ปฏิเสธไม่ได้ว่า "อาเซียน" พึ่งพาการเติบโตทางเศรษฐกิจจาก "จีน" เป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะด้านการค้า-การลงทุน ท่ามกลางเศรษฐกิจจีนที่โตต่ำลงมาอยู่ที่ระดับ 5% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 ที่โตอยู่ที่ 7-8% เนื่องจากวิกฤติอสังหาฯ บั่นทอนความเชื่อมั่นการบริโภคในประเทศ และสงครามการค้า แม้อาเซียนจะได้รับผลกระทบไม่น้อย แต่ก็เป็นโอกาสทองสำหรับภูมิภาคที่เต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ และคนวัยหนุ่มสาวในการดึงดูดทุนข้ามชาติที่กระจายซัพพลายเชนออกจากจีน
รายงาน The Southeast Asia Outlook 2024-2034 ซึ่งร่วมกันจัดทำโดย Angsana Council, U.S. consultancy Bain & Co. and Singapore's DBS Bank คาดการณ์ว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า อาเซียนจะมีมูลค่าเศรษฐกิจ (GDP) และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) แซงหน้าจีน โดย GDP อาเซียน 6 ประเทศหลัก ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม จะเติบโตเฉลี่ยปีละ 5.1% จนถึงปี 2034 แซงหน้าเศรษฐกิจจีนที่คาดว่าจะเติบโตช่วง 3.5-4.5%
โดย GDP เวียดนาม คาดว่าจะนำการเติบโตในภูมิภาค ที่ระดับ 6.6% ตามมาด้วยฟิลิปปินส์ 6.1% ในขณะที่ไทยและสิงคโปร์โตต่ำสุดไม่ถึง 3% ทั้งนี้ความได้เปรียบทางประชากรที่ส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาว และการกระจายซัพพลายเชนออกจากจีน เป็นปัจจัยที่ผลักดันการเติบโตเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะศักยภาพการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติอย่าง FDI ที่คาดว่าจะแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจาก FDI สุทธิปี 2023 ของหกประเทศเศรษฐกิจหลักอาเซียนที่มูลค่ารวมกัน 2 แสนล้านดอลลาร์ แซงหน้ามูลค่า FDI ของจีน ซึ่งอยู่ที่ 4.2 หมื่นล้านดอลลาร์ เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี
นอกจากนี้ในอนาคตคาดว่าจีนจะเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดในอาเซียน แซงหน้าสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ซึ่งครองมูลค่าสูงสุด อยู่ที่ 3.7 หมื่นล้านดอลลาร์ และ 2.7 หมื่นล้านดอลลาร์ตามลำดับ
"ไม่ใช่แค่นักลงทุนต่างชาติในจีน แต่นักลงทุนชาวจีนเอง ก็กำลังมองหาลู่ทางย้ายธุรกิจออกนอกประเทศ เพื่อหลีกเลี่ยงข้อจํากัดด้านภาษีและความกังวลด้านความปลอดภัย" Charles Ormiston ประธาน Angsana Council กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในแง่ของการเติบโต GDP ที่แท้จริง จีนยังนำหน้าอาเซียนอย่างไม่เห็นฝุ่น โดยในอีก 10 ปีข้างหน้า คาดว่า GDP ที่แท้จริงของจีน จะมีมูลค่าอยู่ที่ 154 ล้านล้านหยวน (21 ล้านล้านดอลลาร์) หรือคิดเป็นประมาณ 5 เท่าของ 6 ประเทศอาเซียนรวมกัน นอกจากนี้ในปี 2029 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่า GDP ที่แท้จริงของจีน จะคิดเป็น 4.3 เท่าของมูลค่าทั้งอาเซียน
เพื่อกระตุ้นการเติบโต รายงานแนะนำว่ากล่าวว่า ประเทศต่างๆ ควรจัดลําดับความสําคัญของการลงทุน มุ่งเน้นไปที่อุตสาหกรรมเกิดใหม่ ที่เหมาะสมกับศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานในประเทศทั้งแรงงาน และทรัพยากรธรรมชาติ โดยการส่งเสริมระบบนิเวศด้านสตาร์ทอัพ และการเสริมความแข็งแกร่งให้ตลาดทุน จะเป็นกุญแจสําคัญในการจัดหาเงินให้กับทุนให้กับบริษัทใหม่ๆ
ทั้งนี้รายงานเตือนว่า การใช้จุดขายแบบเดิมๆ เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นแรงงานราคาถูก มาตรการยกเว้นภาษี-สนับสนุนที่ดินตั้งโรงงาน ไม่ได้ช่วยดึงดูด FDI คุณภาพสูง ในทางกลับกัน Ormiston กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมด้านแหล่งพลังงานสะอาด ซึ่งมีต้นทุนต่ำและเชื่อถือได้ จะกลายเป็น "ตัวขับเคลื่อนหลัก" ที่ช่วยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนในอีกไม่กี่ปีข้าง เนื่องจากบริษัทระดับโลกหันมาให้ความสำคัญกับการลดใช้พลังงานฟอสซิล เพื่อผลักดัน Net Zero ปัจจุบันอาเซียนยังเป็นภูมิภาคที่พึ่งพาก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน เพื่อผลิตพลังงานราคาถูก ทำให้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีการลงทุนด้านพลังงาน แสงอาทิตย์และพลังงานลมในระดับต่ำที่สุดในโลก
อ้างอิง
ติดตามข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศ กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney