เลือกตั้ง “ตัวแทน” ผู้ประกันตน ชี้ชะตา เงินกองทุนประกันสังคม ระเบิดเวลาลูกใหญ่ รอ “ปลดชนวน”

Experts pool

Columnist

Tag

เลือกตั้ง “ตัวแทน” ผู้ประกันตน ชี้ชะตา เงินกองทุนประกันสังคม ระเบิดเวลาลูกใหญ่ รอ “ปลดชนวน”

Date Time: 22 ธ.ค. 2566 19:56 น.

Video

ล้วงลึกอาณาจักร “PCE” สู่บริษัทมหาชน ปาล์มครบวงจร | On The Rise

Summary

  • เลือกบอร์ดประกันสังคมวันอาทิตย์ 24 ธันวาคม นี้ สำหรับผู้ลงทะเบียนเลือกตั้งอย่าลืมใช้สิทธิ และศึกษาประวัติผู้สมัครให้มั่นใจว่าบุคคลเหล่านี้คือตัวแทนไปดูแลกองทุนประกันสังคมมูลค่ากว่า 2.36 ล้านล้านบาท ส่วนผู้ประกันตนและนายจ้างอีก 23 ล้านคนที่ไม่ได้ลงทะเบียนเลือกตั้งและไม่ได้ใช้สิทธิ คงต้องปล่อยเลยตามเลย

Latest


วันอาทิตย์ที่ 24 ธันวาคม 2566 ที่จะถึงนี้ เป็นวันเลือกตั้งคณะกรรมการ (บอร์ด)ประกันสังคม เพื่อเลือกผู้แทนทั้งฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้าง (ผู้ประกันตน) ฝ่ายละ 7 คน เพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมหรือทำหน้าที่เสนอความเห็นและกำหนดนโยบายในการบริหารจัดการกองทุนประกันสังคม ซึ่งเป็นกองทุนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ซึ่งมีมูลค่าสินทรัพย์ของกองทุนรวมกันกว่า 2.36 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 2565

ที่สำคัญ การเลือกตั้งครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 รวมทั้งนายจ้าง ที่จ่ายเงินเข้าระบบประกันสังคม เลือกตัวแทนเข้าไปเป็นกรรมการกองทุนประกันสังคม  นับตั้งแต่มีกฎหมายขึ้นมาเมื่อปี 2558  

การเลือกตั้งครั้งนี้ ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง คือ สมาชิกในระบบประกันสังคม ที่มีจำนวนกว่า 24 ล้านคน ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง แต่กลับพบว่า มีผู้ลงทะเบียนไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งไม่ถึง 5% หรือมีเพียง 949,818 ราย แบ่งเป็น ฝ่ายผู้ประกันตน 945,609 ราย และฝ่ายนายจ้าง 4,209 ราย หลังจากที่มีการเปิดให้นายจ้างและผู้ประกันตนลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ถึงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566  ที่ผ่านมา

สิ่งนี้อาจเป็นตัวชี้วัดว่า ผู้ประกันตนส่วนใหญ่อาจไม่ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารในการเลือกตั้งอย่างทั่วถึง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดเงื่อนไขว่า ผู้จะไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ต้องลงทะเบียนล่วงหน้าเพื่อใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ทั้งที่ควรเปิดให้นายจ้างและสมาชิกผู้ประกันตนที่อยู่ในระบบทุกคน!! มีสิทธิ์ออกไปเลือกตั้ง โดยไม่จำเป็นต้องลงทะเบียน 

เพราะกองทุนประกันสังคมมีข้อมูลรายละเอียดของสมาชิกอัปเดตในระบบและเชื่อมโยงถึงกันทั่วประเทศอยู่แล้ว!!

สำหรับข้อมูลในส่วนของผู้สมัครรับเลือกตั้งนั้น มีผู้ประกันตนเสนอตัวสมัครเข้ามารับการเลือกตั้งจำนวน 247 ราย และผู้สมัครที่เป็นผู้แทนฝ่ายนายจ้าง 69 ราย 

เปิดไส้ในกองทุนประกันสังคม!! 

จากข้อมูล ณ สิ้นปี 2565 พบว่า  กองทุนประกันสังคมมีมูลค่าสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 2.362 ล้านล้านบาท (เป็นเงินสะสม ที่มาจากเงินนำส่งของลูกจ้างผู้ประกันตน+นายจ้าง+เงินสมทบของรัฐบาล) 

เห็นตัวเลข 2.362 ล้านล้านบาท อาจดูเหมือนว่ากองทุนนี้ร่ำรวยมีเงินมหาศาล แต่ในความจริงแล้ว ในจำนวน  2.36 ล้านล้านบาทนี้ กองทุนมีภาระที่ต้องกันเงินส่วนหนึ่งไว้เพื่อจ่ายประโยชน์ทดแทน ให้สมาชิกผู้ประกันตนที่ชราภาพและกำลังทยอยเข้าสู่การชราภาพในอนาคตอีกจำนวนมาก ตามสัดส่วนเงื่อนไขที่กำหนดไว้ 1.842 ล้านล้านบาท 

ดังนั้นตามข้อเท็จจริงแล้ว กองทุนประกันสังคม จะมีสินทรัพย์สุทธิ หรือส่วนทุนเหลือเพียง 498,369 ล้านบาทเท่านั้น!!

และหากแกะเข้าไปดูในไส้ในแล้ว จะพบข้อมูลความจริงที่น่าใจหายว่า ย้อนกลับไปนับตั้งแต่ปี 2563 พบว่าผลประกอบการของกองทุนประกันสังคม (รายได้หักด้วย-รายจ่าย) ปี 2563 ติดลบหรือขาดทุนถึง 6,443 ล้านบาท คือมีรายจ่ายมากกว่ารายได้  

ขณะที่ปี 2564 ขาดทุน 28,872 ล้านบาท โดยมีรายได้ 237,555 ล้านบาท ขณะที่มีค่าใช้จ่าย (รวมประมาณการหนี้สิน ที่ต้องกันไว้เพื่อประโยชน์ทดแทนกรณีสมาชิกชราภาพ) 265,427ล้านบาท และปี 2565 ขาดทุนอีก 26,892 ล้านบาท โดยมีรายได้ 253,953 ล้านบาท ขณะที่มีค่าใช้จ่าย (รวมประมาณการหนี้สิน ที่ต้องกันไว้เพื่อประโยชน์ทดแทนกรณีสมาชิกชราภาพ) 280,845 ล้านบาท

ระเบิดเวลารอวันปะทุ-ฝันร้ายมนุษย์เงินเดือน 

โดยพบว่า ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คือ ค่าประโยชน์ทดแทนกรณีการเจ็บป่วยของผู้ประกันตน ที่เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าตัวในปี 2565 เป็น 98,142 ล้านบาท จากปี 2562 ที่กองทุนมีรายจ่ายในส่วนนี้อยู่ที่ 49,552 ล้านบาท ส่วนค่าประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพปี 25665 มีรายจ่ายที่ 27,805 ล้านบาท โดยมีคนรับบำนาญชราภาพเพิ่มขึ้นเป็น 7 แสนคน เทียบกับปี 2562 ที่จ่ายเพียง 15,925ล้านบาท!!  

ขณะที่ในอนาคตเราจะมีคนอายุ 40 ปีขึ้นไป 8 ล้านคน ที่จะทยอยมีสิทธิรับบำนาญชราภาพ ตามการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของประชากร ที่ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ในเวลาที่อัตราการเข้าสู่กำลังแรงงานและอัตราการเกิดของประชากรลดลง ส่งผลให้มีแรงงานเข้าสู่ระบบประกันสังคมน้อยลงตามไปด้วย 

และนี่ถือเป็นตัวเร่งสำคัญ ที่ทำให้กองทุนประกันสังคมมีผลขาดทุนหรือติดลบมากขึ้น นอกจากค่าใช้จ่ายจากการเจ็บป่วยของผู้ประกันตนที่เพิ่มขึ้นมากอย่างรวดเร็ว หากไม่รีบทำอะไรตั้งแต่วันนี้  

คิดง่ายๆ หากปล่อยให้กองทุนขาดทุนปีละ 28,000-30,000 ล้านบาททุกปี เงินส่วนทุนหรือสินทรัพย์สุทธิของกองทุนที่เหลือเพียง 498,369 ล้านบาทนี้ จะใช้เวลาเพียง 10 กว่าปีเท่านั้น ก็จะหมดเกลี้ยง!!

ปัญหานี้จึงเปรียบเสมือนระเบิดเวลาลูกใหญ่ที่รอวันปลดชนวน!! เพื่อให้หลักประกันสุดท้าย ที่สร้างหลักประกันและความมั่นคงในชีวิตของลูกจ้างและแรงงานไทย บรรลุตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนประกันสังคม 

หรือจะปล่อยให้กองทุนประกันสังคมนี้ล่มสลายล้มละลาย เป็นฝันร้ายของลูกจ้างและแรงงานไทย!! 

เลือกคนเก่งที่รู้ปัญหาจริง!!

ดังนั้น การเปิดโอกาสให้ตัวแทนของผู้ประกันตนและนายจ้าง ซึ่งเป็นผู้มีประโยชน์ได้-เสียโดยตรง กับกองทุนประกันสังคม เข้าไปมีปากเสียงร่วมให้ความเห็นและกำหนดนโยบายการบริหารจัดการกองทุนจึงเป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญ 

แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าคือ การเลือกคนที่มีความรู้ความสามารถ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่รู้เห็นและตระหนักถึงปัญหาใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนี้ และมีแนวคิดแนวทาง ข้อเสนอในการแก้ปัญหา ที่ถูกต้องชัดเจนและตรงประเด็น 

จากที่ได้มีโอกาสศึกษาและรับฟังข้อมูลของผู้สมัคร โดยเฉพาะในส่วนตัวของผู้เสนอเป็นตัวแทนผู้ประกันตน พบว่าส่วนใหญ่ยังหลงประเด็นยังมุ่งเรียกร้องให้เพิ่มสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน ที่ล้วนต้องใช้จ่ายเงินกองทุนเพิ่มขึ้นแทบทั้งสิ้น โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงฐานะหรือข้อเท็จจริงที่กำลังสั่นคลอนของเงินกองทุนที่มีอยู่ 

สิ่งที่ผู้เขียนต้องการเห็นนอกจาก การแก้ปัญหาเรื่องความเพียงพอของเงินกองทุนแล้วที่เป็นเรื่องเร่งด่วนและสำคัญที่สุดแล้ว ยังต้องมีการตรวจสอบเรื่องการบริหารจัดการเงินกองทุนที่มีความโปร่งใส มีธรรมาภิบาล สามารถตรวจสอบ รวมทั้งการใช้จ่ายอื่นๆ ที่เป็นค่าบริหารของสำนักงานที่มีการใช้จ่ายปีละกว่า 4,000-5,000 ล้านบาท 

เชียร์ดรีมทีมเบอร์ 48-79-113

ก่อนจบปิดท้าย “ผู้เขียน” ขอออกตัวเชียร์  “ดรีมทีม” ผู้สมัครบอร์ดประกันสังคมฝั่งผู้ประกันตน (มาตรา 33) ที่เสนอตัวสร้างเสถียรภาพเงินกองทุน และยกระดับการรักษาพยาบาล  3 คน 3 เบอร์ ที่มีนโยบายโดนใจ ตรงประเด็น และเพื่อความยั่งยืนของกองทุนประกันสังคมที่สุด

คือผู้สมัครหมายเลข 48 หมายเลข 79 และหมายเลข 113  ดังนี้ ศาสตราจารย์วรเวศม์ สุวรรณระดา จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ผู้สมัครหมายเลข 48, ศ.ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น อดีตผู้อำนวยการด้านหลักประกันสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) หมายเลข 79 และ กีรติ โกสีย์เจริญ ผู้ช่วยผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ พนักงานออฟฟิศผู้ประกันตน จบ MBA MIT และเป็นผู้บริหารที่มีประสบการณ์กว่า 20 ปี ในตลาดทุน รู้เรื่องบริหารจัดการ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนอุตสาหกรรมหลักทรัพย์ ผู้สมัครหมายเลข 113 

โดยนโยบายหรือข้อเสนอของทั้ง 3 คน คือ เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารกองทุน สร้างความมั่นคง เพื่อปรับปรุงเรื่องสิทธิ ประโยชน์ของสมาชิก ลดความซ้ำซ้อนกับสิทธิอื่นๆ ดังนี้ 

1. เพิ่มประสิทธิภาพการหารายได้ บริหารค่าใช้จ่ายให้คุ้ม โดยเพิ่มประสิทธิภาพในการลงทุน สนับสนุนทรัพยากรให้ทีมลงทุน เพิ่มความคล่องตัวจากข้อจำกัดในการลงทุน ที่มีศักยภาพเพื่อสร้างโอกาสผลตอบแทน และมีการวัดผลที่ชัดเจน, ควบคุมการบริหารค่าใช้จ่ายให้ได้ประสิทธิผลสูงสุด, ทบทวนการจัดสรรงบประมาณให้เหมาะสม โปร่งใส นำเทคโนโลยีมาใช้ digital strategy เพื่อยกระดับบริการ ทำธุรกรรมต่างๆ เช่น เลือกตั้ง ส่งเรื่องขอใช้สิทธิ เช็กสิทธิ เพิ่มการเข้าถึงข้อมูลในวงกว้าง

2. ทบทวนปรับปรุงเรื่องสิทธิเพื่อให้ประโยชน์กับสมาชิก โดยลดความซ้ำซ้อน และยกระดับให้เทียบเคียงสิทธิอื่นๆ ภายใต้การบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ คณิตศาสตร์ประกันภัย วิเคราะห์ผลกระทบ มีข้อมูลวิจัยรองรับ เพื่อสถานะทางการเงินที่มั่นคง โดยไม่เน้นแต่การเพิ่มสิทธิอย่างเดียว แต่เสนอให้ปรับปรุงเชิงโครงสร้าง เพื่อสร้างประสิทธิภาพประกอบกับการยกระดับสิทธิสำหรับผู้เอาประกัน

“กีรติ” ให้สัมภาษณ์  ว่าอาสาลงเลือกตั้งบอร์ดฝั่งลูกจ้าง เพื่อเป็นปากเสียงให้มนุษย์เงินเดือน พนักงานออฟฟิศ เหตุผลที่ตัดสินใจลงสมัคร เพราะกังวลเรื่องความมั่นคงของกองทุน จึงต้องการเข้าไปพิทักษ์กองทุน ที่เราส่งเงินเข้าทุกเดือน หลังเห็นงบการเงินกองทุน 2 ปีที่ผ่านมา มีค่าใช้จ่ายสูงกว่ารายได้ปีละ 27,000 ล้านบาทต่อปี และเห็นความวุ่นวายในยุโรป หลังกองทุนที่มีวัตถุประสงค์ใกล้เคียงกันกับกองทุนประกันสังคมในฝรั่งเศส เกิดปัญหาเงินกองทุนไม่เพียงพอที่จะจ่ายให้สมาชิก จนเกิดการประท้วงวุ่นวายทั้งประเทศ

“เรื่องสิทธิหากถอดบทเรียนจาก ประกันโควิด  เราต้องการสิทธิประโยชน์มาก ยิ่งเยอะยิ่งดี เมื่อเทียบกับจำนวนเงินที่จ่าย แต่ถ้าประกันหรือกองทุนจ่ายเกินตัว ในที่สุดก็ล้มละลาย จ่ายต่อไม่ไหว สุดท้ายผู้เอาประกันจะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย” 


Author

ตัวจี๊ดสนามข่าว

ตัวจี๊ดสนามข่าว
โต๊ะเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ