะดีขึ้นในระยะต่อไป แต่เศรษฐกิจในประเทศที่ค่อนข้างเปราะบาง จากภาคการผลิตที่ชะลอมาอย่างยาวนานรวมไปถึงภาคการท่องเที่ยวที่เป็นฤดูโลว์ซีซั่น ทำให้เสร็จในช่วงไตรมาส 2-3 อาจจะดูไม่ค่อยสดใสนักในภาพใหญ่ นอกจากนั้นความเสี่ยงในเรื่องของการเมืองก็ยังคงดำรงอยู่จนกว่าจะมีความชัดเจนในคดีของนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการบริหารราชการรวมไปถึงการจัดทำงบประมาณปี 2568 ทำให้เรายังคงแนะนำกลยุทธ์ Wait and See แต่หากต้องการลงทุน เราแนะนำว่าควรเลือกหุ้นที่คาดว่ากำไรยังเติบโตได้ หุ้นที่มีพื้นฐานดีและมี ESG Rating สูง รวมถึงหุ้นที่ประกันความเสี่ยงจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ โดยเราแนะนำ MINT BEM OSP TU KCE CPF  HANA TOP BEM MINT OSP BBL SCGP AOT CPALL BDMS BBL GULF PTTEP


ขอให้นักลงทุนโชคดี