วิกฤติเศรษฐกิจ มนุษยธรรม ผลักคนย้ายถิ่น สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ยุโรป สหรัฐฯ รับอานิสงส์แรงงาน

Economics

World Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

วิกฤติเศรษฐกิจ มนุษยธรรม ผลักคนย้ายถิ่น สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ยุโรป สหรัฐฯ รับอานิสงส์แรงงาน

Date Time: 3 พ.ค. 2567 16:07 น.

Video

เปิดทริกวางแผนการเงิน เพื่อชีวิตที่มีประสิทธิภาพ

Summary

  • คนย้ายประเทศสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 6.1 ล้านคน หนีพิษเศรษฐกิจ วิกฤติมนุษยธรรม หางานทำในประเทศพัฒนาแล้ว ยุโรป สหรัฐฯ รับอานิสงส์แก้แรงงานขาดแคลน จากสังคมสูงอายุ ดันเศรษฐกิจโลกโตดีขึ้น

องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เปิดเผย ในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2567 ว่า กระแสการย้ายถิ่นฐาน ที่พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในกลุ่มประเทศร่ำรวย จะช่วยยกระดับแนวโน้มการเติบโตเศรษฐกิจโลก

ในรายงานล่าสุด ระบุว่า กระแสการย้ายถิ่นฐานขนาดใหญ่ ไปยังกลุ่มประเทศ OECD ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ในยุโรปและอเมริกาเหนือ รวมถึงสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร แคนาดา สเปน และออสเตรเลีย เมื่อปี 2566 เป็นปัจจัยที่ช่วยคลายความตึงตัวของตลาดแรงงาน และเพิ่มการเติบโต GDP ในประเทศดังกล่าว 


โดยย้อนกลับไปเมื่อปี 2565 วิกฤติเศรษฐกิจ และมนุษยธรรม ได้ผลักดัน ให้ผู้คนย้ายถิ่นฐานสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยมีคนย้ายถิ่นฐานถาวรไปยัง 38 ประเทศในกลุ่ม OECD มากถึง 6.1 ล้านคน และมีการคาดการณ์ว่า การอพยพข้ามพรมแดนจะเพิ่มขึ้นอีกในปี 2566


ทำให้ในปีนี้ OECD ปรับเพิ่มประมานการการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ 3.1% จากประมาณการเดิมที่ 2.9% ในขณะที่กลุ่มประเทศสมาชิกทั้ง 38 ประเทศ คาดว่าจะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ 1.7% แนวโน้มที่สดใสสะท้อน ถึงอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงเร็วกว่าที่คาดไว้ ความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่ดีขึ้น และการฟื้นตัวของรายได้ครัวเรือน


แม้แนวโน้มเศรษฐกิจจะดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว แต่เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ดูจะเติบโตสวนทางกับกลุ่มประเทศในยุโรป จะเห็นได้จากการปรับเพิ่มประมาณการ GDP สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 2.6% ในขณะที่คงประมาณการเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปไว้ที่ 0.7% เนื่องจากเศรษฐกิจเยอรมนีมีแนวโน้มอ่อนแอลง


ทั้งนี้ แคลร์ ลอมบาร์เดลลี (Clare Lombardelli) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ OECD กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เติบโตดีกว่าคาด ส่วนหนึ่งมาจากตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง ซึ่งอัตราการย้ายถิ่นฐานที่มากกว่าปกติ มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการเติบโตดังกล่าว 


สอดคล้องกับความเห็นของเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด ในงานปราศรัยที่ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เมื่อเดือนเม.ย ว่า "การย้ายถิ่นฐานที่แข็งแกร่ง ซึ่งกระตุ้นอุปทานแรงงานเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทําให้ GDP และการจ้างงานของสหรัฐฯ เติบโตอย่างแข็งแกร่งในปี 2566 แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดลงอย่างมาก" 


ล่าสุดเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานงบประมาณรัฐสภาสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ในปีที่แล้ว สหรัฐฯ มีจำนวนผู้ย้ายถิ่นฐานอยู่ที่ 3.3 ล้านคน ซึ่งสูงกว่าที่สำนักงานสำรวจสำมะโนประชากรคาดการณ์ไว้มาก


นักเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า หากการประมาณการการย้ายถิ่นฐานนั้นถูกต้อง ตลาดแรงงานที่ร้อนแรงจะไม่เป็นปัญหาสำหรับเฟด เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของจำนวน แรงงานในระบบ จะทำให้นายจ้างสามารถหาคนทำงานได้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องขึ้นค่าแรงอย่างรวดเร็วเพื่อจ้างแรงงานในประเทศที่มีอยู่อย่างจำกัด


เช่นเดียวกับในอังกฤษที่จำนวนคนย้ายถิ่นฐานพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งส่งผลให้สถานการณ์ตลาดแรงงานผ่อนคลาย หลังจากขาดแคลนคนอย่างหนัก จากปัญหาสังคมสูงอายุ โดยอัตราว่างงานลดลงอย่างรวดเร็วในหลายภาคส่วน เช่น บริการการดูแลด้านสังคมที่เน้นให้บริการผู้สูงอายุ

อ้างอิง

อ่านข่าวเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ


ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้
https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์