นับว่าทั่วโลกรอกันมาเกือบครึ่งปี กว่าที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะเข้าสู่วัฏจักรดอกเบี้ยขาลง ลดแรงกดดันต่อสภาวะการเงินโลกที่ตึงตัวมานานกว่า 4 ปี
โดยเมื่อวันที่ 18 ก.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ (11 ต่อ 1) ให้ลดอัตราดอกเบี้ย 0.5% ลงสู่ระดับ 4.75-5.00% เนื่องจากมั่นใจมากขึ้นว่าเงินเฟ้อกำลังกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ระดับ 2% และอัตราดอกเบี้ยระดับนี้จะช่วยรักษาความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจ โดยไม่เพิ่มความเสี่ยงให้กับตลาดแรงงานที่อัตราการว่างงานพุ่งสูงขึ้น
ในช่วงที่ผ่านมาธนาคารกลางส่วนใหญ่ ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับสูง เพื่อรอเฟดปรับทิศทางดอกเบี้ย โดยเฉพาะธนาคารกลางในภูมิภาคเอเชียที่หากเฟดลดอัตราดอกเบี้ยจะเอื้อให้ดำเนินนโยบายการเงินแบบยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อสนับสนุนการเติบโตเศรษฐกิจ โดยไม่เพิ่มความเสี่ยงให้กับค่าเงิน เนื่องจากช่องว่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยแคบลง
Thairath Money พาส่องทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารในเอเชีย หลังเฟดลดดอกเบี้ย ประเทศไหนลดแล้วบ้าง
อินโดนีเซีย นับเป็นประเทศที่สองในอาเซียน ถัดจากฟิลิปปินส์ที่ประกาศลดอัตราดอกเบี้ย ก่อนธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) โดยเมื่อวันที่ 18 ก.ย.ที่ผ่านมา ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (Bank Indonesia: BI) ปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% มาอยู่ที่ 6.0% ซึ่งเป็นการปรับลดครั้งแรกในรอบ 3 ปี เหนือความคาดหมายของตลาด โดยเหตุผลในการปรับลดครั้งนี้มาจากความชัดเจนของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่คาดว่าจะปรับทิศทางดอกเบี้ยในการประชุมเดือน ก.ย. หนุนให้ BI พิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ เพื่อสนับสนุนการเติบโตเศรษฐกิจ หลังจากเงินรูเปียห์กลับมาแข็งค่า และเงินเฟ้อที่กลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย 1.5%-3.5% ต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าธนาคารกลางอินโดนีเซียส่งสัญญาณว่าจะมีการผ่อนคลายนโยบายการเงินมากขึ้นในอนาคต เพื่อดึงดูดเงินทุน โดยคาดว่าในการประชุมรอบวันที่ 16 ต.ค.นี้ จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25%
เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะเร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ตามการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้น แต่การฟื้นตัวเป็นไปอย่างเปราะบาง ประกอบกับเศรษฐกิจไทยต้องเผชิญความเสี่ยงสูงขึ้น จากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ปัญหาอุทกภัยที่จะส่งผลกระทบไปยังภาคเกษตร การท่องเที่ยว กดดันกำลังซื้อของผู้บริโภค รวมถึงเงินบาทที่แข็งค่าอย่างรวดเร็วหลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ลดดอกเบี้ย
ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเดือน ก.ย. 2567 เร่งตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ 0.61% เมื่อเทียบเป็นรายปี แต่ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่หนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง แม้จะปรับลดลงมาอยู่ที่ 89% ในไตรมาสที่ 2/2567
ด้วยปัจจัยเชิงลบดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรคาดว่า กนง.จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันที่ 16 ต.ค.นี้ เพื่อทบทวนตัวเลขเศรษฐกิจ ปูทางไปสู่โอกาสการลดดอกเบี้ยมากขึ้น เนื่องจากมีปัจจัยกดดันเพิ่ม อัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 2.50% อาจเริ่มไม่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ โดยคาดว่า กนง.จะลดอัตราดอกเบี้ยเร็วที่สุดในการประชุมเดือน ธ.ค.
เศรษฐกิจญี่ปุ่นในเดือน ก.ย. ยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยฟื้นตัวในระดับปานกลาง การส่งออกและการผลิตอุตสาหกรรมทรงตัว การบริโภคเอกชนปรับดีขึ้น แม้ว่าราคาสินค้าและบริการจะเพิ่มขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่รวมราคาอาหารสด เพิ่มขึ้น 2% เมื่อเทียบเป็นรายปี ชะลอลงจากเดือน ส.ค.ที่เพิ่มขึ้น 2.4% เงินเฟ้อที่ลดลงเข้าสู่ระดับเป้าหมายของธนาคารกลางญี่ปุ่น เป็นผลมาจากรัฐบาลกลับมาใช้มาตรการอุดหนุนค่าสาธารณูปโภค ช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายประชาชน
ด้านดัชนีราคาภาคบริการเพิ่มขึ้น 1.2% ชะลอลงจากเดือน ส.ค.ที่เพิ่มขึ้น 1.3% สะท้อนว่าหลายบริษัทกำลังส่งต่อต้นทุนจากค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นไปสู่ผู้บริโภค ตามที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นคาดการณ์ไว้
ทั้งนี้เศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาสที่ 2/2567 ขยายตัว 2.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี ปรับดีขึ้นจากไตรมาสแรก โดยเป็นผลมาจากค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น สนับสนุนการใช้จ่ายผู้บริโภค
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่า ความไม่แน่นอนทางการเมืองและเศรษฐกิจในต่างประเทศ จะเป็นปัจจัยที่ทำให้ BOJ ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันที่ 30-31 ต.ค.นี้ โดยคาดว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ในช่วงการประชุมครั้งสุดท้ายของปีเดือน ธ.ค.หรือต้นปีหน้า หากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อเป็นไปตามที่คาดไว้
ติดตามข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศ กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney