เงินญี่ปุ่น “อ่อนค่า” ทะลุ 161 เยนต่อดอลลาร์  ราคาพลังงานดัน “เงินเฟ้อพุ่ง” กดดัน BOJ ขึ้นดอกเบี้ย

Economics

World Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

เงินญี่ปุ่น “อ่อนค่า” ทะลุ 161 เยนต่อดอลลาร์ ราคาพลังงานดัน “เงินเฟ้อพุ่ง” กดดัน BOJ ขึ้นดอกเบี้ย

Date Time: 28 มิ.ย. 2567 13:43 น.

Video

สาเหตุที่ทำให้ Intel อดีตยักษ์ใหญ่ชิปโลก ล้าหลังยุค AI | Digital Frontiers

Summary

  • ญี่ปุ่นยังเจอแรงกดดันด้าน “ค่าเงิน” อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเยนอ่อนค่า ทะลุ 161 เยนต่อดอลลาร์ ผลจากตลาดจับตาข้อมูลเงินเฟ้อ PCE และดีเบตชิงเก้าอี้ผู้นำสหรัฐฯ นัดแรก ด้าน CPI และดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมญี่ปุ่น ปรับดีขึ้นเหนือความคาดหมาย
  • กดดัน BOJ ขึ้นดอกเบี้ย ก.ค.นี้

ญี่ปุ่นยังเจอแรงกดดันด้าน “ค่าเงิน” อย่างต่อเนื่อง ซ้ำเติมภาระค่าครองชีพให้พุ่งสูงขึ้น กดดันกำลังซื้อในประเทศที่ซบเซาลง ล่าสุดวันนี้ 28 มิ.ย. 2567 เยนอ่อนค่าทะลุระดับ 161 มาอยู่ที่ 161.20 ต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 38 ปี เนื่องจากดอลลาร์แข็งค่า มุ่งหน้าทำระดับสูงสุดติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 2 โดยได้รับแรงหนุนจากการดีเบตชิงเก้าอี้ผู้นำสหรัฐฯ นัดแรก ระหว่าง โจ ไบเดน และ โดนัลด์ ทรัมป์ แคนดิเดตจากพรรคเดโมแครต และรีพับลิกัน รวมถึงตลาดจับตารายงานตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่จะประกาศในวันนี้


ด้านสถานการณ์เงินเฟ้อญี่ปุ่น ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือน มิ.ย. เพิ่มขึ้น 2.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเร่งตัวขึ้นจากเดือน พ.ค. ซึ่งเพิ่มขึ้น 1.9% เกินการคาดการณ์ของตลาดที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2% โดยได้รับแรงหนุนยากราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น หลังรัฐบาลญี่ปุ่นยุติมาตรการอุดหนุนค่าไฟและก๊าซเมื่อปลายเดือน พ.ค.


ในขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นในเดือน พ.ค. เพิ่มขึ้น 2.8% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน เกินคาดการณ์ของตลาดที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2% โดยได้แรงหนุนจากการผลิตรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ตัวเลขเศรษฐกิจทั้ง 2 ตัว ที่ออกมาดีกว่าที่ประเมินไว้ และคาดว่าจะเพิ่มน้ำหนักให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมนโยบายการเงิน ระหว่างวันที่ 30-31 ก.ค.นี้


ก่อนหน้านี้ คาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น ได้ส่งสัญญาณว่าอาจมีการขึ้นดอกเบี้ยในเดือน พ.ค. หากมีข้อมูลสนับสนุนที่เพียงพอว่าเงินเฟ้อจะเคลื่อนที่เข้าสู่กรอบเป้าหมาย 2% อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ในการประชุมนโยบายการเงินครั้งล่าสุด BOJ มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0-0.1% และประกาศแผนการปรับลดวงเงินถือครองพันธบัตรรัฐบาล และรายละเอียดเกี่ยวกับการปรับลดขนาดงบดุล ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่เกือบ 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเดือน ก.ค. 


อย่างไรก็ตาม BOJ ต้องเผชิญกับความท้าทายในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แม้ข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดจะออกมาดีกว่าคาด แต่ค่าจ้างที่แท้จริงกลับลดลง แม้จะมีการปรับขึ้นค่าแรงไปแล้ว การขึ้นอัตราดอกเบี้ย อาจซ้ำเติมภาระค่าครองชีพประชาชน ในขณะเดียวกันหากปล่อยไว้ ก็จะเพิ่มแรงกดดันให้เงินเยนอ่อนค่าลงเรื่อยๆ จนกว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะผ่อนคลายนโยบายการเงิน

อ้างอิง

ติดตามข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศ กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์