เป็นธนาคารกลางก็ต้องปรับตัว ผู้ว่าธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) บุก TikTok เดบิวต์เป็นอินฟลูเอนเซอร์ให้ความรู้การเงิน เรียกความเชื่อมั่นคน Gen Z
ในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารกลางอังกฤษต้องเผชิญกับแรงกดดันและความไม่พอใจ จากประชาชนที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มองว่า การดำเนินนโยบายดอกเบี้ยของธนาคารกลางซ้ำเติมสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำ ส่งเสริมให้เกิดความไม่เท่าเทียมในสังคม เนื่องจากตรึงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 5.25% มาเป็นเวลาเกือบหนึ่งปี
ประกอบกับเฟคนิวส์ทฤษฎีสมคบคิดที่กล่าวหาว่า ธนาคารกลางต้องการนำ CBDC หรือสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระเงิน เพื่อควบคุมพฤติกรรมการใช้จ่าย จำกัดเสรีภาพทางการเงินของประชาชน โดยเฟคนิวส์ดังกล่าวสั่นคลอนความเชื่อมั่นของ BOE อย่างมาก จนโฆษกของ BOE ต้องออกมายอมรับในแถลงการณ์ว่า กำลังพยายามปรับกลยุทธ์การสื่อสารให้เข้าถึงประชาชนมากขึ้น เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง สะท้อนถึงความกังวลด้านความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้น ท่ามกลางปัญหาเงินเฟ้อที่ลากยาว
“เราคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ธนาคารกลางจะต้องอธิบายว่า เรากำลังทำอะไร และเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจ ให้เข้าถึงประชาชนมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ นั่นคือเหตุผลที่เราพยายามเข้าถึงผู้คนในช่องทางที่พวกเขารับข้อมูลข่าวสาร”
ล่าสุดเมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา Andrew Bailey ผู้ว่าธนาคารกลางอังกฤษ ได้ให้สัมภาษณ์กับ Abigail Foster อินฟลูเอนเซอร์การเงินที่ได้รับความนิยมในหมู่คนรุ่นใหม่ ถึงเบื้องหลังการตัดสินดำเนินนโยบายการเงิน และความท้าทายที่ต้องเผชิญ ด้วยบรรยากาศที่ผ่อนคลาย พร้อมพาทัวร์ความสวยงามของสถาปัตยกรรมธนาคารกลาง ซึ่งวิดีโอดังกล่าวมียอดรับชมมากกว่า 43,000 ครั้ง และมียอดรับชมใน Reels เกือบ 150,000 ครั้ง การเคลื่อนไหวของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญของธนาคารกลางแห่งแรกของโลกที่มีอายุเก่าแก่กว่า 330 ปี ในการปรับตัวและปรับกลยุทธ์การสื่อสารให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ซึ่งคนรุ่นใหม่มีความใกล้ชิดกับธนาคารกลางน้อยลงเรื่อย ๆ
โดยเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา BOE ได้เริ่มสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ผ่านอินสตาแกรม ผ่านการทำอัลบั้มภาพและคลิปวิดีโอให้ความรู้ทางการเงินแบบเข้าใจง่าย ก่อนหน้านี้ธนาคารหลายแห่งตื่นตัวในการสื่อสารกับคนรุ่นใหม่มากขึ้นผ่านโซเชียลมีเดีย จะเห็นได้จากธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่เปิดบัญชีบนอินสตาแกรมตั้งแต่ปี 2561 แต่ปัจจุบันมีผู้ติดตามเพียง 80,000 บัญชี น้อยกว่าธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ที่เปิดบัญชีอินสตาแกรมเมื่อเดือนตุลาคม 2566 แต่มีผู้ติดตามมากกว่า 200,000 บัญชี และทำคอนเทนต์
หลังโควิด ทั่วโลกต้องเผชิญกับเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ธนาคารกลางจึงต้องดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัว ขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินปรับเพิ่มขึ้น ซ้ำเติมภาระหนี้ครัวเรือนและภาคธุรกิจ ในสายตาคนรุ่นใหม่ ธนาคารกลางจึงมีภาพจำเป็น "วายร้าย" ที่มีอาวุธ คือ อัตราดอกเบี้ย มากกว่า "ฮีโร่" ผู้กู้วิกฤติการเงินอย่างในอดีต โดยผลกระทบของการขึ้นอัตราดอกเบี้ย นำมาซึ่งปัญหาค่าครองชีพที่กลายเป็นอุปสรรคต่อการสร้างตัวของคนรุ่นใหม่ ในขณะที่คนรุ่น Baby boomer และ Gen X ยังสามารถรองรับความผันผวนทางเศรษฐกิจได้ เนื่องจากมีโอกาสสร้างตัวในยุคทองทางเศรษฐกิจ (The Golden Age of Capitalism) ช่วงทศวรรษ 2490 ซึ่งเศรษฐกิจโลกเติบโตในอัตราที่สูงมากทั้งประเทศมหาอำนาจและประเทศยากจน จากภาวะเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพ ส่งผลให้อัตราว่างงานและเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ
ติดตามข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศ กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney