เด็กจบใหม่เอเชีย หางานยาก พนักงานเก่าอยู่ยาว เก่งทักษะดิจิทัล ทางรอด ดันค่าจ้างโตเร็ว นำประสบการณ์

Economics

World Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

เด็กจบใหม่เอเชีย หางานยาก พนักงานเก่าอยู่ยาว เก่งทักษะดิจิทัล ทางรอด ดันค่าจ้างโตเร็ว นำประสบการณ์

Date Time: 9 ต.ค. 2567 18:20 น.

Video

ล้วงลึกอาณาจักร “PCE” สู่บริษัทมหาชน ปาล์มครบวงจร | On The Rise

Summary

  • ธนาคารโลก(World Bank) เผย หลังโควิด เด็กจบใหม่ในเอเชียหางานยาก อัตราว่างงานพุ่ง 12.7% จีนและอินโดนีเซีย กอดคอนำภูมิภาค พัฒนา "ทักษะดิจิทัล" ทางรอด ช่วยอัพเงินเดือน นำประสบการณ์

หลังโควิด แม้เศรษฐกิจโลกจะทยอยฟื้นตัวเข้าสู่ระดับปกติแล้วในหลายภูมิภาค โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก แต่เมื่อดูแนวโน้มตลาดแรงงาน พบว่าหลายประเทศในภูมิภาค โดยเฉพาะอาเซียนที่เน้นพึ่งพาการจ้างงานในภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและการส่งออก และภาคการเกษตร ยังฟื้นตัวได้ช้า เนื่องจากต้องเผชิญหลุมรายได้และภาระหนี้เรื้อรังต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงโควิด ธุรกิจจึงชะลอการจ้างงานใหม่ออกไป เน้นเพิ่มผลิตภาพให้กับแรงงานเดิม ประกอบกับวิกฤติของระบบการศึกษาที่ผลิตคนไม่ตอบโจทย์กับตลาดแรงงาน

ในช่วง 1-2 ปีมานี้ เราจึงเห็นเด็กจบใหม่บ่นหางานยากขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนผ่านอัตราว่างงานเยาวชนในภูมิภาคหลังโควิดที่พุ่งสูงขึ้น 12.7% ในปี 2566 จากระดับ 10% ช่วงก่อนโควิด แม้คนที่มีประสบการณ์ทำงานแล้วก็หางานที่สอดคล้องตรงใจยาก

ธนาคารโลก (World Bank) ได้เปิดเผยรายงานล่าสุดอัปเดตเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (East Asia and Pacific Economic Update) หัวข้อ “งานและเทคโนโลยี” (Jobs and Technology) พบว่า ปัจจุบันภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (EAP) มีอัตราการจ้างงานต่อประชากรวัยทำงานสูงกว่าประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ โดยจีน ไทย เวียดนาม และกัมพูชา มีอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 72%-83% มากกว่ามองโกเลีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ที่มีอัตราส่วนอยู่ที่ 60%-67% ความแตกต่างนี้สะท้อนว่าประเทศกลุ่มหลังผู้หญิงมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานน้อยกว่า ทั้งนี้พบว่าประเทศที่เผชิญปัญหาสังคมสูงวัย มองโกเลีย จีน ไทย และเวียดนาม มีสัดส่วนประชากรวัยทำงานลดลง ในขณะที่ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และกัมพูชา มีประชากรวัยทำงานเพิ่มขึ้น เพราะมีคนวัยหนุ่มสาวมาก

แม้จะเป็นภูมิภาคที่มีอัตราการจ้างงานประชากรวัยทำงานสูง แต่เมื่อพิจารณาตามช่วงอายุ พบว่าเยาวชนอายุ 15-24 ปี มีอัตราการว่างงานสูงสุดในทุกประเทศ เมื่อเทียบกับกลุ่มช่วงอายุอื่น ในขณะกลุ่มผู้สูงอายุ อายุ 55-64 ปี มีอัตราการว่างงานต่ำสุด ยกเว้นในมาเลเซีย เนื่องจากแรงงานส่วนใหญ่มีแนวโน้มออกจากงานก่อนวัยเกษียณ โดยอัตราการว่างในเยาวชนรุนแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในประเทศจีน อินโดนีเซีย มองโกเลีย และมาเลเซีย ในขณะที่ไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ เยาวชนมีอัตราว่างงานต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศพัฒนาแล้ว

ด้านอัตราการเติบโตของค่าจ้าง พบว่าค่าจ้างในกลุ่มแรงงานอายุน้อย (อายุ 15-24 ปี) เพิ่มขึ้นเร็วกว่าค่าจ้างในกลุ่มแรงงานอายุ 25-49 ปี ในขณะที่ค่าจ้างของแรงงานที่อายุมากกว่า 50 ปี ชนเพดาน โดยแรงงานอายุน้อยในมาเลเซียและฟิลิปปินส์มีการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่เวียดนามเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มคนงานรุ่นใหม่ อาจสะท้อนว่าพวกเขามีทักษะดิจิทัล รู้เท่าทันเทคโนโลยี และสามารถประยุกต์ใช้กับการทำงานได้เป็นอย่างดี ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการในตลาดแรงงาน โดยในอนาคตกลุ่มแรงงานอายุมากจะต้องทำงานหนักมากขึ้นในประเภทงานรูทีนที่ไม่ต้องใช้ทักษะสูง จากการดิสรัปของเทคโนโลยี

ที่มา

ติดตามข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศ กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ