เหตุเกิดที่ กสทช.

Experts pool

Columnist

Tag

เหตุเกิดที่ กสทช.

Date Time: 13 ต.ค. 2566 20:04 น.

Video

3 มาตรการใหม่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คุมหุ้นร้อนผิดปกติ | Money Issue

Summary

  • ปกติบอร์ด กสทช.มีกำหนดประชุมราวเดือนละ 3 ครั้ง ทุกวันพุธ ระยะหลังประชุมล่มต่อเนื่อง ทำให้วาระงานคั่งค้างสร้างความเดือดร้อน

Latest


ยังดี.. ที่ในที่สุด.. คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ชุดปัจจุบัน สามารถเดินหน้าประชุมบอร์ดได้สำเร็จลุล่วงไปเมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา หลังการประชุมล่มไป 2 ครั้ง ทำให้มีวาระคั่งค้างเป็นจำนวนมาก 


โดยเฉพาะวาระการขออนุญาตจากบรรดาเอกชนภายใต้กำกับดูแลของ กสทช. และข้อร้องเรียกจากประชาชน อาจเป็นเพราะที่ประชุมวุฒิสภา เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2566 มีการนำเสนอวาระเกี่ยวกับ กสทช. โดย สว.หลายคนแสดงความกังวลใจในประเด็นความขัดแย้งระหว่างบอร์ด กสทช. ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่  

เมื่อกลุ่ม สว. ซึ่งเป็นคนคัดเลือกบอร์ด กสทช.มากับมือ ออกอาการ “เอ๊ะ” การประชุมบอร์ดเมื่อวันที่ 12 ต.ค. จึงสามารถเดินหน้าต่อไปได้สำเร็จ  


ปกติบอร์ด กสทช.มีกำหนดประชุมราวเดือนละ 3 ครั้ง ทุกวันพุธ ระยะหลังประชุมล่มต่อเนื่อง ทำให้วาระงานคั่งค้างสร้างความเดือดร้อน

ยกตัวอย่างพอให้เห็นภาพ กิจกรรมที่ต้องผ่านการพิจารณาของบอร์ด กสทช.ประกอบด้วย การขอยกเลิกใบอนุญาต, ขอยกเลิกการออกอากาศรายการวิทยุ, ขอเปลี่ยนแปลงช่องรายการโทรทัศน์, ขออนุมัติเลขหมายโทรศัพท์ 4 หลัก, ขอจัดสรรคลื่นความถี่ด้านการสื่อสารการบิน, ขอนำเข้าโครงข่ายและอุปกรณ์โทรคมนาคม ตลอดจนวาระที่เกี่ยวกับการร้องเรียนจากประชาชนที่ไม่ได้รับความสะดวกในการใช้บริการโทรทัศน์ วิทยุ และโทรคมนาคม เป็นต้น การไม่สามารถจัดประชุมบอร์ดได้ จึงอาจก่อให้เกิดความเสียหายและเสียโอกาสมากมาย 


เรื่องนี้บอร์ด กสทช.ทั้ง 7 คน ประกอบด้วย นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานบอร์ด พร้อมด้วย พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ, น.ส.พิรงรอง รามสูต, นายต่อพงศ์ เสลานนท์, นายศุภัช ศุภชลาศัย, พล.ต.อ.ณัฐธร เพราะสุนทร และ นายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ คงปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ เพราะปล่อยให้ความขัดแย้ง การแบ่งเป็นกลุ่มก๊วน และความหวาดระแวงกันเอง กลายเป็นอุปสรรคในการทำงานร่วมกันมากขึ้นเรื่อยๆ   


ความไม่เห็นพ้องที่ว่า เริ่มก่อตัวตั้งแต่มติบอร์ดเรื่องการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทค ไปจนถึงกรณีการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ที่ประเทศกาตาร์ ซึ่งมีเหตุการณ์จอดำบนบางแพลตฟอร์มดิจิทัลจากปัญหาลิขสิทธิ์ นำไปสู่ความพยายามของบอร์ดบางคนในการปลด นายไตรรัตน์ วิระยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการ กสทช. เพื่อหาคนรับผิดชอบ 


บานปลายไปถึงขั้นมีการฟ้องร้องกันไปมา ตั้งแต่นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการกสทช.ฟ้องบอร์ด 4 คน ประกอบด้วย พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ, น.ส.พิรงรอง รามสูต, นายศุภัช ศุภชลาศัย และ นายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ รวมทั้งนายภูมิศิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ  อดีตรองเลขาธิการกสทช. ข้อหาร่วมกันปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ   


ขณะที่บอร์ด 4 คนดังกล่าว ฟ้องประธานกสทช. กระทำการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ละเลยต่อหน้าที่ กรณีไม่ดำเนินการลงนามในคำสั่งแต่งตั้งนายภูมิศิษฐ์ เป็นรักษาการเลขากสทช. รวมทั้งนายภูมิศิษฐ์ฟ้องประธานกสทช. ฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ  


นพ.สรณ และ พล.อ.ท.ธนพันธุ์ เคยถูกสื่อมวลชนถามตรงๆ ว่า ขัดแย้งกันขนาดนี้ ฟ้องร้องกันขนาดนี้ จะทำงานร่วมกันต่อไปอย่างไร นพ.สรณ ตอบว่า เชื่อว่าที่สุดต้องมีทางออกสำหรับเรื่องนี้ แต่ไม่รู้เมื่อไหร่ อาจต้องมีคนกลางเข้ามาช่วยไกล่เกลี่ย ขณะที่ พล.อ.ท.ธนพันธุ์ บอกว่าการฟ้องร้องเป็นการหาข้อสรุปในปัญหาการตีความกฎหมายไม่เหมือนกัน เป็นการกระทำแบบมืออาชีพ  


ความไม่ลงรอยที่เกิดขึ้น ยังทำให้บอร์ดไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบายสำคัญ เพราะเกิดการตั้งแง่ ดึงรั้งกันไปมา ไม่ว่าจะเป็นวาระเรื่องการปรับโครงสร้างสำนักงาน การแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการกสทช. การอนุมัติโครงการที่ต้องใช้งบประมาณ ล้วนติดขัด  


หนักเข้า นพ.สรณ ในฐานะประธานบอร์ด ถึงขั้นดำริทดลองให้มีการถ่ายทอดเสียงการประชุมออกลำโพงไปทั่วสำนักงาน กสทช. เพื่อความโปร่งใส และอยากให้มีผู้ฟังเป็นประจักษ์พยาน โดยเฉพาะสื่อมวลชน ซึ่งตกอยู่ในสภาพ “กลางเขาควาย” ไม่ต่างจากพนักงาน กสทช. ที่ล้วนอึดอัด คับข้องใจ และไม่อยากเลือกข้าง 


แรกเริ่มเดิมที บอร์ด กสทช.ชุดนี้มาพร้อมกับความคาดหวังเต็มเปี่ยม โปรไฟล์แต่ละคน มีความรู้ความสามารถเป็นที่ประจักษ์ แต่เมื่อต้องทำงานร่วมกัน รับหน้าที่บริหาร ขับเคลื่อนสำนักงาน กสทช. องค์กรระดับ A+ ซึ่งมีบุคลากรเก่งกาจเป็นจำนวนมากอย่างเข้มแข็ง บอร์ดกลับไม่สามารถแสดงศักยภาพออกมาได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะทักษะในการทำงาน บริหารเป็นทีม  


หากไม่พยายามปรับ นับว่าน่าเป็นห่วงมาก 

ติดตามข่าวสารอัปเดต เศรษฐกิจ เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจในประเทศ บทวิเคราะห์เศรษฐกิจ ล่าสุด ได้ที่นี่

ข่าวเศรษฐกิจ : https://www.thairath.co.th/money/economics 

เศรษฐกิจนในประเทศ : https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ

เศรษฐกิจโลก : https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ 


Author

ศุภิกา ยิ้มละมัย

ศุภิกา ยิ้มละมัย
ข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ