จีนเดินหน้ายกระดับมาตรการคุมเข้มการขายชอร์ต (Short Sell) และโปรแกรมเทรดหุ้นอัตโนมัติ หวังลดความผันผวน รักษาเสถียรภาพตลาดหุ้นที่ตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง จากวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศ
เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (10 ก.ค. 2567) คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์จีน หรือ The China Securities Regulatory Commission (CSRC) ประกาศเพิ่มขั้นต่ำหลักประกันการขายชอร์ตเป็น 100% ของมูลค่าหุ้น จากเดิมซึ่งอยู่ที่ 80% ของมูลค่าหุ้น สำหรับนักลงทุนรายย่อย และเพิ่มขั้นต่ำเป็น 120% จากสัดส่วนเดิมซึ่งอยู่ที่ 100% ของมูลค่าหุ้น สำหรับกองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 22 ก.ค.นี้
ทั้งนี้การเพิ่มขั้นต่ำหลักประกันจะช่วยลดแรงจูงใจในการขายชอร์ต ของกองทุนเฮดจ์ฟันด์ และนักลงทุนรายย่อย เนื่องจากต้นทุนการทำธุรกรรมซื้อขายรูปแบบดังกล่าวมีราคาแพงมากขึ้น นอกจากนี้ CSRC ยังสั่งให้ China Securities Finance Corp. ซึ่งเป็นผู้ให้ยืมหลักทรัพย์รายใหญ่ที่สุดของประเทศ ระงับธุรกิจให้ยืมหลักทรัพย์ชั่วคราว แก่โบรกเกอร์ โดยเริ่มมีผลตั้งแต่ 11 ก.ค.เป็นต้นไป
ทั้งนี้มาตรการดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่ CSI300 ดัชนีหุ้นหลัก ซึ่งประกอบด้วยหุ้นจีน A-Share ขนาดใหญ่ 300 ตัวแรกในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ (SSE) และตลาดหลักทรัพย์เซินเจิ้น (SZSE) มูลค่าลดลงต่อเนื่อง 7 สัปดาห์ติดต่อกัน ทำให้ตั้งแต่กลางเดือน พ.ค. มูลค่าตลาดหุ้นหายไปกว่า 1 ล้านล้านหยวน แม้ในวันนี้ดัชนีหุ้นจีนจะปรับดีขึ้น เนื่องจากนักลงทุนเริ่มกลับมามีความเชื่อมั่น แต่คาดว่ามาตรการนี้จะส่งผลกระทบอย่างจำกัดในระยะยาว เนื่องจากปัจจุบันมูลค่าการซื้อขายชอร์ตมีสัดส่วนเพียง 0.05% ของมูลค่ารวมตลาด โดยมูลค่าการยืมหลักทรัพย์คงค้างลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่งนับตั้งแต่สิ้นปี 2566 มาอยู่ที่ 31.8 พันล้านหยวน (4.4 พันล้านดอลลาร์)
Redmond Wong นักยุทธศาสตร์การตลาดของ Saxo Capital Markets กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวส่งสัญญาณว่าหน่วยงานกำกับดูแลของจีนมีความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้น ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการขายชอร์ตแบบกระจุกตัว โดยมาตรการดังกล่าวอาจช่วยหนุนราคาหุ้นบางตัว ซึ่งคนมีความต้องการขายชอร์ตมาก แต่หายืมได้ยาก ซึ่งจะมีผลกระทบจำกัดต่อตลาดหุ้นในภาพกว้าง.
อ้างอิง