83% ของคน Gen Z อยากทำงานเป็น แต่ไม่มีคนสอน  บริษัทมอง “อบรม” ได้ไม่คุ้มเสีย  ปล่อยเรียนรู้เอง

Economics

World Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

83% ของคน Gen Z อยากทำงานเป็น แต่ไม่มีคนสอน บริษัทมอง “อบรม” ได้ไม่คุ้มเสีย ปล่อยเรียนรู้เอง

Date Time: 16 พ.ย. 2567 12:55 น.

Video

3 มาตรการใหม่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คุมหุ้นร้อนผิดปกติ | Money Issue

Summary

  • บริษัทกำลังเจอวิกฤติ คนรุ่นใหม่ทำงานไม่เป็น เพราะไม่มีคนสอน มองพนักงานอยู่ไม่นาน จัดอบรมได้ไม่คุ้มเสีย เน้นปล่อยให้เรียนรู้เอง ประหยัดต้นทุน

Latest


ปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกการทำงานในปัจจุบันเต็มไปด้วยความกดดันรอบด้าน จากการแข่งขันที่สูงขึ้นเพราะถูกบีบด้วยเวลา การเข้ามาของเทคโนโลยีได้ผลักดันสภาพแวดล้อมการทำงานให้ต้องมีความยืดหยุ่น พร้อมปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ องค์กรไหนปรับตัวเร็วก็มีโอกาสอยู่รอดต่อไป ท่ามกลางวิกฤติ ดังนั้นเมื่อต้องคัดเลือกคนเข้ามาทำงาน องค์กรจึงมักเลือกคนที่มีประสบการณ์พร้อมทำงานมากกว่าเด็กจบใหม่หรือคนที่ไม่มีประสบการณ์เฉพาะทาง เพราะไม่ต้องเสียเวลาสอนงานใหม่ตั้งแต่ต้น

ด้วยแนวคิด “ทุกคนต้องพร้อมทำงาน” ทำให้หลายบริษัทแม้จะเปิดโอกาสรับเด็กจบใหม่หรือคนที่มีประสบการณ์ไม่ตรงสาย มักละเลยการอบรมพนักงาน ไม่มีการสอนงาน เน้นให้เรียนรู้ความผิดพลาดจากการลงมือทำแล้วหาทางออกเอง เพราะไม่อยากให้พนักงานที่มีประสบการณ์แล้วเสียเวลาทำงานมาสอนพนักงานใหม่ แนวคิดดังกล่าวแม้จะเป็นการผลักดันให้พนักงานตื่นตัวที่จะเรียนรู้งาน เร่งพัฒนาก้าวข้ามข้อจำกัดของตัวเองในเวลาสั้นๆ แต่ไม่ใช่พนักงานทุกคนที่จะเรียนรู้งานอย่างมีประสิทธิภาพภายใต้สภาพแวดล้อมที่กดดัน ปราศจากคำแนะนำที่เหมาะสม

ในช่วงหลังๆ เราจึงเห็น HR และคนทำงานระดับบริหารออกมาตำหนิ แสดงความผิดหวังต่อคนรุ่นใหม่ว่าทำงานไม่มีประสิทธิภาพเมื่อเทียบกับเงินเดือน ด้านคนรุ่นใหม่ก็ออกมาตอบโต้ว่า พวกเขาล้วนอยากประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน แต่หากขาดอบรมจากคนที่มีประสบการณ์ ก็เป็นเรื่องยากที่จะทำได้ สอดคล้องกับผลสำรวจของ Adobe ที่พบว่า 83% ของพนักงาน Gen Z กล่าวว่า การมีที่ปรึกษาในการทำงานมีความสำคัญต่อเส้นทางอาชีพของพวกเขาอย่างมาก อย่างไรก็ตามมี Gen Z เพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่มีที่ปรึกษา ไม่ใช่แค่คนรุ่นใหม่เท่านั้นที่ประสบปัญหาการสอนงาน ดัชนีวัดการมีส่วนร่วมของพนักงานของ Gallup พบว่า น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของพนักงานในสหรัฐฯ ที่รับรู้ว่าองค์กรคาดหวังอะไรจากการทำงานของพวกเขา การไม่ให้ความสำคัญกับการอบรมพนักงานใหม่ ไม่เพียงสร้างปัญหาการทำงานร่วมกันภายในทีม แต่เมื่อพนักงานไม่มีส่วนร่วมกับงาน อาจทำให้บริษัทสูญเสียรายได้ และยังทำให้โลกสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจมากถึง 8.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็น 9% ของ GDP โลก

สอนงานพนักงานใหม่ได้ไม่คุ้มเสีย

ทั้งนี้แนวคิดไม่สอนงานเพราะมองว่าการจัดอบรมพนักงานใหม่เป็นภาระด้านต้นทุนมีมานานแล้ว แต่ปัญหาดังกล่าวเริ่มรุนแรงมากขึ้นหลังโควิด ผลกระทบต่อเนื่องจากการล็อกดาวน์ หลายคนจึงหันมาทำงานในรูปแบบ work from home หรือแบบ Hybrid มากขึ้น โดยไม่ต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน โอกาสการทำงานที่เปิดกว้างมากขึ้น ทำให้หลายคนเปลี่ยนงานบ่อยและมีความภักดีต่อองค์กรน้อยลง ปัจจัยเหล่านี้ทำให้นายจ้างและองค์กรต้องคิดหนักว่าการลงทุนอบรมพนักงานนั้นคุ้มค่ากับผลลัพธ์ที่จะได้กลับมาแค่ไหนท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่แข่งขันสูง

ใช้เทคโนโลยีสอนคน ประหยัดต้นทุน แต่ไร้ประสิทธิภาพ

เมื่อเทียบกับการจ้างพนักงานระดับหัวหน้าเพิ่มเพื่อให้เพียงพอต่อการอบรมพนักงานใหม่ การลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อออกแบบระบบอบรมพนักงานนั้นมีต้นทุนน้อยกว่า หลายบริษัทมีความพยายามใช้ AI เพื่อช่วยให้คำแนะนำการทำงานกับพนักงาน บ้างก็มีการอัดวิดีโอการอบรมล่วงหน้าเพื่อให้พนักงานเรียนรู้ด้วยตัวเอง แต่ปัญหาใหญ่ก็คือ บริษัทมักลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อออกแบบระบบการอบรม โดยที่ไม่รู้เลยว่าระบบที่ลงทุนนั้นมีประสิทธิภาพและตอบสนองความต้องการของพนักงานแค่ไหน เมื่อเทียบกับการสอนงานแบบตัวต่อตัวแล้ว พนักงานจะมีส่วนร่วมในการเรียนรู้งานและพัฒนาทักษะได้ดีกว่า อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่จะทำงานกับองค์กรนานขึ้น เนื่องจากรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับทีม สอดคล้องกับผลสำรวจของบริษัทใน Fortune 500 ที่พบว่าส่วนใหญ่มีโปรแกรมหรือแอปพลิเคชันสำหรับอบรมพนักงาน แต่ไม่มีความชัดเจนว่ามีพนักงานเข้าร่วมการอบรมมากน้อยแค่ไหน

อ้างอิง

ติดตามข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศ กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ