เทรนด์ NEET มาแรง เมื่อ Gen Z ยอมว่างงาน ดีกว่าทำงานที่ไม่ใช่ แล้ว Burn out

Economics

World Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

เทรนด์ NEET มาแรง เมื่อ Gen Z ยอมว่างงาน ดีกว่าทำงานที่ไม่ใช่ แล้ว Burn out

Date Time: 21 มิ.ย. 2567 15:10 น.

Video

สาเหตุที่ทำให้ Intel อดีตยักษ์ใหญ่ชิปโลก ล้าหลังยุค AI | Digital Frontiers

Summary

  • อัตราว่างงานเด็กจบใหม่พุ่งสูงขึ้นทั่วโลก เทรนด์ NEET มาแรงสวนกระแส ดันคน Gen Z กว่า 1 ใน 5 ยอมว่างงาน เพื่อรองานที่ใช่ ดีกว่าทำงานไปแล้ว Burn out

ท่ามกลางอัตราการว่างงานที่พุ่งสูงขึ้นทั่วโลก โดยในปี 2566 อัตราการว่างงานทั่วโลกอยู่ที่ 5.1% และส่งผลกระทบอย่างหนักในประเทศรายได้น้อย โดยเฉพาะเด็กจบใหม่ที่ลำบากในการหางานมากขึ้น เนื่องจากบริษัททั่วโลกหันมาลดต้นทุน ด้วยการลดจำนวนคนทำงาน และรีดประสิทธิภาพของแรงงานที่มีอยู่ให้ได้มากที่สุด ดังนั้นการหางานที่ตรงใจ และให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า จึงเหมือนการ "งมเข็มในมหาสมุทร" ไปแล้ว


แต่ก็มีคนรุ่นใหม่ไม่น้อยที่ไม่ยอมจำนนต่อระบบแรงงาน เลือกที่จะซื่อสัตย์กับความรู้สึก และหาทางออกในแบบฉบับของตัวเอง เช่น การเอาตัวเองออกจากปัญหาชั่วคราว ด้วยการไม่เรียน ไม่ทำงาน ไม่ฝึกฝนตัวเอง รอเวลาให้สถานการณ์รอบข้างดีขึ้น แล้วค่อยกลับมาสู้ต่อ ซึ่งคนกลุ่มนี้ถูกนิยามว่า “NEET” 

กลุ่ม NEET คือใคร สำคัญอย่างไร?


NEET มาจากตัวย่อของสี่คำรวมกัน คือ Not in Education, Employment or Training ซึ่งหมายถึงเยาวชนอายุ 15-24 ปี ที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา การทำงาน หรือการฝึกอบรม โดยคำนี้ปรากฏขึ้นครั้งแรก และได้รับความใจในสหราชอาณาจักร ตั้งแต่ทศวรรษ 1990 และเริ่มเป็นที่แพร่หลาย หลังพบว่าคนกลุ่มนี้มีอยู่ทั่วทุกมุมโลก

การเกิดขึ้นของกลุ่ม NEET สะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่เป็นอุปสรรค ต่อโอกาสเข้าถึงการจ้างงานและการศึกษา ซึ่งในอนาคตหากคนกลุ่มนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจะระยะยาว 

ข้อมูลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization) ระบุว่า ในปี 2566 ประมาณ 1 ใน 5 ของคนที่มีอายุระหว่าง 15-24 ปีทั่วโลก ได้รับการพิจารณาว่าเป็น NEET แม้จะปรับลดลงจากจุดสูงสุดในปี 2564 แต่อัตราการเติบโตของคนกลุ่มนี้ก็ยังสูงกว่าช่วงก่อนโควิด

ยอมว่างงาน เพื่อรองานที่ใช่ ดีกว่าทำไปแล้ว Burn out


แม้คน Gen Z จะมีความกังวลเกี่ยวกับการศึกษา และเส้นทางอาชีพของตัวเองมากขึ้น เนื่องจากผลกระทบจากโควิด ทำให้หลายคนต้องหลุดจากระบบการศึกษา รวมถึงหางานยากขึ้นเมื่อเทียบกับคนรุ่นก่อน สะท้อนจากผลการศึกของ Louis Federal Reserve สถาบันเพื่อความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ ที่พบว่า 1 ใน 3 ของคนหนุ่มสาวชาวอเมริกันอายุระหว่าง 18-24 ปี ไม่มีรายได้


แต่คนรุ่นใหม่บางส่วนกลับมองว่า การเป็น NEET นั้นไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดี และปฏิเสธการแปะป้ายจากสังคมที่มองว่าพวกเขาเป็นเพียงเด็กขี้เกียจ และไม่มีความพยายาม ในทางตรงข้ามพวกเขาเลือกที่จะอดทนและรอจังหวะที่เหมาะสม ในการกลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน เพื่อให้ได้งานที่ตรงใจมากขึ้น แทนที่จะด่วนตัดสินใจทำงานอะไรก็ได้ที่มีอยู่ในตลาด แล้วมาเจอปัญหาภาวะหมดไฟ (Burn out) ทีหลัง


ด้วยความที่คน Gen Z เติบโตมาในยุคเศรษฐกิจผันผวน ความเหลื่อมล้ำกระจุกตัว และต้องเจอวิกฤตการณ์โรคระบาดครั้งใหญ่ ตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ พวกเขาจึงสังเกตเห็นฉากทัศน์การทำงานที่เปลี่ยนไป ความมั่นคงที่ไม่มีอยู่จริง การทำงานถวายชีวิตภายใต้ค่านิยมเดิมๆ นั้น ไม่สามารทำให้พวกเขามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ ซ้ำร้ายบางคนอาจต้องแลกมากับปัญหาสุขภาพทั้งกายและใจ 

ดังนั้น วัฒนธรรมการทำงานขององค์กรที่ให้ความสำคัญกับ “กำไร” มากกว่า “คุณภาพชีวิตพนักงาน” จึงไม่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่อีกต่อไป 


James Watts ที่ปรึกษาด้านอาชีพและผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์ม Teach.io ให้มุมมองกับ Business Insider ว่า ปัจจุบันคน Gen Z และคนรุ่นมิลเลนเนียล เลือกที่จะทำงานกับ องค์กรที่ให้ความสำคัญกับคุณค่าทางจริยธรรม ความหลากหลาย และมีวัฒนธรรมการทำงานที่โปร่งใส เนื่องจากพวกเขาเห็นแล้วว่าวัฒนธรรมการทำงานที่เร่งรีบ นำไปสู่การหมดไฟ และสร้างผลกระทบอื่นๆ ตามมา


ได้คนที่หมาะกับ "งาน" มากขึ้น


Darrin Murriner ประธานบริหารและผู้ร่วมก่อตั้งแพลตฟอร์มการฝึกสอนทีม Cloverleaf ให้ความเห็นว่า NEET ไม่ใช่การหนีหรือเลิกทำงาน แต่เป็นการเรียกร้องให้เกิดการทำงานที่ให้ความสำคัญกับการสร้างความหมายและเติมเต็มชีวิต การที่แต่ละคนได้ทำงานที่ตรงกับแพสชันและความถนัด ในระยะยาวจะเป็นผลดีกับตลาดแรงงาน เนื่องจากการจ้างงานจะได้คนที่มีความสามารถเหมาะสมกับตำแหน่งมากขึ้น

“เมื่อผู้คนได้ทำงานที่มีความหมายต่อตัวเองอย่างแท้จริง พวกเขาจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิผล สร้างสรรค์ และมุ่งมั่นมากขึ้น” Murriner กล่าว

อ้างอิง

ติดตามข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศ กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ


ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์