พิษเศรษฐกิจ ฉุดยอดขายแบรนด์หรูทั่วโลก ตกต่ำสุดในรอบ 16 ปี  คนเน้นซื้อของจากคุณค่า มากกว่าราคา

Economics

World Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

พิษเศรษฐกิจ ฉุดยอดขายแบรนด์หรูทั่วโลก ตกต่ำสุดในรอบ 16 ปี คนเน้นซื้อของจากคุณค่า มากกว่าราคา

Date Time: 15 พ.ย. 2567 15:04 น.

Video

"CINDY CHAO The Art Jewel" สองทศวรรษอัญมณีศิลป์ | Brand Story Exclusive EP.4

Summary

  • "ตลาดแบรนด์หรู" ยังเหนื่อย พิษเศรษฐกิจ จ่อฉุดยอดขายวูบ 2% ต่ำสุดในรอบ 16 ปี แบรนด์แข่งดุ ปรับกลยุทธ์ขายตรง
  • เน้นสร้างประสบการณ์กับลูกค้า รับมุมมอง "ความลักชัวรี" วัดจากคุณค่าไม่ใช่ราคา

"ตลาดแบรนด์เนม" ยังเหนื่อยจากพิษเศรษฐกิจ รายงานล่าสุดจาก Bain & Company บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำในสหรัฐอเมริกา คาดการณ์ว่า ในปีนี้ยอดขายสินค้าลักชัวรีทั่วโลกจะหดตัว 2% มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยราคาสินค้าที่สูงขึ้นและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจทำให้ฐานลูกค้าน้อยลง

ปัจจุบันตลาดสินค้าลักชัวรีมีมูลค่า 386,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รายงานประเมินว่ายอดขายในจีนจะลดลง 20-22% ความต้องการจากตลาดใหญ่ที่ยังไม่ฟื้นเป็นปัจจัยหลักที่ฉุดให้ยอดขายแบรนด์เนม ตกต่ำลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ก่อนโควิด จีนถือเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่ผลักดันให้ตลาดสินค้าลักชัวรีเฟื่องฟูอย่างมาก เนื่องจากการขยายตัวของชนชั้นกลางและกลุ่มคนรวยที่มั่งคั่งจากเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ทั้งนี้การคาดการณ์ยอดขายดังกล่าวรวมผลความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว

โดยยอดขายสินค้าลักชัวรีทั่วโลก ซึ่งประกอบด้วยเสื้อผ้า เครื่องประดับ และผลิตภัณฑ์เสริมความงาม คาดว่าจะทรงตัวที่อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ตลอดช่วงเทศกาลวันหยุด โดยที่ยอดขายของจีนยังคงติดลบ

"นี่เป็นครั้งแรกที่ตลาดสินค้าลักชัวรีถดถอยนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินในปี 2008-2009 โดยไม่รวมช่วงโควิด" Federica Levato หุ้นส่วนของ Bain กล่าวกับ Reuters

การเปลี่ยนตำแหน่งทางการตลาดของเหล่าแบรนด์หรู เพื่อให้สามารถขายสินค้าในราคาสูงขึ้น ประกอบกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ตกต่ำลงจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นผลมาจากสงคราม วิกฤตเศรษฐกิจจีน และผลกระทบจากการเลือกตั้งทั่วโลก ส่งผลให้ลูกค้าจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ชะลอการซื้อสินค้าแบรนด์เนมออกไป

โดยฐานผู้บริโภคสินค้าลักชัวรีลดลง 50 ล้านคนในช่วงสองปีที่ผ่านมา จากทั้งหมดประมาณ 400 ล้านคน ปัจจุบันโอกาสเติบโตของตลาดขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ที่แบรนด์เลือกใช้ รวมถึงการกำหนดราคา ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ปัญหาค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นจากเงินเฟ้อได้กดดันกำลังซื้อและเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค โดยมองว่าคุณค่าของสินค้าแบรนด์เนมไม่ได้วัดจากราคา แต่วัดจากคุณค่าและประสบการณ์ที่มอบให้กับผู้ซื้อ ทำให้เหล่าแบรนด์หรูปรับกลยุทธ์ หันมาใช้โมเดลธุรกิจแบบ D2C เน้นขายสินค้าโดยตรงให้กับลูกค้าผ่านช่องทางของตัวเอง เช่น การขายผ่านช่องทางออนไลน์บนเว็บไซต์ของแบรนด์ หรือการขยายร้านบูติกไปตามเมืองต่างๆ ที่มีศักยภาพ เพื่อลดการพึ่งพาตัวกลาง อย่างตัวแทนจำหน่ายท้องถิ่น หรือห้างสรรพสินค้า

ทั้งนี้แม้ยอดขายผ่านช่องทางออนไลน์จะเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่เสน่ห์ของสินค้าลักชัวรีที่ขาดไม่ได้คือความเอ็กซ์คลูซีฟและการมอบประสบการณ์ในการช็อปปิ้งที่เหนือชั้นที่หาไม่ได้ในโลกออนไลน์ นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมการมีหน้าร้านถึงยังมีความสำคัญ โดย LVMH และ Prada ถือเป็นตัวอย่างแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จในการผสานช่องทางการขายทั้งออนไลน์และออฟไลน์

สำหรับแนวโน้มตลาดสินค้าลักชัวรีในปี 2568 รายงานคาดว่าตลาดจะมีอัตราการเติบโตที่ 0%-4% ที่ระดับอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ โดยได้รับแรงหนุนจากยอดขายในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ด้านยอดขายในจีนคาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี นอกจากนี้การกลับมาของโดนัลด์ ทรัมป์ ในฐานะประธานาธิบดี คาดว่าจะช่วยลดความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของสงคราม การเข้าสู่ดอกเบี้ยขาลงของเฟด และนโยบายลดภาษีเงินได้ของทรัมป์ คาดว่าจะช่วยกระตุ้นให้ชาวอเมริกันใช้จ่ายมากขึ้น

อ้างอิง

ติดตามข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศ กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ