นับว่าเป็นช่วงพีกของการ “ท่องเที่ยวญี่ปุ่น” ตั้งแต่หลังโควิด “เงินเยน” ที่อ่อนค่าลงทะลุระดับ 161 เยนต่อดอลลาร์ และมีแนวโน้มอ่อนค่าหนักลงเรื่อยๆ ทำให้ค่าใช้จ่ายการท่องเที่ยวถูกลงระดับที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวทั่วโลก โดยเฉพาะคนไทย หลั่งไหลเข้าญี่ปุ่นสูงสุดเป็ประวัติการณ์
ข้อมูลจาก องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น (JNTO) ระบุว่า ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2567 มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าญี่ปุ่นสะสม 14.5 ล้านคน เพิ่มขึ้น 70% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะทุบสถิติ 31 ล้านคนเมื่อปี 2562 แม้การท่องเที่ยวญี่ปุ่นจะเป็นเดอะแบกเศรษฐกิจ ท่ามกลางการบริโภคในประเทศที่ซบเซา
แต่ก็มีคนญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยที่มองว่า การหลั่งไหลเข้ามาของนักท่องเที่ยวที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ได้จำกัดวงอยู่แค่นักท่องเที่ยวที่มี “กำลังใช้จ่ายสูง” เหมือนในอดีตนั้น เป็นข้อเสียมากกว่าข้อดี โดยในช่วงที่ผ่านมา เราจะเห็นข่าวนักท่องเที่ยวต่างชาติสร้างความวุ่นวาย รบกวนความเป็นอยู่ของคนท้องถิ่นในหลายพื้นที่ เช่น ร้านสะดวกซื้อ Lawson (ลอว์สัน) วิวภูเขาไฟฟูจิ ซึ่งเป็นจุดถ่ายรูปเช็กอินยอดฮิต ทะลักไปด้วยนักท่องเที่ยว จนทางการจังหวัดยามานาชิ ต้องปิดฉากกันบังวิวภูเขาไฟฟูจิหลังร้าน เพื่อจัดการปัญหานักท่องเที่ยวล้นเกิน
ล่าสุดสายการบินพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น Japan Airlines (JAL) และ All Nippon Airways (ANA) ได้อัปเดตนโยบายจัดการกับลูกค้าที่มีพฤติกรรมคุกคาม บนเว็บไซต์ของตัวเอง เพื่อแสดงจุดยืนต่อต้านพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ของนักท่องเที่ยวต่อพนักงานต้อนรับในสนามบิน ทั้งทางวาจาหรือทางร่างกาย ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จากการหลั่งไหลเข้ามาของนักท่องเที่ยว ที่พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้ 2 สายการบินเจ้าใหญ่ได้มีการระบุลักษณะ
พฤติกรรมผู้โดยสารที่เข้าข่ายคุกคามที่คล้ายคลึงกัน แบ่งออกเป็น 9 ข้อดังนี้
1.ภาษาที่ไม่เหมาะสม น้ำเสียงก้าวร้าว ดูถูก การเลือกปฏิบัติ ใส่ร้าย 2.คำพูดหรือการกระทำที่คุกคาม
3.ความต้องการที่มากเกินไปหรือไม่เหมาะสม
4.การจู่โจม
5.การกระทำที่ขัดขวางการดำเนินธุรกิจ (การกักขังเป็นเวลานาน การร้องขอหรือร้องเรียนซ้ำมากเกินไป)
6.การเข้าพื้นที่ปฏิบัติงานโดยไม่ได้รับอนุญาต
7.การกระทำอันเป็นการหลอกลวงพนักงาน
8.ใส่ร้ายบริษัทหรือพนักงานบนโซเชียลมีเดียและอินเทอร์เน็ต
9.ล่วงละเมิดทางเพศ
นอกจากนี้นโยบายของ ANA ยังรวมถึงการแอบดู การสะกดรอยตาม และพฤติกรรมอนาจารต่อพนักงานด้วย Yoshiko Miyashita รองประธานฝ่ายส่งเสริม CS ของ ANA ฝ่ายการจัดการประสบการณ์ลูกค้า กล่าวกับ Nikkei Asia ว่าการยกระดับนโยบายครั้งนี้มีจุดมุ่งหมาย เพื่อจัดการกับการขาดมาตรฐานที่ชัดเจน ทำให้พนักงานประสบปัญหาความยุ่งยากในการรับมือกับลูกค้า ด้าน JAL แก้ปัญหา ด้วยการให้พนักงานของสายการบินเข้ารับการฝึกอบรมการรับมือกับพฤติกรรมการคุกคาม เพื่อให้สามารถจัดการกับปัญหาดังกล่าวได้อย่างรวดเร็วและเหมาะสม
ทั้งนี้ผู้โดยสารที่ละเมิดนโยบายดังกล่าวของสายการบินทั้งสองแห่ง จะได้รับการตักเตือนก่อน หากยังไม่หยุดก่อความวุ่นวาย มีบทลงโทษสูงสุดคือการปฏิเสธไม่ให้ผู้โดยสารขึ้นเครื่องบิน และส่งต่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ
อ้างอิง
ติดตามข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศ กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney