เศรษฐีสหรัฐฯ อายุยืนและกำความมั่งคั่ง ปิดโอกาสคนรุ่นใหม่ “รวยยาก” ขึ้น ทำได้แค่รอ “มรดก”

Economics

World Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

เศรษฐีสหรัฐฯ อายุยืนและกำความมั่งคั่ง ปิดโอกาสคนรุ่นใหม่ “รวยยาก” ขึ้น ทำได้แค่รอ “มรดก”

Date Time: 18 มิ.ย. 2567 16:41 น.

Video

เปิดทริกวางแผนการเงิน เพื่อชีวิตที่มีประสิทธิภาพ

Summary

  • เศรษฐีสหรัฐฯ อายุยืน กำความมั่งคั่งครึ่งหนึ่งของคนทั้งประเทศ ไม่ส่งต่อคนรุ่นหลัง อุปสรรควัยรุ่นสร้างตัว รวยยากขึ้น สบายช้า โอกาสทำเงินธุรกิจสุขภาพ การท่องเที่ยว

ในช่วงที่ผ่านมา เราจะเห็นเทรนด์ความกังวลเรื่องการเงินเพิ่มขึ้นในกลุ่มคนรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้น กระทบการทำมาหากิน สร้างฐานะ ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่จากผลกระทบโควิด-19 โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ที่พบว่า 56% ของคน Gen Z และ 51% ของคน Millennials กังวลเรื่องการเงินจนนอนไม่หลับมากกว่าคน Gen อื่น


ล่าสุดคนรุ่นใหม่ในสหรัฐฯ อาจต้องเจอกับความท้าทายทางเศรษฐกิจมากขึ้น เนื่องจากเศรษฐีสหรัฐฯ มีอายุเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเร็วกว่าอายุเฉลี่ยของประชากรทั้งประเทศ ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา โดยข้อมูลล่าสุดจาก Survey of Consumer Finances data พบว่าในปี 2535 เศรษฐีสหรัฐฯ มีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 57 ปี ภายในปี 2565 เศรษฐีมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 61 ปี นั่นหมายความว่า คนหนุ่มสาวไม่ได้รวยขึ้นเร็วพอที่จะรักษาอายุเฉลี่ยให้คงที่ นอกจากนี้ เศรษฐีที่มีมูลค่าความั่งคั่งสุทธิมากกว่า 1 ล้านดอลลาร์ ยังมีอายุมากขึ้น

Garrett Watson (การ์เร็ตต์ วัตสัน) นักวิเคราะห์นโยบายอาวุโสของ Tax Foundation วิเคราะห์ข้อมูลจากฐานระบบภาษี พบว่าในปี 2554 มีชาวอเมริกันที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ประมาณ 59,500 คน ที่มีรายได้มากกว่า 1 ล้านดอลลาร์ และภายในปี 2564 กลุ่มคนดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่า มาอยู่ที่ 218,500 คน 


สอดคล้องกับผลสำรวจการใช้จ่ายผู้บริโภคของกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ในเดือนกันยายน ที่พบว่าคนรุ่น Baby Boomers ถือครองความมั่งคั่งสุทธิรวมกัน คิดเป็นครึ่งหนึ่งของความมั่งคั่งทั้งหมดในสหรัฐฯ และมีการใช้จ่ายสัดส่วนมากถึง 22% ของการใช้จ่ายทั้งหมดในปี 2565 


ทั้งนี้ การที่เหล่าเศรษฐีมีอายุยืนมากขึ้น กลายเป็นฝันร้ายสำหรับคนรุ่นใหม่ในสหรัฐฯ ที่ต้องการสร้างตัว ตามแนวคิดแบบฉบับ American dream เนื่องจากกลุ่มเศรษฐีที่กําลังแก่ตัวลง ไม่ได้ส่งต่อความมั่งคั่งให้สมาชิกรุ่นต่อไป หรือส่งต่อช้าไปในตอนที่ผู้สืบทอดนั้นแก่ตัวลงแล้ว ส่งผลให้คนรุ่นใหม่รวยยากขึ้น ไม่สามารถสร้างความมั่งคั่งในระดับเดียวกับคนรุ่นก่อน โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้มาจากครอบครัวที่มีฐานะ จะลำบากมากขึ้นหลายเท่า

ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว Chuck Collins (ชัค คอลลินส์) จากสถาบันนโยบายศึกษา (Institute of Public Policy Studies) มองว่าสิ่งนี้จะทำให้เกิดปรากฏการณ์ “King Charles effect” ที่อ้างอิงเหตุการณ์ที่พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ขึ้นครองราชย์สืบราชบัลลังก์ สหราชอาณาจักร ด้วยพระชนมพรรษา 73 พรรษา สะท้อนภาพคนปัจจุบัน ที่จะเข้าถึงความมั่งคั่งได้ก็ต่อเมื่อมีอายุมากแล้ว


อย่างไรก็ตาม การที่ความมั่งคั่งส่วนใหญ่อยู่ในมือของเหล่าเศรษฐีสูงวัยก็มีข้อดี โดยกำลังซื้อดังกล่าวจะช่วยหนุนการใช้จ่ายของผู้บริโภค การจ้างงาน และที่อยู่อาศัย ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง และคนอเมริกันที่ออมเงินลดลง เพราะขาดสภาพคล่องมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากคนกลุ่มนี้เมื่อเกษียณ มักจะใช้ชีวิตเพื่อการท่องเที่ยวและพักผ่อน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นยอดการใช้จ่าย สำหรับธุรกิจการบิน โรงแรม ร้านอาหาร และบริการด้านสุขภาพ ส่งผลบวกต่อเนื่องมาถึงการจ้างงานในธุรกิจเหล่านั้น ให้พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์

อ้างอิง

ติดตามข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศ กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์