ไม่คัดค้าน แค่ไม่เห็นด้วย สหรัฐฯ อาจกลับลำ ไม่เก็บภาษีคนรวย เพราะมีมหาเศรษฐีมากที่สุดในโลก

Economics

World Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ไม่คัดค้าน แค่ไม่เห็นด้วย สหรัฐฯ อาจกลับลำ ไม่เก็บภาษีคนรวย เพราะมีมหาเศรษฐีมากที่สุดในโลก

Date Time: 24 พ.ค. 2567 14:06 น.

Video

ล้วงลึกอาณาจักร “PCE” สู่บริษัทมหาชน ปาล์มครบวงจร | On The Rise

Summary

  • เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ปัดตกข้อเสนอบราซิล เรียกร้องเก็บภาษี 2% ต่อปีกับเหล่ามหาเศรษฐีทั่วโลก ลั่นไม่ได้คัดค้าน แค่ไม่เห็นด้วยกับวิธี คาดสหรัฐฯ กระทบเยอะสุด หากข้อตกลงบังคับใช้จริง

ในการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศ G7 ณ ประเทศอิตาลี เมื่อวันพฤหัสบดี (23 พ.ค. 2567) ที่ผ่านมา เจเน็ต เยลเลน (Janet Yellen) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอการจัดเก็บภาษีความมั่งคั่งกับมหาเศรษฐีทั่วโลก ที่เสนอโดยประเทศบราซิล ซึ่งกำหนดให้จัดเก็บภาษีอัตรา 2% ต่อปี โดยข้อเสนอดังกล่าวได้รับการสนับสนุนส่วนใหญ่จากกลุ่มประเทศ G20


"ฉันไม่สนับสนุนการเจรจาระหว่างประเทศใดๆ ที่ทุกประเทศจะต้องเห็นด้วยและทำตามข้อเสนอดังกล่าวในการแจกจ่ายรายได้การจัดเก็บภาษีไปให้ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามความรุนแรง" เยลเลนกล่าว


จุดยืนของเยลเลนครั้งนี้ ขัดแย้งกับแนวคิดของฝ่ายบริหารประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่สนับสนุนมาตรการจัดเก็บภาษีกับบุคคลที่มีรายได้สูงในสหรัฐฯ โดยในร่างประมาณปี 2025 มีการเสนอเรื่องการจัดเก็บภาษีขั้นต่ำ 25% สำหรับชาวอเมริกันที่ร่ำรวยที่สุด 0.01% ของประเทศซึ่งมีความมั่งคั่งเกิน 100 ล้านดอลลาร์


ทั้งนี้ข้อเสนอการจัดเก็บภาษีความมั่งคั่งมหาเศรษฐีจะเป็นการสนับสนุนข้อตกลง Global minimum tax หรือการจัดเก็บภาษีธุรกิจข้ามชาติที่จะเก็บอัตราภาษีเงินได้ธุรกิจขั้นต่ำ 15% เพื่อป้องกันการเลี่ยงภาษีของบริษัทขนาดใหญ่ที่มักใช้ช่องโหว่ของกฎหมายโยกย้ายผลกำไรที่ได้จากการทำธุรกิจในประเทศหนึ่งๆ ไปลงทุนในประเทศที่เสียภาษีเงินได้ในอัตราต่ำกว่า รวมถึงจัดสรรกำไรและสิทธิภาษีบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ให้เป็นธรรมมากขึ้น ซึ่งข้อตกลงนี้ถูกเสนอโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) และได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ จนมีประเทศสมาชิกกว่า 140 ประเทศเข้าร่วมข้อตกลง ล่าล่าสุดมี 55 ประเทศที่เริ่มดำเนินการแล้ว แต่ในสหรัฐฯ ข้อตกลงดังกล่าวยังไม่ผ่านอนุมัติจากสภาคองเกรส เนื่องจากถูกต่อต้านโดยพรรครีพับบลิกัน


อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมา การเจรจาดังกล่าวยืดเยื้อมานานหลายปีและถูกเลื่อนออกไปซ้ำแล้วซ้ำอีก เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างยุโรปและสหรัฐฯ ในเรื่องข้อปฏิบัติทางภาษีต่อบริษัทยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ


ซึ่งในอนาคตหากภาษีความมั่งคั่งมหาเศรษฐีมีผลบังคับใช้ขึ้นมาจริง สหรัฐฯ อาจได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากเป็นประเทศที่มีพลเมืองเป็นมหาเศรษฐีที่มีความมั่งคั่ง 500 อันดับแรกมากที่สุด ตามรายงานของ Bloomberg Billionaires Index โดย 9 ใน 10 ของบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลกอาศัยอยู่ในสหรัฐฯ นำโดย Jeff Bezos, Elon Musk, Mark Zuckerberg, Larry Page และ Bill Gates.

อ้างอิง

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์