ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ทุบสถิติใหม่ ปิด 41,831 จุด สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ดันผลตอบแทนทะลุ 25% จากต้นปี

Economics

World Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ทุบสถิติใหม่ ปิด 41,831 จุด สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ดันผลตอบแทนทะลุ 25% จากต้นปี

Date Time: 10 ก.ค. 2567 18:18 น.

Video

“The Summer Coffee Company” มากกว่า เครื่องดื่ม คือ ความสุข | Brand Story Exclusive EP.3

Summary

  • Nikkei 225 ปิดตลาดทุบสถิติใหม่ 41,831.99 แรงหนุนหุ้นการเงิน พลัง AI เงินเยนอ่อนค่า ดันผลตอบแทนทะลุ 25% จากต้นปี

ดัชนีหุ้นญี่ปุ่น Nikkei 225 ทำสถิติสูงสุดใหม่ในการซื้อขายระหว่างวัน ที่ระดับ 41,889.16 จุด โดยได้รับแรงหนุนจากกลุ่มหุ้นการเงินที่ทำผลงานได้ดีกว่าตลาด นักลงทุนแห่ซื้อหุ้น เร่งการซื้อขาย จนทำให้ดัชนีปิดตลาดนิวไฮใหม่ บวกไป 0.6% ปิดที่ระดับ 41,831.99 ในขณะที่ Topix บวกเพิ่มขึ้น 0.47% ปิดที่ระดับสูงสุดใหม่ 2909.20 จุด


ทั้งนี้ในช่วงปีที่ผ่านมา ดัชนี Nikkei 225 ปรับเพิ่มขึ้นเกือบ 25% นับจากต้นปีที่ผ่านมาถึง 10 ก.ค. และปรับเพิ่มขึ้น 5% ในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา โดยได้รับแรงหนุนหลักจากแรงซื้อหุ้นที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ซึ่งเป็นผลมาจากกระแส AI ในแต่ละอุตสาหกรรมที่มีเติบโตอย่างรวดเร็ว รวมถึงบริษัทญี่ปุ่นที่พึ่งพาการส่งออกก็มีผลประกอบการที่แข็งแกร่ง สะท้อนจากกำไรที่ปรับสูงขึ้นจากอานิสงส์เงินเยนอ่อนค่า 


ดัชนีหุ้นหลักญี่ปุ่นที่ทำนิวไฮอย่างต่อเนื่องในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้นักวิเคราะห์คาดว่า รายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่จะออกมาในช่วงครึ่งหลังเดือนกรกฎาคม จะเป็นปัจจัยผลักดันให้หุ้นญี่ปุ่นปรับสูงขึ้นอีก


อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามความเสี่ยงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรทั่วโลกที่จะปรับสูงขึ้น ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางการเมือง Kyle Rodda นักวิเคราะห์ตลาดการเงินอาวุโสของ Capital.com มองว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่สูงขึ้น จะทำให้นักลงทุนมีความเสี่ยงน้อยลง แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้ต้นทุนการกู้ยืมเพื่อกระตุ้นการเติบโตมีราคาแพงขึ้น 

ล่าสุดวันนี้ (10 ก.ค. 2567) ญี่ปุ่นได้เปิดเผยดัชนีราคาสินค้าผู้ประกอบการ (CGPI) เดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นมาตรวัดราคาสินค้าและบริการที่สั่งซื้อ โดยบริษัทญี่ปุ่น ซึ่งสะท้อนเงินเฟ้อในภาคค้าส่ง ปรับเพิ่มขึ้น 2.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี 

สอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาด โดยปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 2.6% ในเดือน พ.ค. และปรับเร่งขึ้นในอัตราที่เร็วที่สุดเมื่อเทียบเป็นรายปี นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 ทำให้ดัชนีอยู่ที่ระดับ 122.7 ทำสถิติสูงสุดเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน 


ทั้งนี้ราคาภาคค้าส่งที่ปรับสูงขึ้นเป็นผลมาจากเงินเยนที่อ่อนค่า กดดันให้ต้นทุนนำเข้าวัตถุดิบของบริษัทเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ทำให้ตลาดคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีโอกาสจะขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 30-31 ก.ค.นี้ เนื่องจากดัชนี CGPI เป็นหนึ่งในข้อมูลสำคัญในการพิจารณานโยบายการเงิน.

อ้างอิง

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์