“หนี้สาธารณะ” ท่วมโลก

Economics

World Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

“หนี้สาธารณะ” ท่วมโลก

Date Time: 17 ต.ค. 2567 04:35 น.

Summary

  • กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้เผยแพร่รายงาน “ติดตามสถานการณ์การคลัง” (Fiscal Monitor) พบข้อมูลที่น่าตกใจเกี่ยวกับ “หนี้สาธารณะ” ของโลก

Latest

ตลาดหุ้นอินเดีย สะเทือนครั้งใหญ่  หลังสหรัฐฯ ฟ้อง Gautam Adani ข้อหาฉ้อโกง กองทุนโลก จ่อเทขายเพิ่ม

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้เผยแพร่รายงาน “ติดตามสถานการณ์การคลัง” (Fiscal Monitor) พบข้อมูลที่น่าตกใจเกี่ยวกับ “หนี้สาธารณะ” ของโลก

ที่มีแนวโน้มแตะ 100 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือกว่า 3,340 ล้านล้านบาท คิดเป็น 93% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของโลกภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งมีแรงหนุนจากสหรัฐฯ และจีน

และคาดว่า หนี้สาธารณะทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นใกล้เคียง 100% ของจีดีพีภายในปี 2573 โดยประเทศที่จะมีหนี้สาธารณะเพิ่ม เช่น สหรัฐฯ บราซิล ฝรั่งเศส อิตาลี แอฟริกาใต้ สหราชอาณาจักร

สาเหตุก่อหนี้เพิ่ม ส่วนใหญ่มาจากแรงกดดันทางการเมือง ที่ขัดขวางแผนลดการใช้จ่าย รวมถึงประเทศต่างๆยังมีภาระด้านการสนับสนุนพลังงานสะอาด สัดส่วนประชากรสูงอายุมากขึ้น และการเสริมสร้างความมั่นคงของประเทศ

แม้ว่าระดับหนี้ประเทศพัฒนาแล้ว ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงโควิด-19 แต่ก็ยังคงสูงถึง 134% ของจีดีพี ส่วนตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา ระดับหนี้เพิ่มเป็น 88% ของจีดีพี

โดยประเทศที่มีหนี้สาธารณะสูงอยู่แล้ว มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งประเทศเหล่านี้ มีสัดส่วนหนี้สาธารณะรวมกันมากกว่าครึ่งหนึ่งของหนี้สาธารณะโลก หรือเกือบ 2 ใน 3 ของจีดีพีโลก

ไอเอ็มเอฟ คาดการณ์อย่างเลวร้ายที่สุดว่า ภายใน 3 ปี หรือปี 2570 ประเทศเหล่านี้ จะมีสัดส่วนหนี้สาธารณะพุ่งเป็นถึง 115% ของจีดีพี สูงกว่าคาดการณ์ถึง 20% สะท้อนให้เห็นถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นอย่างมากต่อเสถียรภาพทางการเงินโลก

เนื่องจากหนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับสูง จะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจเปราะบางมากขึ้น ต้นทุนการเงินสูงขึ้น และจะยิ่งทำให้สถานการณ์หนี้รุนแรงมากขึ้น

และจากการที่อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยของหลายประเทศทั่วโลกลดลง ถือเป็นโอกาสสำคัญที่รัฐบาลทั่วโลกควรเร่งดำเนินมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับสูง

แต่จากข้อมูลที่ไอเอ็มเอฟได้รวบรวมนั้น พบว่า ประเทศต่างๆยังขาดความเร่งด่วนในการดำเนินมาตรการแก้ปัญหาหนี้ อีกทั้งแผนการคลังที่รัฐบาลต่างๆกำหนดขึ้นในขณะนี้ยังไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืน และมีความเป็นไปได้ต่ำที่จะทำให้ระดับหนี้สินลดลง หรือคงที่ในระยะยาว

ขณะที่ฝั่งไทยหนี้สาธารณะล่าสุด ณ สิ้นไตรมาสแรกปี 67 มียอดคงค้างกว่า 11.47 ล้านล้านบาท หรือ 63.37% ของจีดีพี และ ณ สิ้นปีงบ 2567 คาดจะอยู่ที่ 65% ส่วนสิ้นปีงบ 2568 คาดจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ราว 66%

แต่ในปีงบ 2569 จะเริ่มนิ่งขึ้น และจะลดลงในปีงบ 2570 ตามแผนการก่อหนี้ของรัฐบาล “น.ส.แพทองธาร ชินวัตร” ถ้าเป็นไปได้ตามนี้จริงจะดีมาก เพราะคนไทยไม่อยากแบกหนี้หลังแอ่น ใช้หนี้ที่ตนเองไม่ได้ก่ออีกแล้ว!!

ฟันนี่เอส

คลิกอ่านคอลัมน์ “กระจก 8 หน้า” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ