บทบาทของภาคการเงินไทย ในวิกฤติ Climate change

Experts pool

Columnist

Tag

บทบาทของภาคการเงินไทย ในวิกฤติ Climate change

Date Time: 11 ธ.ค. 2566 08:00 น.

Video

3 มาตรการใหม่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คุมหุ้นร้อนผิดปกติ | Money Issue

Latest


“10-15 ปีที่แล้ว เราได้ยินคนพูดถึง Climate change คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ใกล้เข้ามา ถูกเปลี่ยนเป็น Climate crisis คือ วิกฤติสภาวะภูมิอากาศ แสดงถึงความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้น วันนี้ คำที่เราได้ยิน คือ Climate catastrophe หรือหายนะสภาวะภูมิอากาศ” ดร.วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง หรือ Climate change ถูกจัดอยู่ในกลุ่มความเสี่ยงสูงที่มีผลกระทบรุนแรงที่สุดเป็นอันดับที่ 2 และ 4 ในระยะสั้น และเป็นอันดับที่ 1 ถึง 4 ในระยะยาว 


สำหรับประเทศไทยเอง SCB EIC ประมาณการว่าวิกฤติภัยแล้งรอบล่าสุดส่งผลให้ GDP ไทยลดลงรวม 0.5% และอัตราเงินเฟ้อเติบโตเพิ่มขึ้นรวม 0.6% ในช่วงปี 2566-2567 


นอกจากความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นแล้ว Climate change ได้รับการยอมรับว่ามีแนวโน้มจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนมากขึ้น ทำให้เกิดการตระหนักว่าการกระทำในวันนี้จะมีนัยสำคัญยิ่งต่อการกำหนดความรุนแรงของผลกระทบในระยะข้างหน้า และความรีบเร่งของสถานการณ์ทำให้เกิดการตกลงความร่วมมือในวงกว้าง 


ทั้งในส่วนของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับการบริโภคอย่างมีจิตสำนึกด้วยการเต็มใจที่จะจ่ายแพงขึ้น สำหรับสินค้าที่ผลิตขึ้นอย่างมีความรับผิดชอบ และคำนึงถึงแนวคิดเรื่องความยั่งยืน 


รวมถึงการที่ภาครัฐเองก็เร่งส่งเสริมให้มีการจัดทำมาตรฐานสำหรับจัดประเภทกิจกรรมสีเขียว หรือ Green taxonomy เพื่อจำแนกประเภทกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สินทรัพย์และรายได้ของธุรกิจ ที่สอดคล้องไปกับเป้าหมายความยั่งยืน โดยไทยได้จัดทำ Thailand taxonomy ระยะแรกแล้วเสร็จในเดือน มิ.ย. 2566 ภายใต้เกณฑ์ประเมินทางเทคนิคในทิศทางเดียวกับสหภาพยุโรปและ ASEAN taxonomy


ภายใต้สถานการณ์นี้ กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ โดย ดร.นครินทร์ อมเรศ ได้รับโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ อาจารย์ Bruce McCarl นักเศรษฐศาสตร์หนึ่งในเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี 2550 จากการอุทิศตนให้กับการทำงานระหว่างภาครัฐด้าน Climate change โดยอาจารย์ให้ความเห็นว่า ในกรณีของประเทศไทยผลผลิตในภาคเกษตรมีแนวโน้มจะขยายตัวลดลง จึงต้องการการลงทุนเพื่อลดผลกระทบ (Climate change mitigation) การลงทุนในพลังงานสีเขียว การลงทุนในการเกษตรอัจฉริยะด้านภูมิอากาศ (Climate-smart agriculture) การใช้ปุ๋ยและแนวปฏิบัติทางการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อยกระดับการผลิตและเคลื่อนย้ายทรัพยากรอย่างเหมาะสม ทั้งการเพาะปลูก และการขนส่ง


ภายใต้บริบทนี้ อาจารย์จึงเสนอว่านโยบายภาครัฐเป็นกลไกสำคัญในการเคลื่อนย้ายทรัพยากรไปสู่การเกษตรอัจฉริยะเพื่อยกระดับผลิตภาพการผลิตในภาคเกษตรอันจะช่วยลดผลกระทบทางตรงจาก Climate change ได้ แต่ต้องดำเนินการอย่างสมดุลระหว่างการลงทุนในการปรับตัว (Cost of funding adaptation) ซึ่งอาจารย์ได้เคยศึกษาร่วมกับสหประชาชาติว่าการลงทุนด้านนี้ในระดับโลกสูงถึง 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ซึ่งครอบคลุมถึงการป้องกันผลกระทบของน้ำท่วมใน กทม. แต่เม็ดเงินจำนวนนี้ยังไม่รวมถึงงบประมาณที่จะใช้กระตุ้นให้เกษตรกรปรับตัวและการประกันภัยความเสี่ยงให้กับเกษตรกรที่ปรับตัว


ในการนี้ นโยบายของภาครัฐควรพ่วงมากับเงื่อนไขการปรับตัว อาทิ ในกรณีของภาคเกษตรในสหรัฐฯ ราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องยกเว้นในบางปีที่มีปัญหาเฉพาะทำให้ราคาสูงขึ้น ซึ่งในปีดังกล่าว ภาครัฐจะกำหนดให้เกษตรกรที่เข้ารับเงินช่วยเหลือต้องมีการลดพื้นที่เพาะปลูกเพื่อลดปัญหาการเพาะปลูกมากเกินไป ซึ่งอาจประยุกต์ใช้กับการปรับตัวเพื่อลดผลกระทบจาก Climate change ควบคู่ไปกับการส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการเพาะปลูกที่แตกต่างจากวิถีในอดีตบนพื้นฐานของกรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จ (Best practices) โดยอาจประยุกต์ใช้ร่วมกับเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรปรับตัว ดังนั้น การส่งเสริมความรู้ต้องครอบคลุมทั้งเกษตรกรและภาคธุรกิจที่จะพัฒนาห่วงโซ่การผลิตรองรับการผลิตสินค้าเกษตรในรูปแบบใหม่ด้วย


ในการบริหารจัดการความเสี่ยงในกรณีนี้ กลไกทางการเงินจะเผชิญข้อจำกัด เพราะแนวโน้มที่ผลด้านลบของ Climate change จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ หมายความว่าความเสียหายมีแต่จะปรับสูงขึ้น ทำให้เบี้ยประกันต้องปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตาม และไม่สามารถถัวเฉลี่ยกับผลในปีที่ดีได้เหมือนกับการประกันภัยในกรณีของภัยพิบัติอื่นๆ ที่เกิดจากความผันผวนที่มีความไม่แน่นอนทั้งทางบวกหรือลบ ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ทางการเงินจึงมีส่วนสนับสนุนให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แต่ไม่ใช่ทางออกของการแก้ปัญหา


แม้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินอาจจะไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการความเสี่ยงได้ด้วยตัวเอง หรือมีข้อจำกัดในการสร้างตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์เหล่านี้รองรับ แต่ภาคการเงินเองก็สามารถทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มสำหรับการทำงานร่วมกันได้จากการมีบทบาทสำคัญในการเป็นตัวกลางพิจารณาหลักประกันและวิเคราะห์ความเสี่ยง รวมไปถึงการติดตามผลลัพธ์และความต่อเนื่องของการปรับพฤติกรรม ซึ่งเป็นทักษะที่ภาคการเงินมีความชำนาญในการติดตามการชำระคืนสินเชื่อ


โดยการติดตามการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผ่านความสามารถด้านการชำระเงิน จะช่วยให้สามารถวัดประสิทธิผลของมาตรการปรับตัวและเสนอการสนับสนุนที่ปรับให้เหมาะสมตามความจำเป็น เพื่อสร้างความมั่นใจในความรับผิดชอบและจูงใจให้เกิดการปรับตัวเชิงรุกตลอดจน มีส่วนเอื้อให้ข้อมูลมีการเชื่อมโยงเลื่อนไหลถึงกันอย่างเป็นระบบ 


โดยเฉพาะในยุคสมัยที่มีการใช้เทคโนโลยีในการจัดเก็บข้อมูลผ่านทั้งภาพถ่ายดาวเทียม หรือการจัดเก็บข้อมูลผ่านสมาร์ทโฟนของเกษตรกร ซึ่งจะสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อส่งเสริมการทำงานร่วมกันให้นักลงทุนสามารถจัดสรรเงินทุนได้อย่างเหมาะสม ซึ่งทั่วโลกมีการลงทุนในสินทรัพย์เพื่อความยั่งยืนถึง 30 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2565


ตัวกลางทางการเงินจึงเป็นแกนให้กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากแต่ขาดความสามารถในการปรับตัวได้ด้วยการลงทุนด้วยตนเอง อาทิ เกษตรกร และผู้ประกอบการรายย่อย สามารถทำงานร่วมกับภาคเอกชนขนาดใหญ่ที่มุ่งมั่นสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านอย่างเต็มที่ อาทิ กลุ่มบริษัทไทยและบริษัทข้ามชาติในไทยที่มีจำนวนบริษัทใน Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) ในกลุ่ม Top 1% Score มากที่สุดในโลก ผ่านการทำงานภายใต้มาตรฐาน taxonomy และเอื้อให้การจัดสรรเม็ดเงินลงทุนมุ่งเป้าไปที่การส่งเสริมการปรับตัว โดยผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่เป็นคู่ค้าสามารถมีส่วนร่วมในการให้การรับรองผู้ประกอบการรายย่อยในห่วงโซ่อุปทาน ตลอดจนให้การช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีควบคู่ไปกับการสนับสนุนด้านเงินทุนจากภาคการเงินด้วย


โจทย์สำคัญ คือ เราจะทำอย่างไรให้เกิดการผสานความร่วมมือ ระหว่าง เกษตรกร ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่ปรับตัวได้ ผู้ดำเนินนโยบาย และภาควิชาการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวของผู้ประกอบการรายย่อย โดยตระหนักว่าการสนับสนุนทางการเงินโดยตรงเพียงอย่างเดียวไม่ใช่ทางออกที่ยั่งยืน ซึ่งในขณะที่โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางสภาพภูมิอากาศที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การวางรากฐานสำหรับอนาคตที่ยั่งยืนเป็นสิ่งสำคัญ ความสำเร็จของโครงการริเริ่มดังกล่าว ขึ้นอยู่กับความมุ่งมั่นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดในการทำงานร่วมกันเพื่อลดช่องว่างระหว่างความสามารถในการปรับตัวของผู้ที่เปราะบางที่สุดกับกลุ่มที่ถือทรัพยากรมากที่สุด ซึ่งมีความพร้อมมากกว่า เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก 


ดังที่นักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม เกรตต้า ธันเบิร์ก ได้กล่าวไว้ว่า “ไม่มีใครเล็กเกินไป ที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง” ซึ่งในวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้จากความร่วมมือของทุกคน

** บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด **

อ้างอิง :

TDRI - Thailand Development Research Institute. (2023, November 1). TDRI Annual Public Conference 2023 | ดร.วิรไท สันติประภพ [Video]. YouTube. https://www.youtube.com/watch?v=mbizaknyBBk

Global Risks Report 2023 | World Economic Forum. (2023, November 9). World Economic Forum. https://www.weforum.org/publications/global-risks-report-2023/

Economic Intelligence Center (EIC). (2023, September 13). Outlook ไตรมาส 3/2023. SCBEIC. https://www.scbeic.com/th/detail/product/Outlook-130923

โชติกา ชุ่มมี. (2023, November 13). Conscious consumerism เทรนด์ยักษ์เขย่าโลก. SCBEIC. https://www.scbeic.com/th/detail/product/conscious-consumerism-131123

นพมาศ ฮวบเจริญ. (2023, November 28). Thailand Taxonomy อีกหนึ่งคัมภีร์นําทางธุรกิจพลังงานไฟฟ้า. SCBEIC. https://www.scbeic.com/th/detail/product/Thailand-Taxonomy-281123

Global Sustainable Investment Review 2022 | GSIA. (ม.ป.ป.). https://www.gsi-alliance.org/members-resources/gsir2022/

Rankings | The Sustainability Yearbook 2023. (ม.ป.ป.). https://www.spglobal.com/esg/csa/yearbook/2023/ranking/

ติดตามข่าวสารอัปเดต เศรษฐกิจ เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจในประเทศ บทวิเคราะห์เศรษฐกิจ ล่าสุด ได้ที่นี่

ข่าวเศรษฐกิจ : https://www.thairath.co.th/money/economics 

เศรษฐกิจในประเทศ : https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ

เศรษฐกิจโลก : https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ 


Author

ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ

ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ
รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร