สถานการณ์การส่งออกไทย ยังเผชิญแรงกดดันอย่างต่อเนื่อง จากปัญหาเชิงโครงสร้าง และเงินบาทที่แข็งค่าอย่างรวดเร็ว ทะลุ 33 บาทต่อดอลลาร์ แม้ในเดือน ก.ค. การส่งออกจะขยายตัวแรง 15.2% สูงสุดในรอบ 28 เดือน
ส่งผลให้ 7 เดือนแรกของปีนี้ ไทยขาดดุลไปแล้ว 6,616 ล้านดอลลาร์ฯ หรือขาดดุลเพิ่มขึ้น 23% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ประกอบกับการเข้ามาตีตลาดของสินค้าจีน กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มความเปราะบางให้กับสินค้าไทย ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดโลกน้อยลงเรื่อย ๆ
สอดคล้องกับการคาดการณ์ของศูนย์วิจัยกสิกร ที่ประเมินว่า ในปี 2024 ไทยจะยังเผชิญการขาดดุลการค้าเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก ความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลง โดยสินค้าที่มีดุลการค้ามากที่สุด 10 อันดับแรก มีแนวโน้มที่จะได้ดุลการค้าลดลง โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์หลักอย่าง Hard Disk Drive ที่ในอนาคตจะถูกแทนที่โดย Solid State Drive, การส่งออกรถยนต์ ซึ่งไทยเป็นฐานการผลิต กำลังถูกแทนที่ด้วยรถยนต์ไฟฟ้า และสินค้าเกษตรที่กำลังเผชิญการแข่งขันด้านราคา
สำหรับในระยะข้างหน้า ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามองก็คือ ไทยมีแนวโน้มที่จะขาดดุลการค้าจากจีน
เพิ่มขึ้น จากการนำเข้าเครื่องจักรและสินค้าทุนจากจีนที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับการนำเข้าสินค้า
อุปโภคบริโภคราคาถูกจากจีนก็เพิ่มขึ้น เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า และของเบ็ดเตล็ด ขณะที่การส่งออกสินค้าขั้นกลางไปจีนลดลงอย่างเช่นเม็ดพลาสติกและเคมีภัณฑ์ เนื่องจากจีนสามารถผลิตได้เองจากข้อได้เปรียบด้านต้นทุน (Economy of scale) นอกจากนี้ สินค้าเกษตรซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกจากไทยไปจีนสูง เช่น ทุเรียน ทุเรียน และยางพารา ผลผลิตกำลังเผชิญความผันผวนจากสภาพอากาศ
ทั้งนี้ปัจจุบันภาคเอกชน ได้แสดงความกังวลต่อการขาดดุลการค้าระหว่างไทยกับจีน
ข้อมูลล่าสุดจากคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) พบว่า ใน 6 เดือนแรกของปี 2567 ไทยนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้นถึง 7.12% เมื่อเทียบเป็นรายปี คิดเป็นมูลค่ากว่า 37,569.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (1.33 ล้านล้านบาท) ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้าจากจีนเพิ่มขึ้น 15.66% เมื่อเทียบเป็นรายปี คิดเป็นมูลค่ามากถึง 19,967.46 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (7.2 แสนล้านบาท)
สถานการณ์ "การขาดดุลการค้า" จากจีนที่รุนแรงขึ้น ไม่ได้เกิดขึ้นแค่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น
แต่เป็นเทรนด์ที่ขยายวงกว้างไปทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่พึ่งพาการค้ากับจีน อย่างอาเซียนที่กลายเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ตั้งแต่ปี 2563
ข้อมูลล่าสุดจาก ASEANStats พบว่า อาเซียนนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้น จนนำไปสู่การขาดดุลการค้า โดยในปี 2022 อาเซียนขาดดุลการค้าจากจีนเพิ่มขึ้น 1.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเกือบ 4% ของ GDP ทั้งอาเซียน ซึ่งสะท้อนว่าอาเซียนมีการพึ่งพาทางเศรษฐกิจจากจีนในระดับที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ
เพราะต้องนำเข้าสินค้าทุน อย่างเครื่องจักรในการผลิตสินค้าและบริการ, สินค้าอุปโภคบริโภคราคาถูก รวมถึงสินค้าไฮเทคที่ไทยไม่สามารถผลิตเองได้
ทั้งนี้ในบรรดากลุ่มประเทศอาเซียน "ไทย" และ "เวียดนาม" ถือเป็นประเทศที่มีการขาดดุลการค้าจากจีนมากที่สุด ในปี 2022 ในขณะที่กัมพูชาขาดดุลการค้าจากจีนเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยมูลค่าขาดดุลการค้าคิดเป็น 30% ต่อ GDP สำหรับครึ่งแรกของปี 2024 (เดือน ม.ค.-ส.ค. 2567) ประเทศอาเซียนที่ขาดดุลการค้ากับจีน มีดังนี้
1. เวียดนาม
ขาดดุลการค้ากับจีนมูลค่า 39,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 67.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
2. ไทย
ขาดดุลการค้ากับจีนมูลค่า 19,967.46 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 15.66% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
3. มาเลเซีย
ขาดดุลการค้ากับจีนมูลค่า 17,430 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
4. อินโดนีเซีย
ขาดดุลการค้ากับจีนมูลค่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ติดตามข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศ กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney