ธนาคารโลก (World Bank) อัปเดตสถานการณ์และแนวโน้มเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ในรายงานประจำเดือนตุลาคม 2567 พบว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (EAP) มีอัตราการเติบโตเศรษฐกิจนำหน้าภูมิภาคอื่น คาดว่าในปีนี้เศรษฐกิจจะขยายตัวที่ 4.8% โดยได้รับแรงหนุนจากการบริโภคภาคเอกชนและการส่งออก โดยชะลอตัวลงเล็กน้อยจาก 5.1% ในปี 2566 เช่นเดียวกับเศรษฐกิจจีนที่คาดว่าจะขยายตัว 4.8% ชะลอลงจากปีก่อนที่ 5.2% จากการบริโภคในประเทศและการส่งออกที่ฟื้นตัวช้าลง รวมถึงตลาดแรงงานและการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังอ่อนแอ ทั้งนี้การบริโภคภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น การส่งออกและการท่องเที่ยวที่ทยอยฟื้นตัวยังเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนการเติบโตในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม เริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัวของอุปสงค์และการลงทุนภาคเอกชน โดยเฉพาะในอินโดนีเซีย ไทย และฟิลิปปินส์
ในปี 2568 คาดว่าการเติบโตในภูมิภาคจะชะลอลงมาอยู่ 4.4% ซึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตของเศรษฐกิจจีนที่ชะลอลงมาอยู่ที่ 4.3% โดยได้รับแรงกดดันจากความอ่อนแอในภาคอสังหาฯ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนที่ตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความท้าทายด้านสังคมสูงอายุและความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ทั่วโลก แม้ว่าคณะกรรมการโปลิตบูโรและธนาคารกลางจีน (PBOC) จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้สอดคล้องกัน เพื่อสนับสนุนตลาดการเงิน แต่คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยหนุน sentiment การลงทุนได้ในระยะสั้น แต่แนวโน้มในระยะยาวยังคงต้องติดตามปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจ ทั้งนี้การฟื้นตัวของการค้าและภาวะการเงินโลก คาดว่าจะเป็นปัจจัยช่วยสนับสนุนการเติบโตในภูมิภาค
สำหรับแนวโน้มในระยะข้างหน้า รายงานระบุว่า ภูมิภาค EAP อาจต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงพลวัตของการเติบโต เป็นเวลานานกว่าสามทศวรรษแล้วที่จีนกุมอำนาจทางเศรษฐกิจในภูมิภาค แต่ขนาดอานิสงส์ของเศรษฐกิจจีนที่มีต่อหลายประเทศในภูมิภาคกำลังอ่อนแรงลง เนื่องจากเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มโตต่ำลงจากปัญหาโครงสร้างที่ส่งสัญญาณความเปราะบางขึ้นเรื่อย ๆ หากจีนไม่สามารถเป็นแรงส่งหลักทางเศรษฐกิจได้เหมือนในอดีต ประเทศอื่น ๆ ที่พึ่งพาการเติบโตจากจีนผ่านช่องทางการค้า จะต้องหันมาปฏิรูปเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจ พึ่งพากิจกรรมในประเทศมากขึ้นเพื่อความอยู่รอด
ปัจจุบันอิทธิพลของจีนที่มีต่อตลาดส่งออกและนำเข้ายังเป็นเชิงบวก โดยกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาต่างได้รับประโยชน์จากความต้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้นจากจีน มากกว่าผลกระทบที่ได้รับจากศักยภาพการแข่งขันด้านการส่งออกของจีนในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น โดยแบบจำลองชี้ให้เห็นว่าทุกการเพิ่มขึ้น 1% ของจีดีพีต่อหัวของจีน ส่งผลให้จีดีพีต่อหัวในประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มขึ้น 0.11% ในช่วงปี 2538-2550 เพิ่มขึ้น 0.14% ในช่วงปี 2551-2562 และเพิ่มขึ้น 0.13% ในช่วงปี 2563-2566 ทั้งนี้ธนาคารโลกคาดว่าในอนาคต หากการเติบโตของจีนชะลอตัวลงต่อเนื่อง ทุกการชะลอตัวลง 1% อาจส่งผลให้การเติบโตเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาลดลง 0.14%-0.21%
ที่มา
ติดตามข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศ กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney