เลือกตั้งสหรัฐฯ ชี้ชะตาเศรษฐกิจโลก จับตา 5 อุตสาหกรรม “รุ่ง” หรือ “ร่วง” หลังได้ผู้นำคนใหม่

Economics

World Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

เลือกตั้งสหรัฐฯ ชี้ชะตาเศรษฐกิจโลก จับตา 5 อุตสาหกรรม “รุ่ง” หรือ “ร่วง” หลังได้ผู้นำคนใหม่

Date Time: 5 พ.ย. 2567 19:05 น.

Video

บรรยง พงษ์พานิช แกะปมเศรษฐกิจไทยโตต่ำ ฟื้นช้า พร้อมแนะทางออก

Summary

  • จับตาผลกระทบทางเศรษฐกิจ โค้งสุดท้าย ก่อนเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2024 อุตสาหกรรมไหนได้-เสียประโยชน์ ภายใต้การนำของของ "โดนัลด์ ทรัมป์" และ "คามาลา แฮร์ริส"

Latest


โค้งสุดท้ายแล้ว สำหรับการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 5 พ.ย.นี้ (ตามเวลาสหรัฐฯ) ซึ่งทั่วโลกให้การจับตามองว่า การเลือกผู้นำคนใหม่ครั้งนี้จะเป็นการพลิกโฉมบทบาทของสหรัฐฯ และชี้ทิศทางเศรษฐกิจโลกในอีก 4 ปีข้างหน้า รวมถึงเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะแนวโน้มการค้าและการลงทุน ท่ามกลางความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ที่ไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายลง

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อทิศทางเศรษฐกิจโลกเท่านั้น แต่ยังเป็นการชี้ชะตาอุตสาหกรรมสหรัฐฯ ว่าจะได้ไปต่อหรือมีอุปสรรคมากขึ้น ภายใต้การนำของประธานาธิบดีคนใหม่

1. ธนาคารพาณิชย์

ภาคการเงินเป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่จะได้รับผลกระทบครั้งใหญ่ภายใต้ผู้นำคนใหม่ เนื่องจากในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้เสนอร่างกฎหมายใหม่กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ เช่น Bank of America, Goldman Sachs, Citigroup, Wells Fargo และ JPMorgan เพิ่มระดับทุนสำรองที่ 20% เพื่อรองรับวิกฤติการเงินในอนาคต ต่อมาในเดือน ก.ย.ได้ปรับลดระดับลงมาเหลือ 9%

เนื่องจากได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายส่วนว่าการเพิ่มทุนสำรองดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อกำไรของธนาคาร ทำให้นำส่งเงินปันผลผู้ถือหุ้นได้น้อยลง ซึ่งอาจทำให้ธนาคารพิจารณาปล่อยสินเชื่อให้กับประชาชนและธุรกิจน้อยลงไปด้วย

ทั้งนี้ หากคามาลา แฮร์ริสชนะ คาดว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะได้รับการอนุมัติจากสภาและประกาศใช้ในที่สุด Bloomberg Intelligence มองว่ามีโอกาสถึง 60% ที่ร่างกฎหมายดังกล่าวจะได้รับการอนุมัติเสร็จภายในไตรมาสที่ 3 ปี 2025 นอกจากนี้ แฮร์ริสอาจสนับสนุนให้เพิ่มความเข้มงวดในการกำกับสถาบันการเงินเพิ่มเติม

ตรงข้ามกับโดนัลด์ ทรัมป์ที่ต้องการให้ลดการกำกับที่เป็นข้อจำกัดต่อภาคการเงิน หากเขาชนะก็มีความเป็นไปได้สูงว่าร่างกฎหมายนี้จะถูกปัดตกในทันที

2. ระบบประกันสุขภาพ

ระบบประกันสุขภาพที่ช่วยให้อเมริกันหลายสิบล้านคนเข้าถึงการรักษาพยาบาล กำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ เมื่อการให้เงินอุดหนุนของรัฐบาลตามกฎหมาย Affordable Care Act (ACA) หรือที่หลายคนเรียกว่า Obamacare กำลังจะหมดอายุลงในปลายปี 2025

Bloomberg Intelligence คาดการณ์ว่าบริษัทประกันสุขภาพยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ อย่าง Centene และ UnitedHealth อาจมีรายได้ลดลง 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2026 นอกจากนี้ สำนักงานงบประมาณแห่งสภาคองเกรสสหรัฐ (CBO) ยังคาดการณ์ว่าจำนวนผู้ลงทะเบียน Obamacare อาจลดลง 3.8 ล้านคนในหนึ่งปี หากไม่มีการขยายระยะเวลาเงินอุดหนุน

เป็นที่ทราบกันดีว่า Obamacare เป็นการปฏิรูประบบสาธารณสุขครั้งใหญ่ในสมัยประธานาธิบดีโอบามา โดยได้รับการสนับสนุนจากพรรคเดโมแครตอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น หากแฮร์ริสชนะการเลือกตั้งจะช่วยให้ระบบประกันสุขภาพได้รับเงินอุดหนุนต่อไป แต่หากทรัมป์กลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง ก็มีความเสี่ยงสูงว่าระบบสวัสดิการดังกล่าวอาจถูกยกเลิก เนื่องจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พรรครีพับลิกันมีความพยายามที่จะยกเลิกกฎหมาย Obamacare อยู่ตลอด เนื่องจากมองว่าเป็นภาระทางการคลังมากเกินไป และเป็นการแทรกแซงกลไกด้านราคาของอุตสาหกรรมประกัน

3. รถยนต์ไฟฟ้า

อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ถือเป็นอุตสาหกรรมเรือธงที่ได้รับการสนับสนุนอย่างมากในรัฐบาลโจ ไบเดน เนื่องจากสหรัฐฯ ต้องการเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่พลังงานสะอาด เพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero ในขณะเดียวกันก็ต้องการเป็นผู้นำตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) แข่งกับจีน ซึ่งครองส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 1 ของโลกในตอนนี้

หลังผ่านกฎหมาย The Inflation Reduction Act ในปี 2565 สหรัฐฯ ก็ทยอยออกมาตรการจูงใจให้ประชาชนเปลี่ยนผ่านไปใช้รถ EV ทั้งการให้เงินอุดหนุนบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ และให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ซื้อ โดยผู้ที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามือ 1 จะได้รับเครดิตภาษีเงินคืนสูงสุด 7,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ ณ จุดขาย สำหรับรถยนต์ไฟฟ้ามือ 2 จะได้รับเงินคืนสูงสุด 4,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยรัฐบาลได้โอนเครดิตภาษีไปยังตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ ส่งผลให้มีการคืนเงินภาษีไปแล้วเป็นจำนวนมาก ในช่วงที่ผ่านมาเราจึงเห็นอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในสหรัฐฯ เติบโตอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอาจเผชิญความเสี่ยงจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น หากทรัมป์ขึ้นเป็นประธานาธิบดี เนื่องจากทรัมป์ประกาศจุดยืนอย่างชัดเจนในระหว่างการหาเสียงว่าจะยกเลิกมาตรการอุดหนุน หรือลดจำนวนเงินอุดหนุนให้แก่อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า เพราะมองว่าปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) เป็นเรื่องหลอกลวงที่สร้างขึ้นเพื่อขายสินค้าใหม่เท่านั้น

ซาราห์ เบียนคี กรรมการผู้จัดการอาวุโสของ Evercore ISI ให้ความเห็นว่า พรรครีพับลิกันจะต้องได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา จึงจะยกเลิกเงินอุดหนุนอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดได้ แต่ก็มีความเสี่ยงที่ทรัมป์อาจใช้อำนาจของฝ่ายบริหารเพื่อจำกัดมาตรการดังกล่าว

4. ค้าปลีก

หากทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง ธุรกิจค้าปลีกอาจได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีสินค้าอุปโภคบริโภคอย่างรุนแรง ส่งผลกระทบต่อยอดขายและอัตรากำไร โดยจะกระทบต่อสินค้าที่ผลิตในจีนมากที่สุด

ในระหว่างการหาเสียงทรัมป์ได้ชูนโยบายขึ้นภาษีสินค้านำเข้าเพื่อปกป้องตลาดในประเทศจากสินค้าราคาถูกที่เข้ามาตีตลาดมากขึ้น โดยจะสัญญาว่าจะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าในอัตรา 10%-20% และขึ้นอัตราภาษีมากถึง 60% สำหรับสินค้าที่มาจากจีน นโยบายดังกล่าวจะยิ่งเพิ่มความตึงเครียดให้กับสงครามการค้า และกดดันให้ผู้ผลิตส่งผ่านต้นทุนมายังผู้บริโภคอย่างไม่มีทางเลือก เนื่องจากเสื้อผ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่นำเข้าจากจีน

ข้อมูลจากกลุ่มการค้าอุตสาหกรรมสหรัฐฯ พบว่า หนึ่งในสามของเสื้อผ้าที่ขายในสหรัฐฯ นำเข้าจากจีน เช่นเดียวกับแล็ปท็อป สมาร์ทโฟน และเครื่องเล่นวิดีโอเกม ที่มีการนำเข้าจากจีนเป็นสัดส่วนมากถึง 79% 78% และ 87% ตามลำดับ

5. พลังงาน

เป้าหมายการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมสู่พลังงานสะอาดของรัฐบาลไบเดนอาจต้องหยุดชะงักลง หากทรัมป์ชนะการเลือกตั้งในปีนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่าทรัมป์แสดงจุดยืนต่อต้านการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) มาตลอด ดังนั้นบริษัทผู้ผลิตน้ำมัน ก๊าซ และถ่านหิน จึงได้รับประโยชน์มากกว่าหากเขาขึ้นเป็นผู้นำ ในทางตรงกันข้าม ผู้ผลิตพลังงานสะอาดจะได้รับประโยชน์ภายใต้การนำของแฮร์ริสและพรรคเดโมแครตที่เน้นสานต่อนโยบายต่อจากรัฐบาลไบเดน

ทั้งนี้ในระหว่างการหาเสียง ทรัมป์สัญญาว่าจะยกเลิกการระงับการออกใบอนุญาตใหม่สำหรับการส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลวของรัฐบาลไบเดน ซึ่งประกอบด้วยโครงการหลายสิบโครงการ ซึ่งมีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รวมถึงโครงการ CP2 ที่กำลังจะเปิดดำเนินการในรัฐลุยเซียนาของบริษัท Venture Global LNG ซึ่งอยู่ระหว่างรอการอนุมัติใบอนุญาต

สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานคาดการณ์ว่ากำลังการผลิตส่งออกที่มากขึ้นจะช่วยผลักดันให้ราคาและปริมาณการขายเพิ่มสูงขึ้น สำหรับผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติในสหรัฐฯ

นอกจากนี้ ทรัมป์ยังกล่าวว่าเขาจะยกเลิกกฎระเบียบของไบเดนที่จำกัดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของโรงไฟฟ้าถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุน ยืดอายุของโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลให้สามารถอยู่ได้ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านพลังงาน

ที่มา

ติดตามข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศ กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ