ยังเป็นประเด็นที่ทั่วโลกถกเถียงกันไม่จบ สำหรับจีนที่ "ผลิตสินค้าเกินความต้องการ" จนต้องส่งออก ดัมพ์ราคาตลาดโลก สร้างความหายนะในหลายอุตสาหกรรม แม้สหรัฐฯ และยุโรปจะพยายามเรียกร้องให้รัฐบาลจีนออกมาแสดงความรับผิดชอบ ด้วยการทยอยออกมาตรการกดดันทางภาษี และมาตรการกีดกันอื่นๆ สำหรับสินค้าที่นำเข้ามาจากจีน โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า เหล็ก และแผงโซลาร์เซลล์ แต่ก็ดูเหมือนจะไม่เป็นผล
ล่าสุด ในการเดินทางเยือนยุโรปสัปดาห์นี้ของ สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี ตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ระบาด โดยมีจุดประสงค์เพื่อสานสัมพันธ์ทางการทูต และยกระดับทางการค้ากับกลุ่มประเทศยุโรป ซึ่งกำลังหันไปร่วมมือกับสหรัฐฯ กีดกันสินค้าจากจีน นายสี จิ้นผิง ก็ไม่ได้มีการชี้แจงหรือจัดการข้อพิพาททางการค้าที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์การผลิตสินค้าล้นตลาด ดูเหมือนจะเป็นดาบสองคมที่ย้อนกลับมาส่งผลกระทบต่อเสน่ห์ของจีน ในฐานะจุดหมายการลงทุนระดับโลก สะท้อนจากผลสำรวจของสภาหอการค้าสหภาพยุโรปในจีน (EUCCC) ที่สำรวจความเชื่อมั่นบริษัทยุโรปที่ดำเนินงานในจีน
พบว่าบริษัทส่วนใหญ่มองว่าการทำธุรกิจในจีนนั้นยากมากขึ้น ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง และปัญหากำลังการผลิตส่วนเกินที่กดดันการแข่งขันในประเทศมากขึ้น โดยมีบริษัทยุโรปเพียง 30% เท่านั้นที่ทำกำไรในประเทศจีนสูงกว่าค่าเฉลี่ยของบริษัทสาขาอื่นๆ ทั่วโลก ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 8 ปี
เมื่อพิจารณาความสนใจการลงทุนในจีน พบว่ามีบริษัทเพียง 13% ที่มองจีนเป็นจุดหมายปลายทางการลงทุนอันดับต้นๆ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลในปี 2553 และลดลงจาก 27% ในปี 2564 ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนถึงท่าทีของบริษัทต่างๆ ที่กำลังเปลี่ยนจุดหมายการลงทุน เพื่อลดผลกระทบของการ Decoupling แยกห่วงโซ่อุปทานระหว่างจีนและประเทศมหาอำนาจอื่นๆ
ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจที่ระบุว่า 55% ของบริษัทยุโรป มองปัญหาเศรษฐกิจจีนชะลอตัว และส่อแววซึมยาวจากปัญหาโครงสร้าง เป็นหนึ่งในความกังวลอันดับต้นๆ ของการทำธุรกิจ
นอกจากนี้ปัญหาสินค้าล้นตลาด ยังเพิ่มความกังวลให้กับการทำธุรกิจในจีน โดยบริษัทกว่า 1 ใน 3 รับรู้ถึงปัญหาสินค้าจีนล้นตลาด โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมวิศวกรรมโยธา การก่อสร้าง และยานยนต์ และ 70% มองว่าการทุ่มผลิตสินค้าเกินความต้องการ ส่งผลให้ราคาสินค้าในตลาดปรับลดลง
อ้างอิง
อ่านข่าวเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้
https://www.facebook.com/ThairathMoney