จีน เทกระจาด “ของถูก” ลงอาเซียน รัฐบาลหลายประเทศ แก้เกม ตั้งกำแพงภาษี ช่วยผู้ประกอบการท้องถิ่น

Economics

World Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

จีน เทกระจาด “ของถูก” ลงอาเซียน รัฐบาลหลายประเทศ แก้เกม ตั้งกำแพงภาษี ช่วยผู้ประกอบการท้องถิ่น

Date Time: 31 ก.ค. 2567 18:50 น.

Video

บรรยง พงษ์พานิช แกะปมเศรษฐกิจไทยโตต่ำ ฟื้นช้า พร้อมแนะทางออก

Summary

  • จากการผลิตสินค้าจำนวนมหาศาล จนล้นตลาด "จีน" จึงเร่งส่งออกสินค้าสู่ตลาดอื่น และหนึ่งในนั้นคือ ตลาดอาเซียน ที่กำลังได้รับผลกระทบจากการไหลทะลักเข้ามาของสินค้าราคาถูกจากจีน จนทำให้ร้านค้าขนาดเล็กและขนาดกลางในท้องถิ่นเริ่มสู้ไม่ไหว ด้านรัฐบาลของแต่ละประเทศจึงเร่งหานโยบายแก้เกมช่วยเหลือผู้ประกอบการ เพิ่มกำแพงภาษีนำเข้า

Latest


ปัญหาสินค้าจีนที่มี “ราคาถูก” และมีเยอะจน “ล้นตลาด” กำลังสร้างผลกระทบให้กับหลายประเทศทั่วโลก จากนโยบายภายในประเทศ ที่จีนกำลังผลักดันสินค้าคงค้างจากการผลิตจำนวนมหาศาลให้ออกสู่ต่างประเทศ และออกมาในราคาที่ถูกมาก เพื่อเคลียร์สต๊อกสินค้าเดิมออกไปได้

และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ก็คือหนึ่งในตลาดส่งออกหลักของจีนที่ทุกวันนี้ มีสินค้าจีนราคาถูกหลั่งไหลเข้ามา ทั้งจากการนำเข้าของเจ้าของกิจการ และจากการสั่งสินค้าโดยตรงของลูกค้าผ่านแพลตฟอร์ม e-Commerce

เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ คือ ประเทศที่มีสัดส่วนการนำเข้าสินค้าจากจีนต่อปีสูง จนส่งผลให้ผู้ผลิตสินค้ากลุ่มฟาสต์แฟชั่นและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในบางประเทศต้องปรับกลยุทธ์ บ้างต้องปลดพนักงานออก เนื่องจากไม่สามารถทำยอดขายสู้แพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง TikTok Shop ได้


รัฐบาลตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าจีน ช่วยผู้ผลิตในประเทศ


พนักงานกว่า 49,000 คน ของโรงงานสิ่งทอในอินโดนีเซียต้องถูกให้ออกจากงาน เนื่องจากโรงงานผลิตต้องปิดตัวลง ส่งผลให้รัฐบาลอินโดนีเซียต้องเร่งหาทางรับมือ แก้ปัญหาสินค้าจีนครองตลาด ผ่านการเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้ากลุ่มสิ่งทอขึ้น 200% และมีแผนว่าจะเพิ่มภาษีสินค้านำเข้า กลุ่มเซรามิก เสื้อผ้า รองเท้า เครื่องสำอาง และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อีกด้วย

นอกจากนี้แล้ว ประเทศอื่นๆ ในอาเซียนก็ได้ออกนโยบายก่อกำแพง ลดการนำเข้าสินค้าจีนราคาถูกลงอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สินค้าที่เข้ามาผ่านแพลตฟอร์ม e-Commerce

เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทางมาเลเซียก็ได้เพิ่มระดับภาษีการค้าขึ้น 10% ในสินค้านำเข้าที่ซื้อผ่านช่องทางออนไลน์และมีมูลค่าไม่ถึง 500 ริงกิต (หรือประมาณ 3,900 บาท) โดยที่ก่อนหน้านี้ ได้มีการละเว้นภาษีนำเข้าสินค้าเหล่านี้

ในขณะที่ประเทศไทย ก็ได้มีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) กับสินค้าที่มีมูลค่าไม่ถึง 1,500 บาท จากที่ก่อนหน้านี้ไม่มีการเก็บภาษีดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อที่จะเพิ่มความเท่าเทียมให้กับระบบการค้าในตลาดและให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

อย่างไรก็ตาม ความกังวลไม่ได้มีแค่เรื่องสินค้าจีนราคาถูกเข้ามาตีตลาดสินค้าท้องถิ่น แต่ยังมีเรื่องของการทำการตลาด (Marketing) ของเหล่าผู้ขายจากจีนที่ยอมทุ่มทั้งส่วนลด และโปรโมชัน จนเกิดความไม่เท่าเทียมขึ้นในตลาด ด้านรัฐบาลของแต่ละประเทศจึงได้เข้าหารือกับจีน เพื่อให้ฝั่งจีนเข้ามาลงทุนในธุรกิจการผลิตท้องถิ่นของประเทศนั้นๆ โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยี


มูลค่าการนำเข้า สูงกว่าส่งออก


ในขณะที่สินค้าจำนวนมากกำลังหลั่งไหลออกนอกประเทศจีนเข้าสู่ประเทศอาเซียน แต่สินค้าในอาเซียนกลับส่งออกไปประเทศจีนในอัตราที่น้อยกว่า

อย่างในประเทศไทย ตลาดจีน คือ ตลาดส่งออกลำดับที่ 2 รองจากสหรัฐอเมริกา โดยที่ยอดการส่งออก-นำเข้าของไทยกับจีนในปี 2023 ขาดดุลอยู่ที่ 3.66 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าปี 2020 ที่ขาดดุลอยู่ที่ 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ 

เช่นเดียวกันกับมาเลเซีย ที่ยอดนำเข้า-ส่งออกระหว่างจีน ขาดดุลมากขึ้น ซึ่งเพิ่มจาก 3.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มาเป็น 1.42 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

แต่กลับกันกับฝั่งอินโดนีเซียที่ยังสามารถรักษาดุลการค้าไว้ได้ เนื่องจากยอดการส่งออกสินค้ากลุ่มโลหะไปสู่จีนสูง แต่ก็ยังคงขาดดุลกว่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในการส่งออกสินค้ากลุ่ม Non-Oil และแก๊ส

จากข้อมูลของนักเศรษฐศาสตร์ HSBC มีการเขียนรายงานออกมาว่า “ในอาเซียน มีการขาดดุลเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง นับจากช่วงโควิด-19 ที่ขาดดุลประมาณ 8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ปัจจุบันนี้มูลค่าขาดดุลน่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.15 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว”


e-Commerce ดันสินค้าจีนทะลักตลาด


การเติบโตของ Shopee, Lazada และ TikTok Shop กลายเป็นตัวช่วยสำคัญให้สินค้าราคาถูกจากจีนไหลทะลักเข้าตลาดอาเซียน ตลาด e-Commerce ในอาเซียนมีมูลค่าการซื้อขายอยู่กว่า 1.14 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

และล่าสุดในประเทศไทย ก็มี Temu แพลตฟอร์มเจ้าใหม่ที่พร้อมเข้ามาตีตลาดไทย ด้วยราคาสินค้าที่ถูกมาก และบางรายการสินค้ายังให้ส่วนลดถึง 90%

ถึงแม้ว่า แต่ละประเทศจะมีนโยบายในการเก็บภาษีเพิ่ม ฝั่งผู้เชี่ยวชาญกลับมองว่า “แทบจะไม่ส่งผลอะไรต่อการนำเข้าสินค้าจีน” และจะยังคงส่งผลกระทบกับธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก

จุดเริ่มต้นของผลกระทบระยะยาวนี้ เริ่มต้นเมื่อปี 2022 ที่ทั้ง 10 ประเทศอาเซียนได้ลงนามความตกลงการเป็นหุ้นส่วนระดับภูมิภาค (RCEP) ร่วมกับ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เพื่อเปิดเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยจะยกเลิกภาษีนำเข้า และลดภาษีศุลกากรในสินค้าประเภทต่างๆ 

ผลกระทบที่แม้จะขึ้นภาษีนำเข้า ก็ยังคงสร้างความเสียหายให้กับธุรกิจ SMEs ยกตัวอย่างเช่น เราสามารถซื้อเคสโทรศัพท์มือถือได้ในราคาไม่เกิน 50 บาท และหากบวก VAT เข้าไปอีก 7% ก็ยังคงมีราคาต่ำกว่าสินค้าหน้าร้าน ที่ปัจจุบันบางร้านมีราคาสูงถึง 500 บาท


จีน ทุ่มเงินลงทุนในตลาดอาเซียน


การขาดดุลนี้ ยังมีผลมาจากการที่จีนเข้ามาตั้งโรงงานผลิตและโรงงานประกอบชิ้นส่วนในประเทศอาเซียนด้วยเช่นกัน เนื่องจากจีนต้องการลดต้นทุนในการส่งออกสินค้า และต้องการลดความตึงเครียดด้านการค้ากับฝั่งตะวันตก

สำหรับประเทศไทย จีน คือ แหล่งเงินทุนใหญ่ที่เข้ามาลงทุน ซึ่งในปี 2023 จีนลงทุนในไทยไปว่า 1.57 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมีสัดส่วน 34.5% ของเงินลงทุนทั้งหมดในอาเซียน

อย่างไรก็ตาม ในหลายประเทศอาเซียน มีการผลักดันให้การลงทุนเหล่านี้มุ่งไปสู่ “ผลิตภัณฑ์ทางเลือกใหม่” หรือ “Green Goods” ยกตัวอย่างในไทย ที่ไม่มีการจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้ากลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV เพื่อให้ผู้ผลิตยานยนต์อย่าง BYD และ GM ได้เข้ามาใช้ไทยเป็นฐานการผลิต EV โดยที่จะต้องให้การสนับสนุนลูกค้าไทยในการซื้อยานยนต์ไฟฟ้า

ในขณะที่หลายฝ่ายมองว่าการเข้ามาของยานยนต์ไฟฟ้า และการขายออกในราคาที่ถูกลงเรื่อยๆ จะเป็นผลดีต่อลูกค้า แต่ก็ยังมีผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยลูกค้าบางส่วนไม่พอใจที่รถรุ่นเดียวกันแต่เวลาผ่านไปกลับขายในราคาที่ถูกลง และเช่นเดียวกันกับฝั่งผู้ผลิตเข้าอื่นในตลาดไทย ทั้ง Honda, Toyota และอื่นๆ ที่กำลังถูกกดดันเรื่องราคา

การเข้ามาตั้งโรงงานผลิตของจีนในภูมิภาคนี้ ไม่ได้ส่งผลกระทบกับธุรกิจในประเทศอาเซียนเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีผลไปถึงการส่งออกไปต่างประเทศอีกด้วย อย่างเช่น กรณีของสหรัฐอเมริกาที่ได้ปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้ากลุ่มโซลาร์เซลล์ของจีนขึ้น 250% แม้ว่าสินค้าเหล่านี้จะผลิตในกัมพูชา มาเลเซีย ไทย และเวียดนามก็ตาม


ที่มา: Nikkei Asia, Thairath Money (1)(2)

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ