ท่ามกลางสังคมไทย กำลังถกเถียงกันเกี่ยวกับประเด็นจรรยาบรรณของผู้ผลิตละครและภาพยนตร์ จากกรณีละครดัง “แม่หยัว” วางยาสลบแมวประกอบฉาก สะท้อนปัญหาการผูกขาดสาระความบันเทิงแบบไทยๆ ย่ำอยู่กับที่อย่างน่าเสียดาย
เจาะทิศทางนานาประเทศ อย่าง “ฮ่องกง” ที่อาจเรียกได้ว่า เป็นต้นแบบของอุตสาหกรรมบันเทิง (Entertainment Industry) จนกลายเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพสูงและได้รับความนิยมมาอย่างยาวนาน ผงาดขึ้นมาในฐานะมหาอำนาจแห่งความคิดสร้างสรรค์ในด้านภาพยนตร์นั้น
ฉายแววความโดดเด่นมากขึ้นเรื่อยๆ โดยบริษัทที่ปรึกษารายใหญ่ของโลก PWC วิเคราะห์ว่า อีกไม่กี่ปีข้างหน้า การเติบโตของธุรกิจในอุตสาหกรรมบันเทิงของฮ่องกงจะขยายตัวได้สูงกว่าภาพรวมทั่วโลกด้วยซ้ำ
ย้อนไป อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของฮ่องกงมีจุดเริ่มต้นจากการเล่นงิ้วฉบับกวางตุ้ง จากนั้นเริ่มพัฒนามาเป็นภาพยนตร์เงียบและมีเสียงพากย์ ภาพยนตร์ในยุคแรกๆ เริ่มต้นขึ้นในช่วงปี 2513 ส่วนมากจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับศิลปะการต่อสู้ และเริ่มปรับเปลี่ยนเรื่องราวมาเป็นแนวดราม่าอาชญากรรมในช่วงหลัง
ก่อเกิดผู้กำกับคนสำคัญอย่าง King Hu, John Woo และ Tsui Hark ที่สร้างภาพยนตร์ให้ดึงดูดผู้ชม ด้วยเทคนิคที่สร้างสรรค์และการเล่าเรื่องที่โดดเด่น ถือเป็นการเปิดศักราชทองของภาพยนตร์ในฮ่องกงที่จะดึงดูดผู้ชมทั่วโลก
ซึ่งต่อมามีอิทธิพลอย่างมากต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์ทั่วโลก ทั้งการกำหนดทิศทาง สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้สร้างภาพยนตร์ นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะจากความสามารถด้านศิลปะการต่อสู้อันเป็นเอกลักษณ์ของ Bruce Lee และ Jacky Chan ที่แสดงให้เห็นอยู่ในวงการ Hollywood อีกด้วย
ข้อมูลของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ระบุอีกว่า “ฮ่องกง” ยังนับเป็นศูนย์กลางของบริษัทผลิตภาพยนตร์ โดยมีสตูดิโอชื่อดังหลายแห่งซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการผลิตภาพยนตร์สำหรับผู้ชมทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ตั้งแต่ภาพยนตร์ Blockbuster สร้างภาพยนตร์แนว Action ไปจนถึงภาพยนตร์อิสระ Art House โดยฮ่องกงมีบริษัทผลิตภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงหลายบริษัท อาทิ Shaw Brothers Studio, Media Asia Group, Golden Harvest และ Milkyway Image ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการกำหนดรูปแบบอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของฮ่องกงและเทรนด์โลก
ประเด็นสำคัญคือ หลังผ่านพ้นช่วงความไม่สงบทางการเมืองและวิกฤตโควิด-19 ฮ่องกงกำลังเดินหน้าสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและ soft power ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ จนอาจกลายเป็นยุคทองอีกครั้ง
เพราะแม้หลายเมืองทั่วโลก กำลังแข่งกันดึงดูดผู้สร้างภาพยนตร์ เพื่อหวังผลักดันเมืองให้เป็นจุดศูนย์กลางใหม่ในอุตสาหกรรมนี้เช่นกัน แต่ฮ่องกงก็ปรับตัวได้ค่อนข้างเร็ว โดยข้อได้เปรียบหนึ่งของฮ่องกงคือภูมิทัศน์ที่หลากหลาย ตั้งแต่ย่านเมืองที่ครึกครื้นไปจนถึงชนบทที่สงบงดงาม รองรับการถ่ายทำภาพยนตร์ได้ทั้งแนวแอคชั่นฟอร์มยักษ์และดราม่าที่ลึกซึ้ง รวมถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ช่วยให้ผู้สร้างสามารถเล่าเรื่องได้อย่างมีอัตลักษณ์ท้องถิ่นและสากลในเวลาเดียวกัน
นอกจากนี้ ฮ่องกงยังมีโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ทั้งสตูดิโอระดับแนวหน้าและบุคลากรที่มีฝีมือ ซึ่งระบบนิเวศที่มีประสิทธิภาพนี้ช่วยให้กระบวนการผลิตราบรื่นและลดต้นทุนการผลิต อีกทั้งฮ่องกงยังมีนักแสดง ผู้กำกับและทีมงานที่พร้อมนำเสนอมุมมองและทักษะที่โดดเด่น สร้างผลงานที่มีเอกลักษณ์ในแบบเฉพาะตัว
ขณะเดียวกัน รัฐบาลฮ่องกงมีการจัดตั้งสภาพัฒนาภาพยนตร์ฮ่องกง เพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับนโยบาย กลยุทธ์ส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ตลอดจนการใช้เงินกองทุนสาธารณะ สนับสนุนอุตสาหกรรมดังกล่าวอย่างเต็มที่
เช่นเดียวกับมีการร่วมมือกับผู้สร้างภาพยนตร์ต่างชาติ ช่วยส่งเสริมความเข้าใจทางวัฒนธรรมและสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อีกทั้งยังทำให้ผู้ชมทั่วโลกได้รู้จักกับวัฒนธรรมที่หลากหลายของฮ่องกงมากยิ่งขึ้น
“ฮ่องกงเก่งในการนำเสนอภาพลักษณ์แห่งความหลากหลาย เป็นทั้งศูนย์กลางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ไม่เพียงแต่เป็นสถานที่ทำงานและท่องเที่ยวที่ยอดเยี่ยม แต่ยังเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าดึงดูดสำหรับนักธุรกิจและผู้สร้างภาพยนตร์ที่ต้องการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของฮ่องกง”
"ปีนี้ฮ่องกงได้เปิดตัวโครงการใหม่สำหรับความร่วมมือผลิตภาพยนตร์ระหว่างฮ่องกงและยุโรป โดยจัดสรรงบประมาณกว่า 1.4 พันล้านดอลลาร์ฮ่องกง เข้ากองทุนพัฒนาภาพยนตร์ของเมือง ซึ่งนับเป็นโอกาสสำคัญที่จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ กระตุ้นเศรษฐกิจ และเสริมสร้างอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของฮ่องกง "
สำหรับความเกี่ยวพันกับประเทศไทยนั้น เราอาจได้รับอานิสงส์ทางอ้อม โดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองฮ่องกง ให้มุมมองว่า จากการที่ฮ่องกงเป็นศูนย์กลางการผลิตภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และครองส่วนแบ่งตลาดในภูมิภาคได้ค่อนข้างมากรวมทั้งยังคงเติบโตได้อีกในตลาดโลก
ส่วนหนึ่งมาจากการที่รัฐบาลฮ่องกงสนับสนุนอุตสาหกรรมบันเทิงเพื่อการส่งออกและผลักดันการค้าข้ามพรมแดน มีช่องทางในการเผยแพร่ภาพยนตร์ และเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ นอกจากนี้เนื้อหาความบันเทิงไม่มีข้อจำกัดในแง่ของความหลากหลายทางวัฒนธรรม สำหรับภาพยนตร์และซีรีส์ไทยได้รับความนิยมเป็นอย่างดีเมื่อถูกเผยแพร่ลงแพลตฟอร์มต่างๆ ในฮ่องกง
นอกจากนี้ผู้มีอิทธิพลทางความคิดชาวฮ่องกงนิยมเดินทางท่องเที่ยวไปประเทศไทย และนำเสนอเรื่องราวได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งของการเผยแพร่ soft power ไทยที่ดึงดูดผู้สร้างภาพยนตร์ระดับนานาชาติและกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี
ที่มา: กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ,PWC
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney