ท่ามกลางยุคเศรษฐกิจที่ผันผวนมากที่สุดในรอบหลายปี ทั้งสงครามความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ขยายวงกว้าง และปัญหาเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง ซ้ำเติมค่าครองชีพ ภาระหนี้สินของภาคครัวเรือนให้รุนแรงขึ้น ความท้าทายทางเศรษฐกิจไม่ได้กระทบแค่ผู้ใหญ่ที่เป็นหัวหน้าครอบครัวเท่านั้น แต่ยังส่งผลไปถึงคนรุ่นใหม่ที่กำลังอยู่ในวัยเรียน หรือเพิ่งเริ่มทำงานสร้างตัว ต้องพยายามแบกทั้งความหวัง และความฝัน เพื่อให้มีชีวิตรอดไม่แพ้ยุคพ่อแม่
Deloitte บริษัทตรวจสอบบัญชีและที่ปรึกษาการเงินระดับโลก เผยแพร่ผลสำรวจเกี่ยวกับทัศนคติทางการเงินของคน Gen Z และมิลเลนเนียล ใน 44 ประเทศ
จากการสํารวจพบว่า 1 ใน 3 ของ Gen Z และ Millennials เลือกที่จะไม่เรียนต่อมหาวิทยาลัย และหางานทำที่ไม่ต้องใช้วุฒิปริญญา เนื่องจากติดอุปสรรคทางการเงิน สถานการณ์ครอบครัวหรือส่วนตัวไม่เอื้อให้เรียนต่อ ตอกย้ำสถานภาพการเงินของคนรุ่นใหม่ที่กังวลปัญหาค่าครองชีพมาเป็นอันดับ 1 เนื่องจากครึ่งหนึ่งของคน Gen Z และ Millennials ใช้ชีวิตแบบเงินเดือนชนเดือน ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ทั้งนี้คนรุ่นใหม่ยังกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการว่างงานที่เพิ่มขึ้น โดยประมาณ 1 ใน 3 เปิดเผยว่าพวกเขารู้สึกไม่มั่นคงทางการเงิน ในขณะเดียวกัน หลายคนกําลังมองหาอาชีพที่นํามาซึ่งความมั่นคงและไม่จําเป็นต้องมีปริญญา
แนวโน้มการเรียนต่อมหาวิทยาลัยที่ลดลงในกลุ่มคนรุ่นใหม่ กลายเป็นเทรนด์ที่แพร่หลายมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยมีสาเหตุหลักมาจากค่าเทอมที่แพงขึ้น โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาที่ประชากรมากกว่า 43 ล้านคน ตกเป็นหนี้การศึกษา ส่งผลให้ปัจจุบัน หนี้การศึกษาพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.7 ล้านล้านดอลลาร์
เมื่อแตกหนี้เป็นรายคน พบว่า ชาวอเมริกันแบกหนี้การศึกษา โดยเฉลี่ยคนละ 1 ล้านบาท นอกจากนี้การเปิดกว้างทางอาชีพ ทำให้มีตำแหน่งงาน ที่ไม่กำหนดวุฒิปริญญาเพิ่มขึ้น ล้วนเป็นเหตุผลให้คน Gen Z มองว่าการเรียนต่อมหาวิทยาลัยนั้นไม่คุ้มค่าอีกต่อไป
สอดคล้องกับผลสำรวจในเดือนกรกฎาคม ของ Business Insider และ YouGov พบว่ามีเพียง 39% ของคน Gen Z ที่ให้ความสำคัญกับการมีการศึกษาระดับสูง ในขณะที่ 46% มองว่าการเรียนต่อในมหาวิทยาลัยนั้นไม่คุ้มกับภาระค่าใช้จ่ายที่ตัวเองต้องแบกรับเป็นระยะเวลาหลายปี
อ้างอิง
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney