กลต.ออสเตรเลีย ยื่นฟ้อง HSBC ปล่อยมิจฉาชีพหลอกเงินลูกค้า เสียหายกว่า 23 ล้านดอลลาร์

Economics

World Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

กลต.ออสเตรเลีย ยื่นฟ้อง HSBC ปล่อยมิจฉาชีพหลอกเงินลูกค้า เสียหายกว่า 23 ล้านดอลลาร์

Date Time: 16 ธ.ค. 2567 13:16 น.

Video

โมเดลธุรกิจ Onlyfans ทำไมถึงมีแต่ได้กับได้ ? บริษัทมั่งคั่ง คนทำก็รวย | Digital Frontiers

Summary

  • กลต.ออสเตรเลีย เอาจริง จี้แบงก์ ปราบภัยทางการเงิน ยื่นฟ้องธนาคาร HSBC ปล่อยมิจฉาชีพหลอกเงินลูกค้า รวม 5 ปี มูลค่าความเสียหายกว่า 23 ล้านดอลลาร์

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และการลงทุนออสเตรเลีย (ASIC) หรือ กลต.ออสเตรเลีย ยื่นฟ้องธนาคาร HSBC ต่อศาลรัฐบาลกลาง โดยกล่าวว่าธนาคารล้มเหลวในการปกป้องลูกค้าจากมิจฉาชีพ เนื่องจากระบบควบคุมการฉ้อโกงมีช่องโหว่ ส่งผลให้ลูกค้าชาวออสเตรเลียหลายราย สูญเสียเงินหลายสิบล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ระหว่าง มกราคม ปี 2564 - สิงหาคม ปี 2567 ธนาคาร มีรายงานธุรกรรม ที่ไม่ได้รับอนุญาตประมาณ 950 รายการ โดยลูกค้าถูกมิจฉาชีพหลอกเอาเงิน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 23 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(785 ล้านบาท)

โดยมูลค่าความเสียหายมากกว่าครึ่งหนึ่ง หรือเกือบ 16 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(546 ล้านบาท) เกิดขึ้นในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ระหว่างตุลาคม ปี 2566-มีนาคม ปี 2567 ซึ่งเป็นช่วงที่ลูกค้าของธนาคารมีรายงานการโดนหลอกมากที่สุด

นอกจากนี้ธนาคารยังใช้เวลาตรวจสอบธุรกรรมและให้ความช่วยเหลือลูกค้าล่าช้า โดยใช้เวลาโดยเฉลี่ยถึง 145 วันในการตรวจสอบธุรกรรมผิดปกติ และใช้เวลา 95 วันในการปลดล็อกบัญชี โดยลูกค้ารายหนึ่งต้องรอถึง 542 วันจึงจะสามารถเข้าถึงบัญชีได้อีกครั้ง

ทั้งนี้ตามกฎหมายธนาคารต้องดำเนินการตรวจสอบรายงานธุรกรรมที่ไม่ได้รับอนุญาตภายใน 21 วัน และภายใน 45 วันในกรณีพิเศษ

Sarah Court รองประธาน ASIC กล่าวในแถลงการณ์ว่า “ความล้มเหลวของ HSBC Australia เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายและเป็นระบบ และธนาคารก็ล้มเหลวในการปกป้องลูกค้า”

"ธนาคารทั้งหมดจําเป็นต้องให้ความสำคัญในการต่อสู้กับการฉ้อโกงทางการเงิน เราไม่ลังเลที่จะดําเนินการในชั้นศาล หากธนาคารไม่ปฏิบัติตามภาระผูกพันในการปกป้องลูกค้าของพวกเขา”

ทั้งนี้การประกาศยื่นฟ้อง HSBC เกิดขึ้นหลังจากที่มีลูกค้าของธนาคารร้องเรียน มายัง ASIC ทำให้มีการสอบสวนจนพบว่าธนาคาร ล่าช้าในการจัดการกับมิจฉาชีพ ซึ่งใช้กลโกงคล้ายเดิมในการขโมยเงินจากลูกค้าหลายร้อยราย ในช่วงเวลาอย่างน้อย 10 เดือน ระหว่างปี 2566- 2567

โดยมักแอบอ้างเป็นธนาคารหรือเจ้าหน้าที่ธนาคาร ด้วยการปลอมแปลงเบอร์โทร ส่งข้อความหรือโทรไปหาลูกค้า แสร้งทำเป็นแจ้งเตือนว่าตรวจพบธุรกรรมผิดปกติ และโน้มน้าวให้ลูกค้า บอกข้อมูลสำคัญในการยืนยันตัวตน เข้าสู่บัญชีธนาคาร เพื่อดำเนินการป้องกันบัญชี แต่แท้จริงแล้วเป็นการหลอกเอาเงิน

Stephen Jones(สตีเฟน โจนส์) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงบริการทางการเงิน กล่าว่า เป็นไปได้ว่ากลุ่มอาชญากรจากต่างประเทศ หลายกลุ่มอยู่เบื้องหลังการฉ้อโกงแอบอ้างเป็นธนาคาร HSBC โดยซื้อข้อมูลที่ขโมยมาและมีศูนย์กระจายสาย เหมือนกับการทำงานของ call center

ก่อนหน้านี้ในเดือนสิงหาคมหลังจากที่สำนักงานรับเรื่องร้องเรียนทางการเงินของออสเตรเลีย(AFCA) กำหนดให้ธนาคารต้องรับผิดชอบจ่ายเงินคืนเต็มจำนวนให้กับผู้เสียหายที่ถูกหลอกเอาเงิน และจ่ายค่าชดเชยเพิ่มเติมที่ปล่อยให้มีช่องโหว่ใช้รหัสเข้าสู่บัญชีธนาคาร

HSBC ได้มีการปรับปรุงระบบป้องกันการฉ้อโกงและการหลอกลวง รวมถึงเพิ่มการแจ้งเตือนทาง SMS สำหรับลูกค้าที่ทำธุรกรรมมูลค่ามากกว่า 500 ดอลลาร์สหรัฐฯ จำกัดการชำระเงินในแพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลบางประเภท และเพิ่มจำนวนบุคลากร 70 คนในทีมป้องกันการฉ้อโกงและการหลอกลวง

นอกจากนี้ธนาคารยังได้ลงทะเบียนหมายเลขโทรศัพท์ของธนาคารเพื่อให้บริษัทโทรคมนาคมสามารถบล็อกการโทรออกและป้องกันการปลอมแปลงได้

ที่มา

ติดตามข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศ กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ