รัฐดันแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจรายปีเข้าบอร์ดเศรษฐกิจ ตั้งแต่กระตุ้นการใช้จ่ายเป็นของขวัญปีใหม่ไปจนถึงดิจิทัลวอลเล็ตเฟสใหม่ ลุ้นปรับโครงสร้างหน้ารายย่อยด้วยการลดดอกเบี้ยและพักหนี้
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า รัฐบาลเตรียมเสนอแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจรายปี โดยเริ่มตั้งแต่ของขวัญปีใหม่ช่วงสิ้นปีนี้ต่อเนื่องถึงตลอดทั้งปีหน้า เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่มี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในวันที่ 19 พ.ย.นี้ โดยจะกำหนดเป็นกรอบไทม์ไลน์ไว้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง โดยอาจจะแบ่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบรายธุรกิจ รวมถึงการเสนอให้เดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตระยะถัดไป มาตรการแก้หนี้ภาคประชาชน ตลอดจนมาตรการของขวัญปีใหม่ที่จะเกิดขึ้นในปลายปีนี้ ทั้งนี้ในการหารือคงไม่ใช่แค่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของกระทรวงการคลังเพียงกระทรวงเดียว แต่เป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของกระทรวงต่างๆด้วย เช่น กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น เพื่อให้สามารถมองเห็นกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจปีหน้าว่าจะเดินไปทางไหน อย่างไร
สำหรับเงินที่จะใช้ในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น จะใช้ที่มาแบบผสมผสาน ไม่ได้มาจากแหล่งเงินในงบประมาณเพียงแหล่งเดียว โดยส่วนหนึ่งมาจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในปีงบประมาณ 68 ที่กำหนดวงเงินไว้ 180,000 ล้านบาท และบางโครงการไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณ รวมถึงบางส่วนเป็นโครงการของสถาบันการเงินของรัฐ ที่อยู่ในบัญชีกิจการของรัฐ หรือพีเอสเอ
นายจุลพันธ์กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการกระตุ้นเศรษฐกิจ จะมีการประชุมต่อเนื่อง ซึ่งจะมีความคืบหน้าไปเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้น โดยไตรมาส 4 จะขยายตัวดีกว่าเดิม แต่รัฐบาลจะไม่หยุดแค่นี้ เพราะยังมีอีกหลายกลุ่มอุตสาหกรรมที่ยังมีปัญหา เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ โดยเฉพาะรถกระบะ หรือภาคอสังหา ริมทรัพย์ที่ยังมีการชะลอตัว แม้ว่ามาตรการแจกเงิน 10,000 บาท สำหรับคนถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและบัตรคนพิการ 14.5 ล้านคน จะได้ออกไปแล้วและมีการใช้จ่ายไปแล้วจำนวนมากก็ตาม
นอกจากนี้ ในการประชุมจะพิจารณามาตรการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยของสถาบันการเงิน ด้วยการพักดอกเบี้ยและลดค่างวด โดยที่กระทรวงการคลังจะยอมให้สถาบันการเงินลดเงินนำส่งเข้ากองทุนเอฟไอดีเอฟ และอีกส่วนหนึ่งมาจากทรัพยากรของสถาบันการเงินเอง ขณะเดียวกันรัฐบาลต้องการให้ลูกหนี้ที่เข้าโครงการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว สามารถกู้ยืมเงินใหม่ได้ เพราะในมุมมองของรัฐบาลนั้น ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่ว่าการเข้าถึงสินเชื่อแล้วจะก่อให้เกิดหนี้สิน และกลายเป็นหนี้เสียตามมา แต่เรามองว่าการเข้าถึงสินเชื่อนั้นช่วยสร้างโอกาสให้กับคน เพื่อให้เขากลับมายืนได้ด้วยตัวเอง.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่