รัฐบาลต้องรับฟัง

Experts pool

Columnist

Tag

รัฐบาลต้องรับฟัง

Date Time: 21 มิ.ย. 2567 18:34 น.

Video

ล้วงไส้ TEMU อีคอมเมิร์ซจีน บุกไทย ทำไมอาจสร้างวิบากกรรมกว่าที่คิด ? | Digital Frontiers

Summary

  • แม้รัฐบาลจะมีเสียงข้างมาก จะสามารถยกมือผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ไปได้ และมองไปข้างหน้า ที่กำลังจะมีร่าง พ.ร.บ.รายจ่ายงบประมาณเพิ่มเติมปี 2567 เข้าสภาอีกฉบับ รัฐบาลก็จะอาศัยเสียงข้างมากผ่านสภาไปได้เหมือนกัน แต่ที่รัฐบาลต้องคำนึงคือ ณ วันหนึ่งหากโครงการดิจิทัล วอลเล็ต มีปัญหาขึ้นมา หากมีการฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาล ในการทำผิดกฎหมายใด ก็มีหลักฐานที่ได้มีการทักท้วงแล้ว

Latest


วาทกรรมที่สร้างขึ้นจากพรรคก้าวไกลในการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568  ไม่ว่าจะเป็นวิสัยทัศน์ “Ignite Thailand” กลายเป็น “Ignore Thailand” หรือ “เจ๊งไม่ว่า แต่เสียหน้าไม่ได้” เปรียบเสมือน “ปลายมีดแหลมปักลึกลงไปกลางใจ” ของรัฐบาล

เพราะบริบททั้งหมดสะท้อนกลับไปที่การทำงานของรัฐบาลที่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า ดิ้นทุกวิถีทาง เพื่อทำให้นโยบาย “แจกเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัล วอลเล็ต” ประสบความสำเร็จ จนละเลยการบริหารเศรษฐกิจภาพรวม

แม้ “เผ่าภูมิ โรจนสกุล” และ “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” สอง รมช.คลัง ซึ่งเป็นตัวหลักในการปฏิบัติโครงการนี้จะออกมาแก้ปมประเด็นที่พรรคก้าวไกลอภิปราย แต่เมื่อฟังแล้วก็ยิ่งสะท้อนสิ่งที่ฝ่ายค้านอภิปรายว่ารัฐบาลทำดิจิทัล วอลเล็ต โดยไม่คิดให้เสร็จตั้งแต่แรก เห็นได้จากเนื้อในของการจัดงบประมาณรายจ่ายของปี 2568 และที่กำลังจะเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณเพิ่มเติม ปี 2567 ที่ขอจัดงบเพิ่มอีก 122,000 ล้านบาท ก็เพื่อ “ดิจิทัล วอลเล็ต” จริงๆ

ทั้ง “ชัยธวัช ตุลาธน” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และ “ศิริกัญญา ตันสกุล” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล หัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล ต่างหยิบยกประเด็นออกมากระตุกรัฐบาลให้นั่งไม่ติด

“ชัยธวัช” ฉายภาพ ว่าการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2568 รัฐบาลไม่ได้เอาโจทย์ของประเทศเป็นตัวตั้ง แต่เอาโจทย์ทางการเมืองของรัฐบาลเป็นตัวตั้ง ภาพรวมการจัดงบจึงมีปัญหา เป็นการจัดสรรที่ดูเหมือนจะมียุทธศาสตร์แต่ไม่มียุทธศาสตร์ วิธีการจัดสรรงบประมาณในโครงการต่างๆ มีลักษณะแบบนายสั่งให้ทำ แต่ไม่ได้บอกว่าให้ทำอะไร ข้าราชการก็เอาโครงการเดิมๆ ที่เคยทำมาเปลี่ยนป้ายใหม่

วาระของรัฐบาลที่สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจน มีแค่เรื่องเดียว คือความพยายามผลักดันในระดับที่ดันทุรัง เพื่อทำให้ดิจิทัลวอลเล็ตสำเร็จให้ได้ เรียกได้ว่าดันทุรังแบบ “เจ๊งไม่ว่า เสียหน้าไม่ได้”

“ดิจิทัลวอลเล็ตเป็นนโยบายที่เกิดขึ้นมาอย่างฉาบฉวยเพื่อหาเสียงเฉพาะหน้า โดยไม่ได้คิดให้เสร็จตั้งแต่ต้น จึงเห็นการดำเนินนโยบายแบบคิดไปทำไป กลับไปกลับมา จนวันนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนแน่นอน”

ขณะที่ผลของการพยายามจัดสรรงบประมาณมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เสี่ยงที่จะทำให้เกิดปัญหาทางการคลังทั้งเฉพาะหน้าและในระยะยาว ภาระการจ่ายหนี้ของภาครัฐจะสูงขึ้นในอนาคต ประเทศไทยจะสูญเสียพื้นที่ทางการคลัง หากจำเป็นต้องมีการใช้จ่ายฉุกเฉินหรือการลงทุนภาครัฐขนาดใหญ่ในอนาคตอันใกล้

“ชัยธวัช“ระบุว่า ถ้าอยากเอาโจทย์ของประเทศเป็นตัวตั้งในการจัดสรรงบประมาณจริงๆ ควรจะได้เห็นการจัดสรรงบประมาณแบบเป็นรูปธรรมจับต้องได้ เช่น ต้องมีการจัดสรรเพื่อเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง

ขณะที่ “ศิริกัญญา” ขยี้ซ้ำ ด้วยการเปิด 5 สถิติใหม่ทางการคลังที่มีการทำลายการจัดงบประมาณ รวมถึงข้อกังวลที่มีต่อนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ประกอบด้วย 

1.รัฐบาลใช้เงินมือเติบตั้งเงินกู้ชดเชยขาดดุลงบประมาณต่อจีดีพีสูงที่สุด ปี 2567 ที่ 4.3% และปี 2568 ที่ 4.5% ของจีดีพี

2.สัดส่วนรายจ่ายลงทุนที่สูงที่สุด 24%ในรอบ 17 ปี ที่สัดส่วนรายจ่ายลงทุนสูงขนาดนี้ เพราะมีการไปรวมงบประมาณสำหรับทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเข้าไปด้วย โดยตีความว่างบประมาณที่จะใช้สำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 80% เป็นรายจ่ายลงทุน ทั้งที่ความจริงการใช้จ่ายเพื่อการบริโภค 

3.การจัดงบประมาณชำระคืนเงินต้นสำหรับหนี้สาธารณะ ที่ตั้งเอาไว้ที่ 4% ของงบประมาณ ถือว่าสูงที่สุดในรอบ 20 ปีที่มาที่ไปก็เพื่อโครงการเดียว

4.หนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะเป็นสถิติสูงสุด โดยจะพุ่งสูงไปถึงเกือบ 68% จากเพดาน 70% ซึ่งนี่คือผลของการที่รัฐบาลกู้ชดเชยขาดดุลแบบเต็มเพดานมาสองปีติดกัน เพื่อโครงการเดียวคือดิจิทัลวอลเล็ต

5.สัดส่วนดอกเบี้ยต่อรายได้สูงสุดในรอบ 14 ปี และดูเหมือนจะทำสถิติใหม่ไปเรื่อยๆ ทุกปี ซึ่งจะไปเบียดบังงบประมาณในส่วนอื่นๆ ในปีต่อๆ ไป เงินที่จะใช้ในการพัฒนาประเทศก็จะลดลงไปเรื่อยๆ เพราะจำเป็นต้องมารับภาระดอกเบี้ย

ทั้ง 5 ตัวชี้วัดที่งบประมาณปี 2568 ได้ทำลายสถิติไป “ศิริกัญญา” สรุปว่า ยังอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังทุกประการ แต่ปัญหาคือการไต่กรอบไปหมดทุกตัวแบบนี้ อาจนำไปสู่สภาวะความเสี่ยงที่จะทำให้ประเทศไม่มีความพร้อมเมื่อเกิดวิกฤติขึ้นมาจริงๆ

และทิ้งท้ายว่า “เรื่องนี้ขอฝากข้าราชการประจำทุกคนทั่วประเทศที่ยังซื่อตรงต่อหลักการที่ได้ร่ำเรียนมา หากพบว่ามีความผิดปกติ ขอให้ส่งหนังสือท้วงติงอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรต่อความไม่ชอบมาพากลทั้งด้วยกฎหมายและหลักวิชาการ”

ทั้งหมดนี้ ต้องรับฟัง แม้รัฐบาลจะมีเสียงข้างมาก จะสามารถยกมือผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ไปได้ และมองไปข้างหน้า ที่กำลังจะมีร่าง พ.ร.บ.รายจ่ายงบประมาณเพิ่มเติมปี 2567 เข้าสภาอีกฉบับ รัฐบาลก็จะอาศัยเสียงข้างมากผ่านสภาไปได้เหมือนกัน

แต่ที่รัฐบาลต้องคำนึงคือ ณ วันหนึ่งหากโครงการดิจิทัล วอลเล็ต มีปัญหาขึ้นมา หากมีการฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาล ในการทำผิดกฎหมายใดก็มีหลักฐานที่ได้มีการทักท้วงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นจากผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ให้แจกเงินสำหรับกลุ่มเปราะบางเท่านั้น และผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ที่มีหนังสือท้วงติงว่า งบประมาณเพิ่มเติมของปี 2567 จะต้องใช้ภายในวันที่ 30 ก.ย.2567 เท่านั้น

เกินไปกว่านี้ถือว่าผิดกฎหมาย

ติดตามข่าวสารอัปเดต เศรษฐกิจ เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจในประเทศ บทวิเคราะห์เศรษฐกิจ ล่าสุด ได้ที่นี่

ข่าวเศรษฐกิจ : https://www.thairath.co.th/money/economics

เศรษฐกิจในประเทศ : https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ

เศรษฐกิจโลก : https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

อมรรัตน์ จรูญสมิทธิ์

อมรรัตน์ จรูญสมิทธิ์
ข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ