ภารกิจเร่งด่วน “ขุนคลัง” คนที่ 64

Experts pool

Columnist

Tag

ภารกิจเร่งด่วน “ขุนคลัง” คนที่ 64

Date Time: 8 ก.ย. 2566 19:04 น.

Video

ทางรอดเศรษฐกิจไทยในยุค AI ครองโลก | 1st Anniversary Thairath Money

Summary

  • เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนที่ 64 ในประวัติศาสตร์กว่า 40 ปี ของกระทรวงการคลังที่นายกฯ นั่งควบตำแหน่ง รมว.คลัง พ่วง 2 รมช. จากอดีตปลัดคลัง และจากคนพรรคเดียวกัน มีภารกิจใดรออยู่บ้าง กับความท้าทายทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้

Latest


เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย ควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนที่ 64 ของประเทศไทย ถือเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 40 ปี ที่นายกรัฐมนตรีนั่งควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

จากที่ผ่านมาจะมีเพียงรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลด้านเศรษฐกิจเท่านั้น ที่นั่งควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพราะลักษณะงานใกล้เคียงกัน ทำให้มีความเห็นหลากหลายเกี่ยวกับการนั่งควบตำแหน่งของนายเศรษฐา ด้วยเหตุผลภาระหน้าที่การบริหารประเทศและบริหารเศรษฐกิจ จะเป็นภาระอันหนักหน่วงเกินไปสำหรับ “เศรษฐา ทวีสิน” ในฐานะนายกรัฐมนตรีมือใหม่ทางการเมือง

แต่หลายฝ่ายคลายกังวล เมื่อมีชื่อนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการคลัง อีกทั้งเคยเป็นปลัดกระทรวงการคลัง จะเข้ามาช่วยเหลือบริหารงานด้วย จึงพอเบาใจได้ เพราะถือว่าเป็นมือดีบริหารงานได้ รู้งานทุกด้านในกระทรวงการคลัง

ส่วนนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการคลัง จะเข้ามาช่วยบริหารงานการคลัง และประสานงานการเมืองด้วย น่าจะแบ่งเบาภาระหน้าที่ของ รมว.คลังได้ และในห้วงเวลาที่รัฐบาล ต้องการเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนระบบเศรษฐกิจ ช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของประชาชน

ในขณะที่งบประมาณปี 2567 มีความล่าช้าผนวกกับนโยบายของพรรคเพื่อไทย ที่ต้องการเร่งออกมาตรการตามที่ได้ประกาศหาเสียงไว้ จึงต้องการมือขวาที่เข้ามาทำงานแบบขานรับนโยบายรัฐบาล จึงจำเป็นต้องมี “รมช.คลัง” ที่มาจากการกระทรวงการคลัง เพื่อความรวดเร็วในการดำเนินงาน

ภารกิจเร่งด่วนรัฐมนตรีคลังคนใหม่

สำหรับภารกิจเร่งด่วน ที่ต้องดำเนินการตามลำดับ ดังนี้ การแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงในกระทรวงการคลัง เพื่อวางกำลังพลมาช่วยเป็นมือเป็นไม้ ในการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่ได้ประกาศหาเสียงไว้ เนื่องจากวันที่ 30 ก.ย.นี้จะมีผู้บริหารระดับสูงเกือบ 10 ตำแหน่งที่จะเกษียณอายุ รวมถึงตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลัง ที่ขณะนี้ “ว่างเว้นไว้” เพราะนายกฤษฎา ได้ลาออกไปรับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

ดังนั้นการปรับโยกย้ายภายในกระทรวงการคลังครั้งนี้ จะเป็นการโยกย้ายครั้งใหญ่ และรัฐบาลจะได้คนของตัวเอง แต่งตั้งเอง มาช่วยขับเคลื่อนงานกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดผลสำเร็จ

สำหรับตำแหน่งระดับสูงในกระทรวงการคลัง ที่ถูกจับตามองมากสุด คือ ปลัดกระทรวงการคลัง และ 3 กรมภาษี คือ กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร เพราะถือเป็นหน่วยงานที่เป็นเครื่องหมายเครื่องมือในการบริหารงานกระทรวงการคลัง และช่วยรัฐบาลขับเคลื่อนนโยบายได้เป็นอย่างดี

โดยเฉพาะตำแหน่ง “ปลัดกระทรวงการคลัง” นั้น หนีไม่พ้น “นายลวรณ แสงสนิท” อธิบดีกรมสรรพากรในปัจจุบัน เพราะถือเป็นคนใกล้ชิดนายกฤษฎา ซึ่งได้แสดงฝีไม้ลายมือในการดำเนินโครงการและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลายชิ้นงาน โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา

ทั้งการผลักดันการให้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมไร้เงินสด ผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง  มาตรการคนละครึ่ง การแจกเงินช่วยเหลือประชาชนในช่วงวิกฤติโควิด เป็นต้น

การเร่งรัดปรับปรุง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้าไปเกือบ 8 เดือน ให้มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย เพื่อให้มีเม็ดเงินจากงบประมาณการลงทุนของภาครัฐ เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว และต้องทำควบคู่ไปกับการวางกรอบงบประมาณปี 2568 เพื่อให้การบริหารงานประเทศมีความต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันจะต้องเร่งเดินหน้าแก้ปัญหาปากท้องประชาชน ผ่านการลดค่าครองชีพต่างๆ ที่ได้ประกาศหาเสียงไว้ ทั้งลดค่าน้ำ ค่าไฟ น้ำมัน และค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ซึ่งเกี่ยวข้องกับกระทรวงการคลังทั้งสิ้น

นอกจากนี้ ยังมีนโยบายเพิ่มรายได้ภาคแรงงานและการจ้างงาน ที่พรรคเพื่อไทยได้ประกาศไว้ ต้องเห็นผลภายในปี 2570 คือ ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน   เงินเดือนคนจบปริญญาตรีเริ่มต้นที่ 25,000 บาท ทุกครอบครัวมีรายได้ไม่น้อยกว่า 20,000 ต่อเดือน

การปรับเพิ่มเบี้ยคนชรา จากปัจจุบันต้องใช้เงินงบประมาณ 80,000-90,000 ล้านบาท การปรับเพิ่มสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) ที่ปัจจุบันมีผู้ได้รับสิทธิ 13.80 ล้านบาท ใช้เงินงบประมาณราว 40,000 ล้านบาท เป็นต้น เพื่อนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมไทยในอนาคตอันใกล้

สำหรับการแจกเงินดิจิทัล (Digital Wallet) 10,000 บาทนั้น นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ประกาศชัดเจนว่า จะแจกครั้งเดียว และตั้งเป้าดำเนินการในเดือน ก.พ. 2567 ทำให้ประชาชนเฝ้ารอวันรับเงินดิจิทัล 10,000 บาท 

ซึ่งขณะนี้เริ่มมีความชัดเจนเป็นลำดับ เช่น ห้ามนำไปซื้อสินค้าอบายมุข ห้ามนำไปใช้หนี้ ไม่สามารถนำไปแลกเป็นเงินสดได้ โดยบุคคลที่จะนำไปขึ้นเงินสดได้ ต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษีเท่านั้น

และที่สำคัญสุดคือ จะนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ และจะมีซุปเปอร์แอปพลิเคชันรองรับ จะไม่ได้ใช้งานผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตังแต่อย่างใด เพื่อให้เทคโนโลยี Blockchain ติดตามตรวจสอบการใช้เงินจนถึงคนสุดท้ายที่ไปขึ้นเงิน

ประเมินแหล่งที่มา 5.6 แสนล้าน แจกเงินดิจิทัลหมื่นบาท

นโยบายแจกเงินดิจิทัล จะเป็นการใช้เงินจากหลายส่วน ทั้งจากเงินงบประมาณ และการจัดเก็บรายได้ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่า จะใช้เงินจากแหล่งใด เฉพาะการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท สำหรับคนไทยทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ที่มีอยู่ 56 ล้านคน ใช้เงินงบประมาณราว 560,000-600,000 ล้านบาท โดยรัฐบาลย้ำชัดอีกครั้งว่า มีเงินแน่นอน

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากแหล่งเงินที่สามารถนำมาใช้อย่างรวดเร็ว คือ งบกลางหรือเงินสำรองจ่ายเพิ่มกรณีฉุกเฉิน ซึ่งในปีงบประมาณ 2566 ได้ตั้งงบประมาณไว้ 92,400 ล้านบาท ขณะนี้ได้อนุมัติจ่ายไปแล้ว 60,000 ล้านบาท คงเหลือกว่า 30,000 ล้านบาท

ส่วนงบประมาณปี 2567 ได้ตั้งงบประมาณไว้ที่ 93,000 ล้านบาท ดังนั้นเท่ากับว่า รัฐบาลจะมีวงเงินที่สามารถใช้ได้ราว 960,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายเงินวงเงินงบประมาณนั้น ต้องคำนึงถึงวินัยการเงินการคลัง ตามที่ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด โดยรัฐต้องดําเนินนโยบายการคลัง การจัดทํางบประมาณ การจัดหารายได้ การใช้จ่าย การบริหารการเงินการคลัง และการก่อหนี้ อย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใสและตรวจสอบได้ ตามหลักการรักษาเสถียรภาพและการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และหลักความเป็นธรรมในสังคม 

ดังนั้นต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่ารัฐบาลนาวา “เศรษฐา ทวีสิน” จะนำเงินมาจากแหล่งใดมาใช้จ่ายตามนโยบายดังกล่าว จะใช้วิธีการลดงบประมาณจากหน่วยราชการ รายการใด, การเพิ่มการจัดเก็บรายได้ ด้วยการปรับโครงสร้างภาษี ปฎิรูปภาษีรูปแบบใด เพื่อนำเงินมาดำเนินการตามนโยบายที่ได้ประกาศหาเสียงไว้อย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นโปรดติดตามอย่างใกล้ชิด!!!

ติดตามข่าวสารอัปเดต เศรษฐกิจ เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจในประเทศ บทวิเคราะห์เศรษฐกิจ ล่าสุด ได้ที่นี่

ข่าวเศรษฐกิจ : https://www.thairath.co.th/money/economics 

เศรษฐกิจนในประเทศ : https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ

เศรษฐกิจโลก : https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ 


Author

ดวงพร อุดมทิพย์

ดวงพร อุดมทิพย์
ข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ