นักท่องเที่ยวจีน ยังไม่ฟื้นสู่ระดับ ก่อนโควิด จากพิษเศรษฐกิจ ปัญหาวีซ่า สหรัฐฯ ฝรั่งเศส กระทบหนัก

Economics

World Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

นักท่องเที่ยวจีน ยังไม่ฟื้นสู่ระดับ ก่อนโควิด จากพิษเศรษฐกิจ ปัญหาวีซ่า สหรัฐฯ ฝรั่งเศส กระทบหนัก

Date Time: 17 มิ.ย. 2567 16:24 น.

Video

คนไทยจ่ายภาษีน้อย มนุษย์เงินเดือนรับจบ ปัญหาอยู่ที่ระบบหรือคนกันแน่ ? | Money Issue

Summary

  • นักท่องเที่ยวจีน ยังไม่ฟื้นสู่ระดับก่อนโควิด-19 หันมาเที่ยวในประเทศ ประหยัดค่าใช้จ่าย จากพิษเศรษฐกิจ ปัญหาขอวีซ่า ดับฝันช่วยดันเศรษฐกิจประเทศพึ่งพาท่องเที่ยว สหรัฐฯ ฝรั่งเศส กระทบหนัก ไทยได้อานิสงส์ฟรีวีซ่า

Latest


ตั้งแต่ประเทศจีน ยกเลิกมาตรการ Zero-Covid เปิดประเทศ เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2566 ทำให้คนจีนเดินทางออกนอกประเทศ และทุ่มเงินใช้จ่ายมหาศาล หลังจากที่อัดอั้นมานานถึง 3 ปี สร้างความหวังให้กับเศรษฐกิจโลกว่าจะกลับมาฟื้นตัวเร็วกว่าคาด โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวอย่างอาเซียน


แต่ล่าสุดการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน อาจฟื้นตัวเข้าสู่ระดับช่วงก่อนโควิด-19 ช้ากว่าที่คาดไว้ เนื่องวิกฤติภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ส่งผลกระทบเป็นโดมิโนต่อระบบเศรษฐกิจจีน ได้ทำลายความเชื่อมั่น และกดดันกำลังใช้จ่ายของประชาชน ประกอบกับกระบวนการขอวีซ่าที่ยุ่งยาก คนจีนส่วนใหญ่หันมาท่องเที่ยวในประเทศแทน สะท้อนถึงแนวโน้มการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไปในกลุ่มคนจีน


โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา คนจีนเดินทางไปต่างประเทศ 87 ล้านครั้ง ลดลง 40% จากช่วงก่อนโควิด และเริ่มเห็นการเดินทางชะลอตัวลงตั้งแต่ช่วงตรุษจีนในเดือนกุมภาพันธ์ นอกจากนี้นักท่องเที่ยวยังจีนใช้จ่ายน้อยกว่า 24% เมื่อเทียบกับปี 2562 ในขณะที่การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 14% ตามข้อมูลของสหประชาชาติ 


ด้าน Liu Simin รองประธานสาขาการท่องเที่ยวของสถาบันวิจัย China Society for Futures Studies คาดการณ์ว่าการเดินทางระหว่างประเทศของจีนอาจไม่ฟื้นตัวสู่ระดับก่อนโควิด-19 อีก 5 ปี


"การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีน ช้ากว่าที่คาดไว้มาก การเสื่อมค่าของเงินหยวนรวมกับปัญหาเงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกาและยุโรปยิ่งเป็นปัจจัยที่ซ้ำเติมการฟื้นตัวดังกล่าว"


ทั้งนี้ตั้งแต่ต้นปี เงินหยวนอ่อนค่าลงมากกว่า 2% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเพิ่มต้นทุนการท่องเที่ยวในต่างประเทศ แม้แนวโน้มการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนสู่ระดับปกติ จะช้ากว่าคาดการณ์ แต่ในปีที่แล้วการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจีนดีดขึ้นมาเป็นอันดับ 1 อีกครั้ง หลังจากตามหลังสหรัฐฯ เมื่อปี 2565 


คนจีนหันมาเที่ยวในประเทศ สหรัฐฯ ฝรั่งเศสกระทบหนัก

ทั้งนี้การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีนที่ชะลอลง เป็นผลมาจากการท่องเที่ยวภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น ซึ่งแตะสถิติ 295 ล้านครั้ง ในช่วงวันหยุดวันแรงงาน 5 วัน เพิ่มขึ้นมากกว่า 20% จากปี 2562 โดยในเดือนพฤษภาคม ยอดจองตั๋วเครื่องบินในประเทศ เพิ่มขึ้น 16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่เที่ยวบินระหว่างประเทศลดลง 30% ซึ่งเป็นข่าวร้ายสำหรับ ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางยอดนิยมสําหรับนักท่องเที่ยวจีนก่อนช่วงโควิด-19


Oliver Wyman บริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการธุรกิจระดับโลก กล่าวว่า คนจีน 40% ที่เดินทางไปต่างประเทศครั้งแรก ตั้งแต่เปิดประเทศ ในปี 2566 ตัดสินใจที่จะไม่เดินทางไปต่างประเทศอีกในปีนี้ เนื่องจากปัญหาความไม่สะดวกและระยะเวลาการขออนุมัติวีซ่าที่ยาวนาน สำหรับการเดินทางไปประเทศยุโรปหลายแห่ง


Margy Osmond ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Tourism & Transport Forum Australia กล่าวว่า จีนเป็นนักท่องเที่ยวอันดับเยอะต้นๆ ของออสเตรเลียก่อนโควิด แต่ปัจจุบันนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามามากเป็นอันดับ 4 โดยจํานวนนักท่องเที่ยวลดลง 53% ในเดือนมีนาคม เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562


ด้านฝรั่งเศส รายงานของ ADP ผู้ให้บริการสนามบินนานาชาติในกรุงปารีส ระบุว่า นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางไปฝรั่งเศส มีสัดส่วนเพียง 28.5% ของจำนวนนักท่องเที่ยวจีนในปี 2562 


ในขณะที่ความหนาแน่นระหว่างเส้นทางบินสหรัฐฯ-จีน ยังคงลดลงมากกว่า 80% จากระดับในปี 2562 โดยได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ทวีความรุนแรงขึ้น อย่างไรก็ตาม สํานักงานการท่องเที่ยวแห่งชาติสหรัฐฯ คาดว่าการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีนในสหรัฐฯ จะฟื้นตัวอย่างเต็มที่ในปี 2569 

สำหรับประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ และซาอุดีอาระเบีย ก็ได้รับอานิสงส์ความหนาแน่นของเที่ยวบินจากจีนที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากมาตรการยกเว้นวีซ่า

อ้างอิง

ติดตามข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศ กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ