Ultra Fast Fashion กำลังดิสรัปต์ Fast Fashion

Experts pool

Columnist

ธวัชชัย ขจรวานิชไพบูลย์

ธวัชชัย ขจรวานิชไพบูลย์

Tag

Ultra Fast Fashion กำลังดิสรัปต์ Fast Fashion

Date Time: 5 เม.ย. 2567 18:04 น.

Video

แก้เกมหุ้นไทยตกต่ำ ประธานตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดแผนฟื้นความเชื่อมั่น | Money Issue

Summary

  • โลกป่วนหนักกว่าเดิมเมื่อ Ultra Fast Fashion กำลังดิสรัปต์ Fast Fashion เสื้อผ้าขายในไทยเริ่มต้นเพียง 19 บาท

Latest


กระแสไวรัลของทางการฝรั่งเศสเมื่อเร็วๆ นี้กับความคืบหน้ากับการร่างกฎหมายเพื่อต่อต้านธุรกิจ Fast Fashion ที่พยายามกำหนดบทลงโทษการปรับ เพื่อบีบให้ขึ้นราคาจำหน่าย รวมไปถึงการห้ามโฆษณาและการใช้อินฟลูเอนเซอร์ทำการโปรโมตเพื่อชดเชยกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

โดยเฉพาะ Ultra Fast Fashion ถูกระบุว่าเป็นหายนะของระบบนิเวศที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและตกเป็นจำเลยของสังคม โดยเฉพาะองค์กรรณรงค์สิ่งแวดล้อมได้ออกมาต่อต้านกันอย่างหนัก

ในช่วงที่ผ่านมา Fast Fashion เป็นอุตสาหกรรมที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก จากแนวคิดในการนำเสนอแฟชั่นสไตล์ใหม่ๆ และเร่งกระบวนการผลิตเพื่อส่งตรงถึงลูกค้าในตลาดด้วยความรวดเร็วเป็นประวัติการณ์การอุตสาหกรรมแฟชั่นแบบดั้งเดิม

ที่สำคัญมีราคาถูก ถูกใจผู้บริโภคกับลุคใหม่ๆ ได้รับความนิยมทำให้ตลาดเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ตัวอย่างความสำเร็จของแบรนด์ Zara ผู้ค้าปลีกจากสเปนเป็นหนึ่งในผู้ค้าปลีก Fast Fashion รายแรกๆ ในช่วงต้นปี 1990 ที่มีความแหวกแนว แต่ละสัปดาห์ที่จะมีคอลเลกชันเสื้อผ้าใหม่ๆ ออกมาหลายร้อยรายการ หรือ H&M จากสวีเดนที่เป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงในการผลิตเสื้อผ้าที่ทันสมัยในราคาเข้าถึงได้และมีการเปลี่ยนแปลงคอลเลกชันแฟชั่นที่รวดเร็ว

ด้วยความที่รวดเร็วของแฟชั่นทำให้ผู้บริโภคมักจะทิ้งเสื้อผ้าอย่างรวดเร็วตาม ซึ่งมีการรายงานประมาณการว่า ผู้บริโภคที่เห็นว่าเสื้อผ้าราคาถูกนั้นเกือบจะใช้แล้วทิ้งเลยทีเดียว โดยทิ้งเสื้อผ้าเหล่านั้นหลังจากสวมใส่เพียง 7 ครั้งเท่านั้น นั่นหมายถึงความสูญเสียกลายเป็นขยะจำนวนมากสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นอย่างมาก

ผลกระทบการตอบสนองของผู้บริโภคต่อความรวดเร็ว

เมื่อผนวกกับทางด้านผลิตที่ต้องการความรวดเร็วและต้นทุนการผลิตที่ต่ำจึงมีการใช้แรงงานเยาวชน และสภาพแวดล้อมในโรงงานแออัด มาตรฐานแรงงานถูกวิพากษ์วิจารณ์หนัก จนรัฐบาลในประเทศตะวันตกหลายๆ ประเทศพยายามผลักดันกฎหมายออกมาปราบปรามกัน

ทางแบรนด์แฟชั่นทั้งหมดได้ขานรับแสดงความรับผิดชอบในการมีส่วนสร้างผลกระทบให้กับสิ่งแวดล้อมที่มีบรรดาองค์กรต่างๆ ได้เคลื่อนไหวออกมารณรงค์ต่อต้านกัน มีรายงานว่าบริษัทแฟชั่นใหญ่ที่สุด 25 แห่งในยุโรปเกือบทั้งหมดมีผู้บริหารอย่างน้อยหนึ่งคนมีประสบการณ์ด้านกำกับดูแลสิ่งแวดล้อม สังคม และชุดกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน

ตัวอย่างเช่น แบรนด์ Zara ได้แสดงความโปร่งใสในการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายผู้ผลิต การตรวจสอบ และกระบวนการแก้ไข การเพิ่มมูลค่าให้กับผู้บริโภคผ่านการรับรู้ถึงความยั่งยืนมากขึ้น การลดการสูญเสียในการกระบวนการผลิต การใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพ การบริการลูกค้านำเสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้วมาทิ้งที่ถังในร้านเพื่อนำไปรีไซเคิลใหม่

ส่วนแบรนด์ H&M ได้มีการรายงานความคืบหน้าในด้านความรับผิดชอบความยั่งยืน โดยเชื่อว่าความโปร่งใสเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนในอุตสาหกรรมแฟชั่น เช่น การใช้วัสดุที่มีส่วนร่วมของการรีไซเคิล การลดใช้พลาสติก การลดใช้น้ำในกระบวนการผลิต การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการส่งเสริมการใช้เสื้อผ้าให้ยาวนานขึ้น

หรือแม้แต่แบรนด์ญี่ปุ่น Uniqlo เข้าร่วมกับองค์กร Better Cotton Initiative ได้ให้ความรู้ให้กับเกษตรกรที่ปลูกฝ้ายเกี่ยวกับการใช้น้ำและสารเคมีในการเกษตร ส่งเสริมกิจกรรมสู่การจัดการสารเคมีที่ไม่เป็นมิตรในกระบวนการผลิต รวมไปถึงการตอกย้ำมุ่งหวังที่จะสร้างเสื้อผ้าคุณภาพสูงที่มีความยาวอย่างยาวนาน และตั้งเป้ามีส่วนร่วมในการสร้างเศรษฐกิจหนุนเวียน (Circular Economy) มุ่งลดการใช้ทรัพยากร และเพิ่มประสิทธิภาพของทรัพยากรโดยลดการสูญเสีย

ยุคนี้ Fast ยังเร็วไม่พอ ต้องเจอ Ultra Fast

ในยุคที่ไลฟ์สไตล์ของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การดำเนินชีวิตประจำวันอยู่กับโซเชียลมีเดียและโลกออนไลน์ โมเดลธุรกิจของ Fast Fashion ดูเหมือนจะมีความรวดเร็วไม่พอ โมเดลธุรกิจ Ultra Fast Fashion จึงเกิดขึ้นมาและประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วด้วยกรรมวิธีการผลิตที่รวดเร็วกว่า การวางจำหน่ายจะต้องรวดเร็วตาม ที่สำคัญราคาถูกมาก

นับเป็นการตอบสนองต่อเทรนด์แฟชั่นที่เร่งสปีดเปลี่ยนแปลงไปมากและกำลังเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรม Fast Fashion อย่างมาก

โดยเฉพาะแบรนด์ใหญ่ที่จำหน่ายเสื้อผ้าในไทย ราคาขายแค่หลักสิบบาทซื้อได้สบาย ราคาหลักร้อยมีให้เลือกมากมาย มีแคมเปญโปรโมชันต่อเนื่อง โมเดลธุรกิจ Ultra Fast Fashion นำเสนอเทรนด์แฟชั่นที่รวดเร็วกว่า เป็นรายวันหรือรายสัปดาห์ ผลิตจำนวนน้อยตอบสนองต่อเทรนด์ที่เปลี่ยนแปลงได้รวดเร็ว ใช้เทคโนโลยีมาช่วย อาทิ การขายผ่านอีคอมเมิร์ซ การใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติและการออกแบบดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการออกแบบและการผลิต รวมถึงระบบโลจิสติกส์

แบรนด์ Shein จากประเทศจีน นับเป็นผู้ประสบความสำเร็จอันดับหนึ่งของ Ultra Fast Fashion กับกระบวนการผลิตในรูปแบบ Agile ลดขั้นตอนให้สั้นลง ปัจจุบันมีจำหน่ายใน 150 ประเทศ ผู้ติดตามบน Facebook ทั่วโลกถึง 21 ล้านราย โดยในเมืองไทยมีผู้ติดตามกว่า 2.1 ล้านคนเลยทีเดียว เมื่อเข้าไปดูแล้ว ราคาจำหน่ายถูกมากๆ ถึงกับอ้าปากค้างกัน เสื้อบางตัวราคาเพียง 50 บาท และยังมีรายการดีลพิเศษเริ่มต้นที่ 19 บาท

ในช่วงเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 แบรนด์ Shein เติบโตสูงมากเพราะยอดขายมาจากอีคอมเมิร์ซ ท่ามกลางพฤติกรรมของผู้บริโภคหันมาใช้บริการออนไลน์กันมากขึ้น ในปีที่ผ่านมาได้นำแฟชั่นคอลเลกชั่นที่แตกต่างกันมากถึง 1.5 ล้านชิ้น ขึ้นแซงหน้าแบรนด์ Zara ที่มี 40,000 แบบให้เลือก จากผู้ผลิตท้องถิ่นในจีนที่อยู่ในซัพพลายเชนกว่า 5,000 ราย สนับสนุนให้ในปี 2565 มียอดขายถึง 23,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีกำไรถึง 800 ล้านดอลลาร์

ขณะเดียวกันความรวดเร็วยิ่งขึ้นของ Ultra Fast Fashion ยิ่งสร้างความกังวลทางด้านสิ่งแวดล้อมให้อุตสาหกรรมแฟชั่นให้มีความรุนแรงมากขึ้นไปอีก อีกทั้ง แบรนด์ Shein ยังถูกกล่าวหาว่าใช้โรงงานที่มีแรงงานจากผู้ผลิตเสื้อผ้าที่ได้รับค่าจ้างต่ำและทำงานหนักเกินไป และก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง

ถูกโจมตีว่าการรีไซเคิล ไม่ได้ช่วยรักษ์โลก

แบรนด์ Shein และ Temu ตกเป็นเป้าหมายของการผลักดันกฎหมายการต่อต้านของรัฐบาลฝรั่งเศส รวมถึงประเทศต่างๆ ในโลกตะวันตกที่พยายามออกกฎหมายและการเข้าไปตรวจสอบทั้งในเรื่องของความโปร่งใส ปริมาณขยะทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น วิธีการขายสินค้าในราคาต่ำมากๆ ไม่เพียงเท่านั้นแบรนด์ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจ Fast Fashion ก็ยังถูกตรวจสอบด้วยเช่นกัน

หลายๆ บริษัทในธุรกิจ Fast Fashion แทบทุกแบรนด์ได้ตระหนักถึงความจำเป็นในการรีไซเคิลสิ่งทอเพื่อยืดอายุการใช้งานของผ้าและลดความต้องการผลิตใหม่จากอุตสาหกรรมที่รวดเร็ว ได้เร่งการผลิตเสื้อผ้าราคาถูกและผลิตอย่างเร่งรีบ และมองเห็นกันว่าการรีไซเคิลช่วยป้องกันเสื้อไม่ให้ถูกฝังกลบ ลดการใช้พลังงาน รวมทั้งมลพิษทางน้ำและอากาศ

สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ในรูปแบบที่แตกต่างออกไป ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่จากวัสดุเหลือใช้ รวมทั้งการหาแนวทางใหม่ๆ หาวัสดุใหม่ๆ ที่สามารถย่อยสลายได้

อย่างไรก็ตาม ได้มีรายงานบางชิ้นจากกลุ่มองค์กรที่รณรงค์สิ่งแวดล้อมที่มองว่าการรีไซเคิลของอุตสาหกรรมไม่ได้ช่วยโลกแต่อย่างใด เช่น แบรนด์ H&M ตั้งเป้าที่จะนำโพลีเอสเตอร์ทั้งหมดมาจากวัสดุรีไซเคิล แต่ทว่า โพลีเอสเตอร์ส่วนใหญ่มาจากขวดพลาสติกไม่ใช่มาจากเสื้อผ้าเก่า และการนำเสื้อผ้าเก่ามารีไซเคิลมีต้นทุนที่สูง ดังนั้นแบรนด์แฟชั่นจึงมักจะใช้พลาสติกมารีไซเคิล

ปัญหาหลักคือปริมาณของเสื้อผ้าที่ผลิตจำนวนมาก จนกลายเป็นขยะล้นโลกที่ถูกระบายออกไปในรูปแบบต่างๆ ในประเทศแถบแอฟริกาและเอเชียทั้งในรูปแบบรีไซเคิล การดาวน์ไซเคิลไปเป็นผ้าขี้ริ้ว การรียูสเป็นตลาดมือสองที่กลายเป็นขยะในท้ายที่สุด

วิธีการแก้ไขปัญหาง่ายที่สุดดีที่สุดก็คือการลดบริโภคนั่นเอง แต่ก็ต้องย้อนกลับมาดูธุรกิจ Fast Fashion และ Ultra Fast Fashion ที่จะต้องขับเคลื่อนการเติบโตทางธุรกิจต่อไปในอนาคต 

นับเป็นความท้าทายในอนาคตว่า ผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมแฟชั่นนี้จะเป็นเช่นไร

ติดตามข่าวสารอัปเดต เศรษฐกิจ เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจในประเทศ บทวิเคราะห์เศรษฐกิจ ล่าสุด ได้ที่นี่

ข่าวเศรษฐกิจ : https://www.thairath.co.th/money/economics

เศรษฐกิจในประเทศ : https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ


เศรษฐกิจโลก : https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ


ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney




Author

ธวัชชัย ขจรวานิชไพบูลย์

ธวัชชัย ขจรวานิชไพบูลย์
ข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ