ไม่ใช่แค่ปัญหาเศรษฐกิจ คนจีนมีลูกน้อยลง เพราะค่าสินสอดแพง ประชากรหด สะเทือนตำแหน่ง "โรงงานโลก"

Economics

World Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ไม่ใช่แค่ปัญหาเศรษฐกิจ คนจีนมีลูกน้อยลง เพราะค่าสินสอดแพง ประชากรหด สะเทือนตำแหน่ง "โรงงานโลก"

Date Time: 19 ส.ค. 2567 14:12 น.

Video

คนไทยจ่ายภาษีน้อย มนุษย์เงินเดือนรับจบ ปัญหาอยู่ที่ระบบหรือคนกันแน่ ? | Money Issue

Summary

  • จีนเจอโจทย์ยาก คนรุ่นใหม่ไม่อยากมีลูก แต่งงานน้อยลง เพราะค่าสินสอดแพง อยากสร้างครอบครัวต้องมีขั้นต่ำ 600,000 บาท ผลพวงนโยบายลูกคนเดียว ประชากรชายล้น แข่งกันสร้างฐานะหาคู่ รัฐบาลวุ่นออกมาตรการแก้ปัญหาประชากรหด หวั่นกระทบตำแหน่ง "โรงงานโลก"

สังคมสูงวัย อัตราการเกิดต่ำ กลายเป็นปัญหาระดับโลกที่หลายประเทศเร่งหาทางรับมือ โดยเฉพาะ “ประเทศจีน” ที่ได้รับขนานนามว่าเป็น “โรงงานโลก” กำลังเจอวิกฤติคนรุ่นใหม่แต่งงานน้อยลง เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำลงจากปัญหาโครงสร้าง ส่งผลให้ประชากรจีนลดลงมากสุดเป็นประวัติการณ์ ข้อมูลล่าสุดของสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน พบว่าในปี 2566 จำนวนประชากรจีนลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่สอง มาอยู่ที่ 1,409 ล้านคน โดยลดลง 2.08 ล้านคน หรือคิดเป็น 0.15% เมื่อเทียบกับจำนวน 850,000 คนในปี 2565 ซึ่งเป็นการลดลงครั้งแรกตั้งแต่ปี 2504 สมัยรัฐบาลเหมาเจ๋อตุง

ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติ (United Nations) ประเมินว่า ประชากรจีนจะลดลงเหลือ 1,317 ล้านคน ภายในปี 2593 และจะลดลงเกือบครึ่งหนึ่งเหลือ 732 ล้านคน ภายในปี 2643 โดยนักวิเคราะห์ของ BMI Country Risk & Industry Analysis คาดว่าจำนวนประชากรวัยทำงานที่ลดลงอย่างรวดเร็วจะฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อปีประมาณ 1% ของ GDP ในช่วงอีก 10 ปีข้างหน้า

ด้านยอดการจดทะเบียนสมรสก็ลดลงอย่างน่าใจหาย ตอกย้ำความกังวลในการสร้างครอบครัวของกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยในไตรมาสที่ 2/2567 ยอดการจดทะเบียนสมรสลดลง 18% จากปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ 1.46 ล้านคน ทุบสถิติระดับต่ำสุดในปี 2565 ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำไม่ได้เป็นเพียงสาเหตุเดียวที่ทำให้คนจีนแต่งงานน้อยลง แต่ค่าสินสอดเจ้าสาวที่แพงหูฉี่ ทวีคูณรายได้ต่อปีของเจ้าบ่าวก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักที่ผลักดันให้คนจีนรุ่นใหม่ล้มเลิกการสร้างครอบครัว เพราะสู้ค่าใช้จ่ายสร้างความมั่นคงด่านแรกไม่ไหว

ปัจจุบันค่าเฉลี่ยของสินสอดมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 140,000 หยวน (680,000 บาท) ผลการศึกษาของ Gong Weigang ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยอู่ฮั่น พบว่าก่อนหน้านี้จนถึงปี 2550 ค่าเฉลี่ยสินสอดเคยอยู่ที่ประมาณ 10,000-20,000 หยวน แต่เริ่มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา

ทั้งนี้ ค่าสินสอดเป็นประเพณีที่มีมานานแล้ว และเป็นแบบแผนการแต่งงานของคนส่วนใหญ่ในประเทศ โดยครอบครัวฝ่ายเจ้าบ่าวจะต้องเตรียมของหมั้นมูลค่าสูงให้กับครอบครัวเจ้าสาว เพื่อเป็นหลักประกันแสดงถึงความจริงใจและความพร้อมด้านฐานะการเงินในการดูแลครอบครัว จึงทำให้ครอบครัวฝ่ายเจ้าสาวฉวยโอกาสเรียกค่าสินสอดราคาแพง เพื่อชดเชยค่าเลี้ยงดูตั้งแต่เด็กยันโต ซึ่งสังคมจีนมองว่าการมีลูกสาวเป็นภาระ เนื่องจากค่านิยมชายเป็นใหญ่ที่ยกย่องผู้ชายมีคุณค่าเหนือผู้หญิง

จากการสำรวจประชากร 1,846 คน โดย Tencent News ในปี 2564 พบว่าเกือบ 3 ใน 4 ของการแต่งงานในประเทศจีนมีค่าสินสอด ครอบครัวต่างๆ อาจต้องจ่ายเงินหลายหมื่นดอลลาร์ ซึ่งมากกว่ารายได้ต่อปีของพวกเขาหลายเท่า คำถามคือ ผู้ชายยอมจ่ายค่าสินสอดราคาแพง เพราะค่านิยมสังคมกดดันเท่านั้นหรือ?

นโยบายลูกคนเดียว ดาบสองคม ต้นเหตุสินสอดแพง

แท้จริงแล้ว ต้นตอของปัญหาการปั่นราคาค่าสินสอดเป็นผลสืบเนื่องมาจาก “นโยบายลูกคนเดียว” ที่บังคับใช้ตั้งแต่ปี 2522 ยาวนานเกือบ 40 ปี เพื่อควบคุมจำนวนประชากรและยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ ทำให้ครัวเรือนนิยมมีลูกชายมากกว่าลูกสาว แม้รัฐบาลจะประกาศยุตินโยบายดังกล่าวในปี 2558 แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ ความไม่สมดุลระหว่างเพศ โดยจีนมีสัดส่วนประชากรเพศชายมากกว่าเพศหญิงหลายเท่าตัว ทำให้ผู้ชายต้องแข่งกันหาคู่ ใครยิ่งมีฐานะมั่งคั่ง ยิ่งมีแต้มต่อที่จะได้ภรรยา

โดยมูลค่าสินสอดแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะในภาคตะวันออกอย่างเมืองเซี่ยงไฮ้ ฝูเจี้ยน และมณฑลเจียงซี อย่างไรก็ตาม ครอบครัวในชนบทจะได้รับผลกระทบจากปัญหาสินสอดแพงมากกว่าครอบครัวในเมือง เนื่องจากมีอัตราส่วนทางเพศที่บิดเบือนมากกว่า ประกอบกับภาระค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ตกต่ำลง หลายครอบครัวต้องกัดฟันซื้อบ้านในเมือง เพื่อให้ลูกสามารถเข้าเรียนในสถานศึกษาชั้นนำ เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงคอนเนกชัน ซึ่งเป็นการวางรากฐานชีวิตอนาคตในยุคที่การแข่งขันสูง

ถามว่าปัญหาปั่นค่าสินสอด ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างขนาดไหน ก็ขนาดที่ล่าสุดในปี 2566 รัฐบาลท้องถิ่นแต่ละเมืองต้องออกแคมเปญต่อต้านประเพณีเรียกสินสอด โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันให้ประชาชนเลิกยึดติดกับขนบธรรมเนียมเดิมๆ ซึ่งเป็นอุปสรรคขัดขวางการสร้างครอบครัวของคนรุ่นใหม่

อ้างอิง

ติดตามข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศ กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์