การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาซึ่งมีขึ้นในวันนี้ 5 พ.ย.2567 (ตามเวลาสหรัฐฯ) เป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญที่โลกกำลังจับตามอง เพราะการเปลี่ยนผ่านผู้นำแห่งประเทศโลกเสรีคนใหม่ ย่อมกระทบต่อการดำเนินนโยบายทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคมโลกอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้
มีการเผยแพร่บทวิเคราะห์ฉากทัศน์ด้านต่างๆ ทั้งกรณีนางกมลา แฮร์ริสจากพรรคเดโมแครตชนะเลือกตั้ง หรือจะเป็นฝั่งนายโดนัลด์ ทรัมป์จากพรรครีพับลิกันเป็นฝ่ายชนะ แต่สิ่งหนึ่งที่คล้ายคลึงกันคือ ไม่ว่าใครจะเป็นผู้ชนะ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน จะยังคงดำเนินต่อไปและรุนแรงขึ้น
นอกจากสงครามการค้าแล้ว ยังมีการวิเคราะห์บทบาทสำคัญของคริปโตเคอเรนซีในการเลือกตั้งครั้งนี้ผ่านมุมมองของ นิรันดร์ ฟูวัฒนานุกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไบแนนซ์ ทีเอช บาย กัลฟ์ ไบแนนซ์ ประเมินว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นประวัติศาสตร์สำหรับอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลและบล็อกเชนทั่วโลก โดยเป็นครั้งแรกที่สกุลเงินดิจิทัลได้รับความสนใจ ผู้ท้าชิงทั้ง 2 เปิดเผยทัศนะที่ชัดเจนต่อสินทรัพย์ดิจิทัล
องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร Public Citizen เผยว่า เงินสนับสนุนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เกือบครึ่งหนึ่งมาจากภาคสินทรัพย์ดิจิทัล ชี้ให้เห็นความต้องการของอุตสาหกรรมในการผลักดันให้เกิดความชัดเจนด้านกฎระเบียบ โดยทรัมป์เป็นผู้สมัครที่แสดงจุดยืนในการสนับสนุนสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างชัดเจน ส่วนแฮร์ริสแม้สนับสนุน แต่ยังคงเน้นให้ความสำคัญในการคุ้มครองผู้บริโภคและนักลงทุนเป็นหลัก “นี่แสดงให้เห็นว่าสินทรัพย์ดิจิทัล ไม่ใช่แค่เครื่องมือเก็งกำไรเท่านั้น แต่กลายเป็นองค์ประกอบสำคัญ ที่ผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่สามารถเพิกเฉยได้”
โดยทรัมป์เปลี่ยนจุดยืนชัดเจน ประกาศตนเป็น “ประธานาธิบดีแห่งสินทรัพย์ดิจิทัล” ให้คำมั่นว่าหากชนะเลือกตั้ง เขาจะจัดตั้งสภาที่ปรึกษาบิทคอยน์และคริปโต รวมถึงสนับสนุนการขุดบิทคอยน์ ลดกฎเกณฑ์ข้อบังคับ ครอบครัวของทรัมป์ยังริเริ่มโครงการ DeFi ในชื่อ “World Liberty Financial”
ส่วนแฮร์ริส เพิ่งเริ่มยอมรับสินทรัพย์ดิจิทัลให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายเพื่อสนับสนุนเทคโนโลยีใหม่ๆเช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และบล็อกเชน โดยให้คำมั่นว่าจะส่งเสริมนวัตกรรมควบคู่ไปกับการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเข้มงวด
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกัลฟ์ ไบแนนซ์ วิเคราะห์ว่า ในฐานะที่สหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก (มากกว่า 28 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ) สหรัฐฯ มีบทบาทสำคัญต่อการกำหนดกฎระเบียบสำหรับสินทรัพย์ดิจิทัลในระดับสากล
“เศรษฐศาสตร์การเมืองของสหรัฐฯ มักส่งผลกระทบต่อตลาดคริปโตทั่วโลก รวมทั้งยังมีอิทธิพลเหนือความเชื่อมั่นของนักลงทุนและการตัดสินใจด้านกฎเกณฑ์ในหลายประเทศ ยกตัวอย่างเช่น การอนุมัติ Spot ETFs โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (SEC) ซึ่งเป็นตัวเร่งให้เกิดการยอมรับและเสริมสร้างความชอบธรรมของสินทรัพย์ดิจิทัลทั่วโลก”
และไม่ว่าใครจะเป็นผู้ชนะ นโยบายด้านคริปโตของสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบแน่นอน แต่คำถามที่สำคัญจริงๆ อาจไม่ใช่ว่า “สหรัฐฯ จะเข้ามาควบคุมคริปโตหรือไม่” แต่เป็น “สหรัฐฯ จะดำเนินนโยบายเกี่ยวกับคริปโตอย่างไร เพื่อรักษาความเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของโลกต่างหาก”
การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบระดับโลกนี้ จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ในการเปิดรับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลและการวางแผนเชิงกลยุทธ์ ซึ่งจะช่วยเสริมความแกร่งให้ประเทศ ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางดิจิทัลระดับภูมิภาค เพราะไทยมีจุดยืนพิเศษที่จะได้ประโยชน์จากการเติบโตของสินทรัพย์ดิจิทัลทั่วโลก
แม้ในระยะสั้นอาจยังไม่เห็นความชัดเจน แต่ในระยะยาวแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มเชิงบวก จากการยอมรับสินทรัพย์ดิจิทัลที่เพิ่มขึ้น!!
ศุภิกา ยิ้มละมัย
คลิกอ่านคอลัมน์ “The Issue” เพิ่มเติม