เหล็กไทยสู้เหล็กจีน

Experts pool

Columnist

เจริญสุข ลิมป์บรรจงกิจ

เจริญสุข ลิมป์บรรจงกิจ

Tag

เหล็กไทยสู้เหล็กจีน

Date Time: 4 ส.ค. 2566 19:54 น.

Video

แก้เกมหุ้นไทยตกต่ำ ประธานตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดแผนฟื้นความเชื่อมั่น | Money Issue

Summary

  • อุตสาหกรรมเหล็ก นับเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาของประเทศ เพราะเหล็ก เป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำในการผลิตอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่มีส่วนสำคัญในการขยายตัวของเศรษฐกิจ อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมก่อสร้าง เป็นต้น การส่งเสริมและปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐาน และเป็นหนึ่งใน “เส้นเลือดใหญ่” ของอุตสาหกรรมในประเทศ

Latest


หากปล่อยให้อุตสาหกรรมเหล็กในประเทศล่มสลาย ด้วยการปล่อยให้มีการนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศ ไม่มีการคุ้มครองดูแลผู้ผลิตในประเทศ ก็เท่ากับตัดเส้นเลือดใหญ่ของอุตสาหกรรม ทำให้ไทยต้องกลายเป็นประเทศที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าเพียงอย่างเดียว เหมือนการยืมจมูกคนอื่นหายใจ

ดังนั้น แม้ว่าท่าทีล่าสุดของคณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน (ทตอ.) ที่มี รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน ได้เห็นชอบในการต่ออายุมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) สำหรับสินค้าเหล็กจาก 6 ประเทศที่ถือเป็นผู้ผลิตและทุ่มตลาดรายใหญ่ของโลก

แต่ก็ยังคงต้องจับตามองรัฐบาลใหม่ โดยเฉพาะ รมว.พาณิชย์ คนใหม่ จะมีท่าทีอย่างไรในเรื่องนี้

เพราะผู้ผลิตสินค้าเหล็กรายใหญ่ของโลกทั้ง 6 ประเทศ โดยเฉพาะจีน ซึ่งมีกำลังการผลิตเหล็กล้นเกินความต้องการในประเทศนั้น ยังคงมีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการจะให้ไทยยกเลิกการต่อมาตรการเอดีสินค้าเหล็ก

“นาวา จันทนสุรคน” ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ชี้ว่าจากการที่ช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ความต้องการใช้เหล็กของประเทศไทยมีการปรับตัวในทิศทางบวก ทำให้เหล็กจีนมีความพยายามอย่างยิ่งยวดในการหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด ส่งผลให้การใช้กำลังการผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศไทยถดถอยลง

โดยในครึ่งแรกของปี 2566 ประเทศจีนซึ่งเป็นผู้ผลิตและผู้ใช้เหล็กอันดับหนึ่งของโลก มีความต้องการใช้เหล็กภายในประเทศจีนเองราว 492 ล้านตัน ลดลง 2.2% แต่การผลิตเหล็กดิบของจีนกลับสวนทางเพิ่มขึ้น 1.3% โดยจีนได้ส่งออกสินค้าเหล็กมากกว่า 45 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 43.7% จากช่วงเดียวกันของปี 2565 อย่างไรก็ตาม ด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนที่อาจเริ่มเห็นผลในครึ่งหลังของปี 2566 อาจส่งผลให้ความต้องการใช้เหล็กในประเทศจีน น่าจะใกล้เคียงปี 2565 หรือบวกลบไม่เกิน 1%

ทั้งนี้ สินค้าเหล็กยังเป็นสินค้าที่มีการทุ่มตลาดมูลค่ามากที่สุดของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทุ่มตลาดจากประเทศจีน โดยหากยังเป็นไปตามแนวโน้มนี้ มีโอกาสที่จีนจะส่งออกสินค้าเหล็กในปี 2566 มากกว่า 90 ล้านตัน หลังจากเคยทำสถิติส่งออกสูงสุดในปี 2559 มากถึง 108.4 ล้านตัน

โดยปริมาณส่งออกมากสุดมักจะทุ่มตลาดมาที่อาเซียนราว 40 ล้านตัน เนื่องจากระยะทางที่ใกล้และมาตรการปกป้องของอาเซียนยังมีช่องโหว่ และไม่เข้มข้นรวดเร็วดังเช่นภูมิภาคอื่นๆ ในโลก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยมีการใช้มาตรการทางการค้าเพียงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping) เท่านั้น และยังไม่เคยใช้มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยง (Anti-Circumvention) มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty) ซึ่งประเทศอื่นๆ ใช้กันมานานแล้ว

สำหรับความต้องการใช้เหล็กของประเทศไทย ช่วงครึ่งแรกของปี 2566 มีปริมาณ 8.6 ล้านตัน เพิ่มขึ้นราว 2% โดยสัดส่วนตลาดเป็นเหล็กทรงแบน 5.3 ล้านตัน และเหล็กทรงยาว 3.3 ล้านตัน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 62% และ 38% ของปริมาณความต้องการทั้งหมด

ปัญหาที่ต้องติดตามใกล้ชิดและแก้ไขเร่งด่วน คือ สินค้าเหล็กนำเข้าในครึ่งแรกของปี 2566 ที่มีปริมาณมากเกือบ 6 ล้านตัน ซึ่งเพิ่มขึ้น 16% ในขณะที่อุตสาหกรรมเหล็กในประเทศไทยผลิตเหล็กเพียง 3.4 ล้านตัน ถดถอยลงเกือบ 15% จากช่วงเดียวกันของปี 2565 เป็นการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยเพียง 28.6% จากกำลังการผลิตที่มีอยู่ทั้งหมดของอุตสาหกรรมเหล็กไทย ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำมากๆ

หากสถานการณ์ยังย่ำแย่เช่นนี้ จะกระทบต่อความยั่งยืนของอุตสาหกรรมเหล็กไทย และประเทศไทยมีความเสี่ยงสูงที่จะขาดความสามารถในการพึ่งพาการผลิตเหล็กด้วยตนเอง (Self-sufficiency in steel production) และกระทบห่วงโซ่อุปทานหากเกิดเหตุจำเป็นขึ้น

เรื่องนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ส.อ.ท. ได้ประสานและทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการคลัง เพื่อแก้ไขปัญหาที่ประสบ และยกระดับพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

โดยทุกฝ่ายตระหนักว่าอุตสาหกรรมผลิตเหล็กในประเทศ ซึ่งได้มีการลงทุนและสินทรัพย์กว่า 4 แสนล้านบาท  เป็นเสาต้นหนึ่งของการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้น มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ต่อการแข่งขันของประเทศไทย  เพราะเหล็กที่ผลิตโดยอุตสาหกรรมภายในประเทศไทย มีการใช้จ่ายเงินภายในประเทศ ทั้งค่าจ้างงาน ค่าแปรรูป ค่าพลังงาน ค่าวัตถุดิบ วัสดุต่างๆ และอื่นๆ หลายพันถึงหลายหมื่นบาทต่อตัน สามารถช่วยเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศไทยได้นับมูลค่าแสนล้านบาทต่อปี

ในขณะที่เหล็กนำเข้าไม่ช่วยให้เกิดการใช้จ่ายหมุนเวียนทางเศรษฐกิจเทียบเท่าเหล็กผลิตในประเทศ   

“นาวา” ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ยังย้ำว่าในกระแสลดโลกร้อนจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate change) สินค้าเหล็กยังเป็นสินค้าที่ช่วยลดโลกร้อนได้ เพราะเหล็กสามารถนำกลับมาใช้ (Recycle) ได้ 100% และสามารถใช้ซ้ำได้ไม่รู้จบ (Infinitely recycled) 

ถ้าประเมินด้านวงจรอายุการใช้งาน (Life cycle assessment) ที่แข็งแรงยาวนานกว่าของผลิตภัณฑ์เหล็กแล้ว สินค้าเหล็กช่วยลดก๊าซเรือนกระจกตลอดช่วงอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่า โดยสมาคมเหล็กโลก (World Steel Association) ประเมินว่าเหล็กที่ถูกนำไปใช้ในรูปแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั่วโลก เช่น ในอาคาร สิ่งปลูกสร้าง ยานยนต์ เฟอร์นิเจอร์ อื่นๆ และปัจจุบันก็ยังใช้งานได้ต่อเนื่อง เป็นส่วนของปริมาณเหล็กราว 2.5 หมื่นล้านตัน

ทั้งนี้ ด้วยกระบวนการผลิตและแหล่งพลังงานของการผลิตเหล็กในประเทศไทย คือ ไฟฟ้า น้ำมัน และก๊าซ  ซึ่งโรงงานเหล็กต่างๆ ส่วนใหญ่ในประเทศไทย ต่างก็ให้ความสนใจช่วยลดการปล่อยคาร์บอน โดยการลดใช้พลังงาน และพยายามหาพลังงานทางเลือกต่างๆ มาเสริม ได้แก่ พลังงานจากแสงอาทิตย์ ตลอดจนการศึกษาวิจัยเพื่อใช้พลังงานทางเลือกอื่นๆ

โดยบริษัทเหล็กในประเทศไทยหลายโรงงานก็ดำเนินมาตรการด้วยมาตรฐานที่สูง และบางโรงงานได้รับรางวัล ASEAN Energy Efficiency and Conservation Best Practices Awards 2023 ด้วย

“ดังนั้นการปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ นอกจากจะมีส่วนช่วยให้อุตสาหกรรมไทยสามารถหยัดยืนบนลำแข้งของตัวเอง หนุนส่งให้เศรษฐกิจของประเทศยังมีความแข็งแกร่ง เกิดเม็ดเงินสะพัดหมุนเวียนในประเทศ และการจ้างงานมหาศาลแล้ว ยังช่วยในเรื่องการรักษ์โลกอีกด้วย”


Author

เจริญสุข ลิมป์บรรจงกิจ

เจริญสุข ลิมป์บรรจงกิจ
ข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ