อเมริกาจับจ่าย จีนเงินฝืด ไทยดิจิทัลวอลเล็ต

Experts pool

Columnist

Tag

อเมริกาจับจ่าย จีนเงินฝืด ไทยดิจิทัลวอลเล็ต

Date Time: 28 ม.ค. 2567 09:35 น.

Video

3 มาตรการใหม่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คุมหุ้นร้อนผิดปกติ | Money Issue

Latest


เศรษฐกิจการลงทุนในช่วงต้นปี 2024 ดูเหมือนจะมีทิศทางเปลี่ยนไปจากในช่วงปี 2023 ในปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นที่เติบโตดีได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และยุโรป รวมถึงอินเดีย ที่ขยายตัวในระดับ 12-28% ขณะที่ตลาดในประเทศตลาดเกิดใหม่ เช่น ไทย ฮ่องกง จีน และ มาเลเซีย หดตัวในระดับ 3-15% ขณะที่ในช่วงต้นปีถึงปัจจุบัน ทุกตลาดดูเหมือนจะย่อตัวลง โดยเฉพาะฮ่องกง เกาหลี จีน สิงคโปร์ รวมถึงไทย หรือแม้แต่สหรัฐฯ และยุโรปที่เริ่มหมดแรงส่งด้วย (จะมีแต่ญี่ปุ่น ที่ยังขยายตัวได้ดี)

สาเหตุหนึ่งที่ตลาดส่วนใหญ่เริ่มเข้าสู่ Risk off mode เป็นผลจากตลาดเริ่มปรับความคาดหวังในมุมมองทิศทางเศรษฐกิจและนโยบายการเงินสหรัฐฯ โดย 3 ตัวเลขหลักที่มีผลต่อเศรษฐกิจการลงทุนโดยเฉพาะสหรัฐฯ อันได้แก่ ตลาดแรงงาน เงินเฟ้อ และยอดค้าปลีก โดยในส่วน(1) ตลาดแรงงาน การจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐฯ เดือน ธ.ค. เพิ่มขึ้น 2.16 แสนตำแหน่ง สูงกว่าที่ตลาดคาดที่ 1.7 แสนตำแหน่ง ผลจากสาธารณสุขและภาครัฐ แต่ขนส่ง โกดัง และลูกจ้างชั่วคราวแย่ลงต่อเนื่อง ขณะที่อัตราการว่างงานทรงตัวที่ 3.7% ด้านรายได้ต่อชั่วโมงต่อสัปดาห์ปรับเพิ่มขึ้น  (2) ด้านเงินเฟ้อ เงินเฟ้อสหรัฐฯที่สูงกว่าคาด โดยขยายตัว 3.4% ต่อปี สูงกว่าที่ตลาดคาดที่ 3.1% ต่อปี ผลจากราคาพลังงานและอาหาร และค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น โดยในเงินเฟ้อที่ 3.4% เป็นผลจากหมวดอาหารและพลังงาน 0.83% เร่งขึ้นจาก 0.55% ในเดือนก่อน และหมวดค่าจ้าง เพิ่มขึ้นจาก 0.14% เป็น 0.18% และ (3) ตัวเลขยอดค้าปลีก ที่ขยายตัว 5.6% ต่อปี เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ 2.2% ต่อปี โดยเป็นการเร่งตัวขึ้นในเกือบทุกกลุ่ม ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการจับจ่ายช่วงเทศกาล ท่ามกลางการใช้บัตรเครดิตที่เพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ดอกเบี้ยบัตรเครดิตที่สูงเป็นประวัติการณ์ และการผิดนัดชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 


ภาพทั้งหมดทำให้ตลาดมองว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจเริ่มชะลอหรือเลื่อนการลดดอกเบี้ย ที่แม้ว่าจะยังมองว่าจะเริ่มลดในเดือน มี.ค. จาก 5.4% สู่ แต่โอกาสในการลดดอกเบี้ยลดลงจากประมาณ 70% ในช่วงต้นปีเหลือ 57% ในช่วงกลางเดือน ซึ่งในมุมมองของเรา เป็นไปได้ที่ตัวเลขเศรษฐกิจที่ยังไปได้ แต่เงินเฟ้อที่ยังไม่ปรับลดลงจะเป็นผลให้ Fed อาจต้องเริ่มส่งสัญญาณไม่ลดดอกเบี้ยเร็ว และทำให้ตลาดผันผวนได้

ในฝั่งของเศรษฐกิจจีน เผชิญกับปัจจัยลบที่รุมเร้า ไม่ว่าจะเป็น (1) ตัวเลขเงินเฟ้อจีนที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 14 ปี โดยลดลง 0.3% ในเดือน ธ.ค. ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และลดลงติดต่อกันยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ปี 2009 เนื่องจากบริษัทต่างๆ ต่างลดราคาขายของตนลง และคนงานระดับล่างถูกลดค่าจ้างลงเพื่อให้บริษัทยังคงแข่งขันได้ (2) ส่งออกของจีนรายปีลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2016 การส่งออกของจีนลดลงทั้งปีเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2016 เนื่องจากอุปสงค์ทั่วโลกและราคาสินค้าลดลง โดยมูลค่าสินค้าส่งออกของจีนในปี 2023 อยู่ที่ 3.38 ล้านล้านดอลลาร์ ลดลง 4.6% จากปีก่อนหน้า (3) ตัวเลขการขยายตัว GDP ที่อยู่ที่ 5.2% ทั้งในไตรมาส 4/2023 และทั้งปี ซึ่งใกล้เคียงกับที่ตลาดคาด แต่ที่ต้องกังวล คือ ดัชนีราคาของ GDP หรือที่เรียกว่า GDP Deflator หดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจจีนซึมเซาและวิกฤตเงินฝืดยังคงดำรงอยู่ต่อเนื่อง ทำให้ทางการจีนส่งสัญญาณว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น ซึ่งล่าสุดทางการเริ่มส่งสัญญาณว่าอาจจะมีมาตรการการคลังวงเงิน 1.39 แสนล้านดอลลาร์ หรือ 1 ล้านล้านหยวน มากระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้นในปีงบประมาณนี้ (หลังการประชุมสภาประชาชนจีนเดือน มี.ค.) 


ในมุมมองของเรา ทางการจีนกำลังต่อสู้กับ 3 วิกฤติ คือ วิกฤติเงินฝืด วิกฤติอสังหาฯ และวิกฤติแรงงาน โดยทั้งสามเกี่ยวเนื่องกันจากภาคอสังหาฯ ที่ยังตกต่ำต่อเนื่อง ทำให้คนจีนซึ่งมีเงินเก็บส่วนใหญ่อยู่ในภาคอสังหาฯ จึงไม่จับจ่าย เกิดภาวะเงินฝืด ทำให้ผู้ผลิตต้องลดราคาสินค้า และลดต้นทุนผ่านการกดค่าจ้าง และปลดคนงาน/ ไม่จ้างคนงาน รายได้ประชาชนเลยลดลง ทำให้ทางการต้องกระตุ้นผ่านการเพิ่มสภาพคล่องและการอัดฉีดมาตรการการคลัง ซึ่งยังไม่ได้ผลมากนักเพราะสินเชื่อก็ขยายตัวด้วยอัตราชะลอลงเป็นลำดับ ทำให้เรามองว่าทางการจีนจะต้องเพิ่มระดับการอัดฉีดมากขึ้นเรื่อย ๆ 

ส่วนสุดท้าย ได้แก่นโยบายเศรษฐกิจไทย ที่ค่อนข้างตึงตัวท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอลง โดยภาคการบริโภคในช่วงปลายปียังขยายตัวได้ในภาคบริการท่องเที่ยว (แต่ก็ชะลอลง) ขณะที่การบริโภคส่วนอื่นๆ โตต่ำหรือหดตัวเล็กน้อย ภาคการลงทุนทรงตัว ส่วนภาคการคลังหดตัวโดยเฉพาะจากงบลงทุน 

ภาพดังกล่าวมาสอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจ โดยนโยบายการเงินได้มีการอภิปรายเป็นวงกว้างในประเด็นว่านโยบายดอกเบี้ยตึงตัวหรือไม่ท่ามกลางเงินเฟ้อที่หดตัว ขณะที่ผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาแถลงว่าจะไม่รีบลดดอกเบี้ย และจะพิจารณาทิศทางเศรษฐกิจรอบด้านและระยะยาว ด้านนโยบายการคลังผ่านมาตรการ Digital Wallet ก็เป็นไปได้ยากมากขึ้นเมื่อรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังออกมาแถลงหลังกระแสข่าวว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่เห็นด้วยกับการออกมาตรการดังกล่าวว่า อาจต้องเลื่อนโครงการดังกล่าวจากที่เคยวางแผนไว้ในเดือน พ.ค. ออกไปก่อน ภาพทั้งหมดทำให้มุมมองเศรษฐกิจไทยในสายตาของสื่อต่างประเทศ เช่น Bloomberg มีมุมมองในระมัดระวังกับเศรษฐกิจไทยมากขึ้น และทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับลดลงต่ำกว่า 1,400 จุดในสัปดาห์ที่ผ่านมา 

เรามองว่า ช่วงสั้นตลาดหุ้นไทยจะได้รับแรงกดดันจากปัจจัยภายนอก

ทั้งตัวเลขเศรษฐกิจจีน ที่ออกมายังไม่สดใส รวมทั้งความไม่แน่นอนในเรื่องการลดดอกเบี้ยของ Fed อย่างไรก็ดี ความคาดหวังเชิงบวกต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจีนคาดจะช่วยลดแรงกดดันลงได้บ้าง ภายใต้ปัจจัยในประเทศที่ยังขาดปัจจัยหนุนใหม่ๆ ดังนั้นกลยุทธ์ลงทุนจึง

แนะนำ “Selective Buy” ในธีมที่มีปัจจัยบวกเฉพาะ ดังนี้

1) หุ้นที่ราคายัง Laggard โดยตั้งแต่ต้นปี 2566-ปัจจุบัน ราคาหุ้นมีการปรับตัวลงแรงกว่า SET จนทำให้ PER และ PBV ปี 2567 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ขณะที่ผลการดำเนินงานมีแนวโน้มเติบโตได้ดีในปี 2567 และยังมี Upside น่าสนใจ เลือก AOT BEM

HMPRO GULF ZEN

2) หุ้นที่ได้ประโยชน์จากโครงการ Easy e-Receipt ลดหย่อนภาษีไม่เกิน 5 หมื่นบาท เริ่มในวันที่ 1 ม.ค.-15 ก.พ. 2567 ได้แก่ CRC MINT ADVANC

3) นักลงทุนที่ต้องการลงทุนในหุ้นที่มีศักยภาพในการจ่ายปันผลดี โดยคาดให้ Div. Yield (หลังหักจ่ายระหว่างกาลไปแล้ว) จากกำไรปี 2566 สูงเกิน 5% และคาดจะขึ้น เครื่องหมาย XD ในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. 67 เลือก AP TISCO KTB 

ขณะที่ระยะกลางเราแนะนำระมัดระวังหุ้นที่คาดได้รับผลกระทบจากภาวะเอลนีโญที่จะกระทบต่อกำลังซื้อภาคเกษตรลดลง ได้แก่ กลุ่มสินเชื่อ (MTC SAWAD) กลุ่มยานยนต์ (SAT STANLY) กลุ่มเครื่องดื่ม (CBG จากราคาน้ำตาลที่สูงขึ้น) รวมถึงกลุ่มเกษตรและอาหาร (CPF GFPT BTG)


ขอให้นักลงทุนโชคดี