"ญี่ปุ่น" จุดหมายปลายทางของคนทั่วโลก รัฐบาลผุดมาตรการรับมือนักท่องเที่ยวล้น

Economics

World Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

"ญี่ปุ่น" จุดหมายปลายทางของคนทั่วโลก รัฐบาลผุดมาตรการรับมือนักท่องเที่ยวล้น

Date Time: 15 ก.ค. 2567 06:01 น.

Summary

  • การท่องเที่ยวทั่วโลกได้กลับมามีความคึกคัก จากการสิ้นสุดของผลกระทบจากโควิด–19 สำหรับประเทศญี่ปุ่นแล้ว การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวไม่ได้เป็นเพียงการกลับสู่สภาพปกติเท่านั้น แต่ยังเป็นการเริ่มต้นไปสู่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่า กับการที่รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ได้ถึง 60 ล้านคน ภายในปี 2573

Latest

“มะพร้าวเวียดนาม” มาแรง จ่อชิงส่วนแบ่งตลาดของไทยในจีน หลังจีนเตรียมนำเข้าอย่างเป็นทางการ

หนึ่งในปัจจัยที่อาจช่วยให้เป้าหมายนี้เป็นไปได้ก็คือ การอ่อนตัวของค่าเงินเยน เมื่อเปรียบเทียบกับเงินสกุลหลักอื่นๆ ค่าเงินเยนได้อ่อนตัวลงมาก ซึ่งในเดือน มิ.ย.2567 ทำสถิติอ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 34 ปี สาเหตุหลักมาจากนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น ที่ยังคงอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นปัญหาต่อเนื่องมายาวนาน ขณะที่สหรัฐฯได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ

ค่าเงินเยนที่อ่อนตัวลงส่งผลดีต่อธุรกิจท่องเที่ยว ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติหลั่งไหลเข้ามา เพราะค่าใช้จ่ายที่ถูก รวมไปถึงนโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาลญี่ปุ่น ด้วยการยกเว้นวีซ่า ให้กับผู้ถือหนังสือเดินทางครอบคลุม 71 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยที่เดินทางเข้าไปท่องเที่ยวและพำนักได้ไม่เกิน 15 วัน

ภาพลักษณ์ของญี่ปุ่นในด้านท่องเที่ยว มีความหลากหลายที่มีการพัฒนาทั้งทางศิลปวัฒนธรรม วัด ศาลเจ้า แสง สี และธรรมชาติ พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะ แหล่งช็อปปิ้งที่หลากหลาย และอาหารการกินที่อร่อย

ทั้งหมดนี้เป็นเสน่ห์ที่พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก

โซเชียลมีเดียดันท่องเที่ยวทุบสถิติ

กระแสในโลกโซเชียลมีเดีย เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมการท่องเที่ยว การแชร์ประสบการณ์การท่องเที่ยว เช่น การโพสต์ภาพถ่ายทิวทัศน์ที่สวยงาม, วิดีโอที่น่าสนใจเกี่ยวกับวัฒนธรรม, การรีวิวร้านอาหาร และสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ สร้างแรงบันดาลใจและกระตุ้นความสนใจในการเดินทางไปเยือน

อีกทั้งการปักหมุดและการแชร์ต่างๆ ทำให้การท่องเที่ยวในยุคนี้ เข้าถึงสถานที่ใหม่ๆได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นการค้นหาแหล่งท่องเที่ยว สถานที่สำคัญ แลนด์มาร์กของแต่ละเมือง ร้านอาหาร กิจกรรมการท่องเที่ยวที่มีขึ้นตลอดทั้งปี

ปัจจัยเหล่านี้ได้ผลักดันให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของญี่ปุ่นในยุคปัจจุบันเติบโตอย่างรวดเร็ว การท่องเที่ยวเป็นแรงหนุนสำคัญ ที่ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของญี่ปุ่นเกินดุลมาเป็นเวลา 13 เดือน จำนวนนักท่องเที่ยวทำสถิติใหม่อย่างต่อเนื่อง

จากข้อมูลขององค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น ระบุ 3 เดือนล่าสุด เดือน มี.ค.–พ.ค.2567 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าเกินเดือนละ 3 ล้านคน 3 เดือนติดต่อกัน โดยในเดือน มี.ค.มีนักท่องเที่ยวเข้า 3.08 ล้านคน เป็นสถิติสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา

ขณะที่เดือน เม.ย.มีจำนวน 3.04 ล้านคน และล่าสุดเดือน พ.ค. จำนวน 3.04 ล้านคน รวม 5 เดือน อยู่ที่ 14.6 ล้านคน ทำลายสถิติในปี 2562 ที่ 5 เดือนแรกมีนักท่องเที่ยว 13.7 ล้านคน โดยปีนั้นก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ญี่ปุ่นมีนักท่องเที่ยวสูงสุดที่ 31.8 ล้านคน

ตัวเลขนักท่องเที่ยว 5 เดือนแรกของปีนี้ ปรากฏว่านักท่องเที่ยวเกาหลีเป็นอันดับหนึ่ง จำนวน 738,000 คน หรือคิดเป็น 24.3% ตามด้วยจีน จำนวน 545,000 คน หรือ 17.9% ไต้หวัน 466,000 คน หรือ 15.3% สหรัฐฯ 247,000 คน หรือ 8.1% ฮ่องกง 217,000 คน หรือ 7.2% และไทย 94,700 คน หรือ 3.2%

จากตัวเลขที่ทุบสถิติต่อเนื่อง ยังส่งผลให้นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น ถึงกับออกมากล่าวว่า หากญี่ปุ่นยังคงรักษาระดับตัวเลขนี้ต่อไปได้ ญี่ปุ่นอาจบรรลุเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยวสูงสุดในปี 2567 ซึ่งเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ในปี 2568

คอนเทนต์โปรโมตท่องเที่ยวราคาถูก

ความนิยมยังมาจากยูทูบเบอร์และอินฟลูเอนเซอร์ที่ทำคอนเทนต์เกี่ยวกับการท่องเที่ยวญี่ปุ่นในราคาย่อมเยาออกมาต่อเนื่อง บางคอนเทนต์ เปรียบเทียบกับไทยและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวราคาประหยัดยอดนิยม ดังเช่นรายงานของสำนักงานไปรษณีย์แห่งประเทศอังกฤษ ที่ได้สำรวจจุดหมายปลายทางที่คุ้มค่าที่สุดกับการใช้เงินปอนด์เพื่อจ่ายราคาอาหาร เครื่องดื่ม และรายการท่องเที่ยวอื่นๆทั่วโลก

อ้างอิงจากดัชนีค่าใช้จ่ายวันหยุดทั่วโลก ระบุว่า กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เป็นจุดหมายปลายทางที่ดีที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลกในแง่ของความคุ้มค่าสำหรับนักท่องเที่ยว ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 59.05 ปอนด์ ซึ่งถูกกว่าไทย โดยภูเก็ตอยู่ในอันดับที่ 12 ที่ค่าใช้จ่ายในวันหยุดที่ 77.77 ปอนด์

Suitcase Monkey ยูทูบเบอร์ชื่อดังด้านการท่องเที่ยว ได้โพสต์วิดีโอให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ตอบคำถามทั่วไปสำหรับผู้ที่มาญี่ปุ่นครั้งแรก ครอบคลุมหัวข้อต่างๆ เช่น เวลา เดินทางที่ดีที่สุด เคล็ดลับการเดินทางที่สำคัญ ทางเลือกในการคมนาคม วัฒนธรรม มารยาท สถานที่ท่องเที่ยวที่ต้องไปเยือน และได้อธิบายว่าการท่องเที่ยวในประเทศญี่ปุ่นในยุคนี้ไม่ได้แพงอย่างที่คิด บางครั้งค่าใช้จ่ายถูกกว่าไทยและอินโดนีเซีย

ในอดีตที่ผ่านมา ญี่ปุ่นแทบจะไม่เคยถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มเดียวกับไทย เวียดนาม หรืออินโดนีเซีย ในด้านของค่าครองชีพและค่าใช้จ่ายท่องเที่ยวที่เอื้อมถึง โดยเฉพาะก่อนที่ค่าเงินเยนจะอ่อนตัวลงขนาดนี้

เมื่อมองถึงความเป็นมิตรต่อคนต่างชาติ ชาวญี่ปุ่นทั่วไปมีความสุภาพและต้อนรับขับสู้ แต่ในสถานการณ์การท่องเที่ยวเติบโตสูงมาก คลื่นนักท่องเที่ยวแห่เข้ามาเป็นจำนวนมาก สถานที่ไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยว กลับคลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวแห่ตามจุดเช็กอินที่เห็นผ่านโซเชียลมีเดีย จนทำให้ชาวญี่ปุ่นบางส่วนปรับตัวไม่ทัน เพราะถูกรบกวนความเป็นส่วนตัวของผู้คนในท้องถิ่น หรือไปสร้าง ความวุ่นวาย รวมถึงการละเมิดกฎระเบียบต่างๆ จนทำให้ทางญี่ปุ่น ต้องออกมาจัดระเบียบกันตามข่าวที่มีการรายงานออกมากันเป็นระยะๆ

ผลกระทบนักท่องเที่ยวล้นเมือง

ปัญหานักท่องเที่ยวล้นเมือง ทำให้รัฐบาลต้องกำหนดมาตรการรับมือและอนุมัติงบประมาณให้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือน เม.ย. 2567

อาทิ ร้านสะดวกซื้อลอว์สัน ที่มีวิวภูเขาไฟฟูจิยืนตระหง่านอยู่เบื้องหลังอย่างสวยงาม คลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวเพื่อไปถ่ายรูป แต่ด้วยถนนด้านหน้าคับแคบ นักท่องเที่ยวไม่สนใจเคารพกฎจราจร ข้ามถนนไปมา ยืนถ่ายรูปข้างถนน จอดรถรบกวนคนท้องถิ่นที่สัญจรไปมา

ทำให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นตัดสินใจสร้างกำแพงตาข่ายขนาด 20 เมตร x 2.5 เมตร ปิดกั้นวิวภูเขาไฟฟูจิ เพื่อลดปัญหาการจราจรและพฤติกรรมไม่เหมาะสมจากนักท่องเที่ยว แต่ไม่นานนัก กำแพงนี้ถูกเจาะรูตาข่ายโดยนักท่องเที่ยว สร้างความเอือมระอา จนเจ้าหน้าที่มีแผนติดตั้งตาข่ายที่ทำจากวัสดุที่แข็งแรงมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะติดตั้งรั้วสูง 1.8 เมตร ยาว 400 เมตร ที่บริเวณสะพานฟูจิซัง ยูเมะโนะ โอฮาชิ เพื่อป้องกันไม่ให้นักท่องเที่ยวเสี่ยงอันตรายโดยการข้ามถนนเพื่อถ่ายรูป เพื่อขอให้นักท่องเที่ยวช่วยกันรักษากฎ ซึ่งสะพานแห่งนี้เริ่มเป็นกระแสไวรัลมาตั้งแต่เดือน พ.ย.2566 ทำให้มีนักท่องเที่ยวแห่กันมาที่นี่

ขณะที่เมืองเกียวโตได้ตัดสินใจที่จะห้ามนักท่องเที่ยวเข้าไปในถนนส่วนตัวในย่านกิออน ซึ่งเป็นย่านเกอิชา ตั้งแต่เดือนเมษายน 2567 เป็นต้นไป เพื่อปกป้องชุมชนและศิลปวัฒนธรรมในท้องถิ่น เมืองเกียวโตยังได้ยกเลิกบัตรโดยสารรถบัสแบบวันเดียวที่มีส่วนลด เพื่อควบคุมจำนวนนักท่องเที่ยวในเมืองอีกด้วย

สำหรับฤดูปีนภูเขาไฟฟูจิในปี 2567 นี้ ได้มีคำสั่งเก็บค่าธรรมเนียมปีนเขา 2,000 เยน บนเส้นทางโยชิดะ เพื่อแก้ไขปัญหาปริมาณ

นักท่องเที่ยวล้น พร้อมจำกัดนักปีนเขาไว้ไม่เกิน 4,000 คนต่อวัน ซึ่งช่วงที่ผ่านๆมา การปีนภูเขาฟูจิมักเกิดปัญหามาตลอด บางคนปีนในช่วงกลางคืน ไม่ยอมหยุดพักตามจุดพัก บางคืนกางเต็นท์กลางทางเดิน สร้างความเดือดร้อนให้นักปีนเขาคนอื่น

ขณะที่ปราสาทฮิเมจิ หนึ่งในสถานที่มรดกโลกจากยูเนสโก ได้ดำเนินมาตรการใหม่ ลดผลกระทบจากนักท่องเที่ยวที่มากเกินไป โดยมีแผนเพิ่มค่าธรรมเนียมการเข้าชมสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 4 เท่า จากเดิมที่ค่าเข้าชมอยู่ที่ 1,000 เยน จะเพิ่มเป็นประมาณ 4,000 เยน

นายอิชิโร ทากาฮาชิ กรรมาธิการสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า รัฐบาลได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการท่องเที่ยวล้นต่อเนื่อง ยอมรับว่าเป้าหมายนักท่องเที่ยวที่ตั้งไว้ 60 ล้านคนนั้น ยากต่อการจัดการ แต่อยู่ในขอบเขตของ ความเป็นไปได้ เพราะยังมีสถานีท่องเที่ยวอื่นๆในญี่ปุ่นอีกหลายแห่งที่นักท่องเที่ยวยังไม่รู้จัก และเชื่อว่าญี่ปุ่นมีทรัพยากรการท่องเที่ยวที่ไม่มีสิ้นสุด

คนญี่ปุ่นกับผลกระทบเยนอ่อนค่า

แม้เงินเยนที่อ่อนค่าลงจะส่งผลดีต่อการท่องเที่ยว แต่ชาวญี่ปุ่นกลับต้องเผชิญกับผลกระทบจากราคาสินค้านำเข้าที่แพงขึ้น ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นกำลังหามาตรการที่เหมาะสม เพื่อช่วยเหลือประชาชน

นับว่าสวนทางกับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับประโยชน์ ที่ผ่านมาจึงเกิดกระแสเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือ แต่จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีมาตรการใดๆออกมา

แต่สำหรับผู้ประกอบการร้านอาหารหรือสถานที่ท่องเที่ยวบางแห่ง ได้เริ่มดำเนินการด้วยตนเองโดยไม่รอภาครัฐ โดยการเก็บเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติและชาวญี่ปุ่น ในอัตราที่แตกต่างกัน เรียกว่า “Gaijin Tax” ชาวต่างชาติจะต้องจ่ายในราคาแพงกว่า เช่น ร้านอาหารแห่งหนึ่งในย่านชิบูย่า บุฟเฟต์อาหารทะเล คิดราคา 2 เมนู สำหรับต่างชาติคนละ 8,778 เยน ส่วนผู้มีหลักฐานแสดงถิ่นที่อยู่ในญี่ปุ่นจ่ายถูกลง 1,000 เยน ซึ่งหลายๆร้านอาหารตามแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่งได้ปรับราคาขึ้น และตั้งราคาเมนู 2 อัตราเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ ทางเมืองโอซากามีแผนที่จะเก็บค่าธรรมเนียมจากนักท่องเที่ยวที่พำนักค้างคืน นอกเหนือจากภาษีที่พักปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 100-300 เยนต่อคืน สำหรับห้องพักราคาเกิน 7,000 เยน หากข้อเสนอนี้ได้รับการอนุมัติ อาจเริ่มบังคับใช้ในเดือน เม.ย. 2568 ก่อนงาน Expo 2025 Osaka ที่เมืองโอซากาเป็นเจ้าภาพ

...ในภาวะเช่นนี้ การท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่นได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญ สำหรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่มีปัญหาซบเซามายาวนาน จึงดูเหมือนว่าญี่ปุ่นจะเดินมาถูกทางในการนำทรัพยากรทางการท่องเที่ยวที่มีมากมาย มากระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยว

แต่การที่นักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาหนาแน่น รุกล้ำพื้นที่ส่วนตัว มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ละเมิดกฎระเบียบและกฎหมายที่ชาวญี่ปุ่นยึดปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเสมอ จึงนับเป็นโจทย์ท้าทายของรัฐบาลญี่ปุ่น ว่าจะจัดการปัญหาได้หรือไม่ และจะรับมือนักท่องเที่ยวที่เพิ่มเป็น 60 ล้านคนตามเป้าหมายอย่างไร.

ทีมเศรษฐกิจ

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปเศรษฐกิจ” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ