6 สถานการณ์ที่ต้องจับตาในไตรมาส 3 ปี 2024

Experts pool

Columnist

ดร. ปิยศักดิ์ มานะสันต์

ดร. ปิยศักดิ์ มานะสันต์

Tag

6 สถานการณ์ที่ต้องจับตาในไตรมาส 3 ปี 2024

Date Time: 22 มิ.ย. 2567 07:00 น.

Video

โมเดลธุรกิจ Onlyfans ทำไมถึงมีแต่ได้กับได้ ? บริษัทมั่งคั่ง คนทำก็รวย | Digital Frontiers

Latest


เข้าสู่ไตรมาส 3 พัฒนาการเศรษฐกิจโลกและไทยเริ่มเด่นชัดขึ้น ในภาพใหญ่ เศรษฐกิจโลกเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวอย่างพร้อมเพรียงในหลายจุดมากขึ้น แต่เศรษฐกิจพี่ใหญ่อย่างสหรัฐฯ ที่แม้ยังขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง จนทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ส่งสัญญาณคงดอกเบี้ยสูงยาวนานขึ้น แต่ตัวเลขเศรษฐกิจหลายตัวเริ่มส่งสัญญาณชะลอลงท่ามกลางแรงกดดันเงินเฟ้อที่ลดลง ด้านเศรษฐกิจยุโรปและเอเชียเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวมากขึ้น 


อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกยังคงถูกปกคลุมด้วยความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงความเสี่ยงการเมืองในหลายประเทศ เช่น อินเดีย ที่ตลาดการเงินปรับลดลงหลังจาก นราเรนทรา โมดี (Narendra Modi) นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันไม่สามารถได้เสียงเด็ดขาดในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อต้นเดือน ทำให้ความเป็นไปได้ของมาตรการปฏิรูปเศรษฐกิจของรัฐบาลปัจจุบันยากมากขึ้น หรือจะเป็นในฝรั่งเศส ที่ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครงของฝรั่งเศสประกาศยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ก่อนครบกำหนดถึง 3 ปี ทำให้พันธบัตรฝรั่งเศสถูกเทขาย ส่งผลให้ส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนพันธบัตรฝรั่งเศสกับพันธบัตรเยอรมันที่มองว่าเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยกว้างขึ้นถึง 75 basis point สูงสุดตั้งแต่ปี 2020 ขณะที่ตลาดหุ้นไทย ตกต่ำที่สุดในโลกถึงกว่า 7.7% ในปีนี้ ผลทั้งจากความขัดแย้งของนโยบายการเงินและการคลัง เศรษฐกิจที่โตต่ำที่สุดในภูมิภาค มาตรการภาครัฐที่ไม่ชัดเจน และคดีความทางการเมืองที่ถาโถม


ทั้งนี้ เรามองว่า ในไตรมาส 3 มี 6 สถานการณ์ที่ต้องจับตา ได้แก่ (1) การฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก จะฟื้นตัวพร้อมเพรียงกันหรือไม่ (2) จะเริ่มเข้าสู่ดอกเบี้ยขาลงแล้วหรือไม่อย่างไร (3) เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะชะลอแรงหรือไม่ (4) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจีนจะมีประสิทธิภาพหรือไม่อย่างไร (5) ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์จะรุนแรงมากขึ้นก่อนการเลือกตั้ง ประธานาธิบดีสหรัฐฯ หรือไม่ และ (6) สถานการณ์การเมืองไทยจะเป็นอย่างไร


ในสถานการณ์ที่หนึ่ง ประเด็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกนั้น เราเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวอย่างพร้อมเพรียง (Synchronized recovery) มากขึ้น โดยพัฒนาการการฟื้นตัวจะไล่มาจากเศรษฐกิจขนาดใหญ่ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ไล่มายุโรป และปัจจุบันคือเอเชีย โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) โลกล่าสุดปรับตัวดีขึ้น นำโดยภาคบริการ ขณะที่ภาคการผลิตก็ฟื้นตัวขึ้นเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในเอเชียฟื้นตัวชัดเจนคล้ายในช่วงปี 2016-18 ไม่ว่าจะวัดจาก PMI, MPI หรือดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม และมูลค่าการส่งออกสุทธิ และจากการติดตามของเรา ทุกวัฐจักรจะกินเวลาประมาณ 2 ปี ฉะนั้น จึงเป็นไปได้ว่าภาคการผลิตเอเชียจะฟื้นตัวถึงปลายปีนี้-ต้นปีหน้าเป็นอย่างน้อย ดังนั้น จึงต้องจับตาว่าการฟื้นตัวจะยั่งยืนหรือไม่ 


ในสถานการณ์ที่สอง ในการที่วัฏจักรดอกเบี้ยโลกกำลังเข้าสู่ดอกเบี้ยขาลง โดยในประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เริ่มลดดอกเบี้ยลงทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นแคนาดา สวีเดน และยูโรโซน ต่างเริ่มปรับลดดอกเบี้ยเมื่อเร็วๆ นี้ แต่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) กลับเลื่อนแผนการลดดอกเบี้ยออกไปอีกครั้ง โดยแม้ว่าอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐฯ จะสูงขึ้นสูงกว่าประเทศขนาดใหญ่อื่นๆ (ที่ 5.25-5.50%) และอัตราเงินเฟ้อก็กำลังลดลง (ปัจจุบันอยู่ที่ 3.4% ลงจาก 9.1% ใน 2 ปีก่อน) แต่คณะกรรมการนโยบายการเงินของ Fed ก็คาดว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเพียง 0.25% ในปีนี้


อย่างไรก็ตาม เรามองว่า ในประเด็นที่ FOMC ส่งสัญญาณ Hawkish โดยปรับคาดการณ์ลดดอกเบี้ย (Dot plot) เหลือเพียงครั้งเดียวในปีนี้ และปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อแต่คง GDP และว่างงาน เราเห็นด้วยกับประธาน Fed ที่กล่าวว่า (1) Dot plot คือการคาดการณ์ของแต่ละคณะกรรมการบุคคล ไม่ใช่การส่งสัญญาณดอกเบี้ยของ Fed และ (2) โดยแท้จริงแล้ว เสียงส่วนใหญ่ของคณะกรรมการที่ให้ลด 2 ครั้งมีมากที่สุด (8 ท่าน ใน 19 ท่าน) 


นอกจากนั้น ในสถานการณ์ที่สาม เรามองว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นสถานการณ์ Soft-landing ในปัจจุบัน โดยตลาดแรงงานลดความร้อนแรงลง เงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงมากกว่าที่เราคาดเล็กน้อย (โดยเงินเฟ้อล่าสุดที่ชะลอลงเป็นผลจาก Cost-push inflation ที่ลดลง ขณะที่ Demand-pull inflation ทรงตัว) และ (3) ภาคการผลิตชะลอตัวค่อนข้างแรงและน่ากังวล (พิจารณาจาก ISM ภาคการผลิต) ทำให้เราจึงยังคงการคาดการณ์ว่า Fed จะลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ โดยจะลดในเดือน พ.ย. และ ธ.ค. และต้องจับตาพัฒนาการเศรษฐกิจใกล้ชิด


สถานการณ์ที่สี่ ในภาพรวมของเศรษฐกิจจีน เรามองว่า เศรษฐกิจจีนยังเสี่ยงจากกับดักสภาพคล่อง แต่ตลาดหันมาเน้นเรื่องนโยบายสนับสนุน โดยเฉพาะมาตรการการคลัง ผ่านการที่รัฐบาลเริ่มประกาศขายพันธบัตรระยะยาวอายุ 20-50 ปี มูลค่า 1 ล้านล้านหยวนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยจะขายหมดในเดือน พ.ย. และคาดว่าจะทำให้ GDP เพิ่มขึ้น 1% จากกรณีฐาน นอกจากนั้น การที่ธนาคารกลาง (PBOC) เตรียมตั้งกองทุนมูลค่า 3 แสนล้านหยวน เพื่อซื้อบ้านที่ขายไม่ออก มาทำเป็นบ้านเอื้ออาทร เรามองว่า กองทุนที่จะจัดตั้งโดยธนาคารกลาง (ซึ่งมีขนาดประมาณ 10% ของมูลค่าบ้านคงค้างทั้งประเทศ) จะช่วยรับอุปทานส่วนเกินของตลาดบ้านได้บ้าง


สถานการณ์ที่ห้า เรามองว่า ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์มีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้นก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยเฉพาะประเด็นสงครามเย็นระหว่างชาติตะวันตกกับจีน (หรือที่เรียกว่า China derisking) อันได้แก่ สงครามการค้า สงครามเทคฯ สงครามการเงิน และความเสี่ยงไต้หวัน ซึ่งต้องจับตามากสุดได้แก่สงครามการค้า ที่แม้มาตรการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีน เช่น EV โซลาร์เซลล์ และแบตเตอรี่ รวมถึงสินค้าอื่นๆ ครั้งนี้ จะไม่รุนแรง เนื่องจากวงเงินของสินค้าที่จะขึ้นภาษีอยู่ที่ประมาณ 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งน้อยกว่ากลุ่มสินค้าที่อดีตประธานาธิบดีทรัมป์ได้ประกาศขึ้นกำแพงภาษีในช่วงปี 2018-2020 และยังใช้มาจนถึงปัจจุบัน ที่มีมูลค่ารวม 2.3 แสนล้านดอลลาร์ แต่เราก็มองว่าสงครามเย็นระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะหากทรัมป์ได้เป็น ปธน. สมัยที่ 2 เนื่องจากทรัมป์มีแผนที่จะประกาศภาษีศุลกากร 10% กับทุกประเทศทั่วโลก และจะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจีนทุกชนิด 60%


สถานการณ์ที่หก เรามองว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นในเชิง Momentum โดยตัวเลขเศรษฐกิจไทยล่าสุดส่งสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนขึ้น ภาคอุตฯ ฟื้นตัวครั้งแรกในรอบ 19 เดือน ตามการส่งออกที่ฟื้นตัวขึ้น ส่วนภาคเกษตรฟื้นตามราคา แต่ปริมาณยังหดตัว การลงทุนเริ่มฟื้นตามการนำเข้าเครื่องจักร การบริโภคเริ่มชะลอลง แต่สินค้าคงทนเริ่มฟื้นตัวขึ้น ล่าสุด เราได้พัฒนา INVX Thailand GDP-Now Model และพบว่า 2Q24 GDP (ที่มีข้อมูลจริงเดือน เม.ย.) จะขยายตัวประมาณ 2.3% ใกล้เคียง Macro model เราที่คาดว่าจะอยู่ที่ 2.5%


อย่างไรก็ตาม เรามองว่า ความเสี่ยงเศรษฐกิจจะอยู่กับประเด็นการเมืองเป็นสำคัญ โดยเฉพาะคดีนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ว่าจะสามารถบริหารราชการต่อไปหลังการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ โดยในสถานการณ์ฐาน (Base case) เราวิเคราะห์ว่า ศาลฯ จะตัดสินเป็นคุณกับนายกฯ เศรษฐา จะทำให้กระบวนการบริหารราชการแผ่นดินในปัจจุบันยังดำเนินต่อไปได้ ทำให้เศรษฐกิจจะขยายตัวที่ 2.5% ในปี 2024 และ 3.0% ในปี 2025 ตามลำดับ แต่หากศาลฯ ตัดสินไม่เป็นคุณกับนายกฯ เศรษฐา และนำมาสู่กระบวนการสรรหานายกฯ ใหม่ จะทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจในปีนี้และปีหน้าชะลอตัวลง


ในส่วนคำแนะนำการลงทุน เรามองว่าตลาดหุ้นไทยยังผันผวนและเปราะบาง จากกังวลความเสี่ยงทางการเมืองในประเทศ ทําให้ SET ยังมีโอกาส Underperform ตลาดหุ้นในภูมิภาค กลยุทธ์ลงทุนจึงแนะนํา “Selective Buy” ใน 4 ธีม ดังนี้  1) หุ้น Global Play ที่คาดผลประกอบการมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องและได้ประโยชน์ จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมากกว่าที่จะขึ้นกับการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศที่ไม่แน่นอน เลือก KCE SCGP PTTGC 2) หุ้นที่คาดว่าผลประกอบการในไตรมาสที่ 2 จะยังเติบโตดี อีกทั้ง Valuation ยังไม่แพง นอกจากนี้ยังเป็นหุ้นที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวชนะตลาดได้ เลือก ADVANC MINT TU BTG 

และ OSP 3) หุ้นที่คาดได้อานิสงส์บวกจากการเข้าสู่บรรยากาศแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป (ยูโร 2024) ในช่วงวันที่ 14 มิ.ย.-14 ก.ค. 67 เลือก ADVANC TRUE CPALL MINT TU  4) สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูง แนะนำหุ้นน้ำมันขั้นต้นอย่าง PTTEP


ขอให้นักลงทุนโชคดี

ดร. ปิยศักดิ์ มานะสันต์ 

หัวหน้านักวิจัยเศรษฐกิจ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล. InnovestX บริษัทการเงินการลงทุนในกลุ่ม SCBX

piyasak.manason@scb.co.th