สิงคโปร์ใช้กฎใหม่ให้อำนาจตำรวจสั่งธนาคารระงับบัญชีก่อนคนถูกหลอก พบเหยื่อหลายรายไม่เชื่อแม้ถูกเตือน

Economics

World Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

สิงคโปร์ใช้กฎใหม่ให้อำนาจตำรวจสั่งธนาคารระงับบัญชีก่อนคนถูกหลอก พบเหยื่อหลายรายไม่เชื่อแม้ถูกเตือน

Date Time: 8 ม.ค. 2568 15:56 น.

Video

ลายเส้นสะท้อนตัวตนเบียร์ “The Brewing Project“ | BrandStory Special EP x เมรัยไทยแลนด์

Summary

  • สิงคโปร์ผ่านกฎหมายใหม่ อนุญาตให้ตำรวจสามารถออกคำสั่งไปยังธนาคาร เพื่อขอควบคุมบัญชีธนาคารของ “เหยื่อ” หรือผู้ที่ “อาจตกเป็นเหยื่อ” ทั้งนี้เพื่อจำกัดไม่ให้เหยื่อโอนเงินออกจากบัญชี และเพื่อป้องกันความเสียหายทางการเงินเพิ่มเติม ซึ่งสิงคโปร์นับว่าเป็นประเทศแรกที่ใช้มาตรการนี้

สิงคโปร์ผ่านกฎหมายใหม่ อนุญาตให้ตำรวจสามารถออกคำสั่งเพื่อขอควบคุมบัญชีธนาคารของ “เหยื่อ” หรือผู้ที่ “อาจตกเป็นเหยื่อ” ทั้งนี้เพื่อจำกัดไม่ให้เหยื่อโอนเงินออกจากบัญชี และเพื่อป้องกันความเสียหายทางการเงินเพิ่มเติม ซึ่งสิงคโปร์นับว่าเป็นประเทศแรกที่ใช้มาตรการนี้

กฎหมายดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจในการออก Restriction Order หรือการออกคำสั่งห้าม ในที่นี้คือการออกคำสั่งไปยังธนาคาร เพื่อจำกัดการโอนเงินของบุคคลที่ตำรวจเชื่อว่ามีความเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อหลอกลวง โดยจะพิจารณาจากพฤติกรรมและหลักฐานต่าง ๆ

Sun Xueling รัฐมนตรีของกระทรวงมหาดไทยของสิงคโปร์ เผยว่า ปัจจุบันยังมีเหยื่อจำนวนมากที่ไม่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ แม้จะมีครอบครัว เพื่อน คนรอบข้าง ธนาคาร หรือแม้แต่ตำรวจคอยเตือนก็ตาม สุดท้ายเหยื่อจะมารู้ตัวอีกทีว่าถูกหลอกก็ต่อเมื่อโอนเงินออกนอกประเทศไปแล้ว

จากสถิติในช่วงเดือนมกราคมถึงกันยายนปี 2024 ที่ผ่านมา พบว่า 86% ของรายงานคดีหลอกลวง คือ การที่เหยื่อถูกหลอกโอนเงิน และคิดเป็นความเสียหายกว่า 94% ของความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด นอกจากนี้ ยังพบอีกว่า ปี 2024 มียอดความเสียหายในสิงคโปร์เพิ่มขึ้นกว่า 40% จากปีก่อนหน้า

ด้วยเหตุนี้ ส่งผลให้สิงคโปร์ต้องเร่งออกมาตรการเข้ามาเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นด้วยการออกกฎหมายให้ตำรวจเข้าไปจัดการ ออกคำสั่งถึงธนาคาร ให้ทำการระงับธุรกรรมทุกประเภทจากบัญชีของเหยื่อ รวมถึงการใช้บัตรเครดิตและบัตรเอทีเอ็ม แต่เหยื่อยังสามารถขออนุมัติถอนเงินจำนวนจำกัดเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ตลอดจนค่ารักษาพยาบาล และเบี้ยประกัน

คำสั่งดังกล่าวจะมีกำหนดระยะเวลาที่ 30 วัน แต่หากตำรวจพิจารณาว่าเหยื่อยังเสี่ยงต่อการโอนเงินให้มิจฉาชีพ อาจขยายคำสั่งได้อีกครั้งละ 30 วัน สูงสุด 5 ครั้ง หรือถ้าพบว่าไม่ได้มีความเสี่ยงแล้วสามารถถอนคำสั่งก่อน 30 วันได้เช่นกัน

การออกคำสั่งนี้จะเป็นการตัดสินใจของตำรวจแต่เพียงผู้เดียว โดยอ้างอิงจากข้อเท็จจริงและสถานการณ์เฉพาะแต่ละกรณี แม้จะพิจารณาความต้องการของเหยื่อและครอบครัว แต่ตำรวจจะเป็นผู้ตัดสินใจขั้นสุดท้าย

อย่างไรก็ตาม คำสั่งดังกล่าวส่งผลให้สิงคโปร์ถูกมองว่าเป็น “Nanny State” หรือเป็นประเทศที่รัฐใช้อำนาจมาแทรกแซงประชาชนมากจนเกินควร ด้าน Sun Xueling จึงได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า คำสั่งนี้จะเป็น “ทางเลือกสุดท้าย” จะนำมาใช้ก็ต่อเมื่อได้พยายามทุกวิถีทางแล้วแต่เหยื่อยังไม่ตระหนักว่าตัวเองกำลังถูกหลอก

ที่มา: Nikkei Asia

ติดตามเพจ Facebook: Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ