เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2567 (ตามเวลาสหรัฐฯ) คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีมติเป็นเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.25%-5.50% ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ และเป็นระดับสูงสุดในรอบ 23 ปี นับเป็นการตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันครั้งที่ 6 หลังจากทำการขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาแล้ว 11 ครั้ง ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565
แม้เฟดจะยังคงลดการถือครองหลักทรัพย์ แต่ตั้งแต่เดือน มิ.ย. เป็นต้นไป เฟดจะชะลอมาตรการลดขนาดงบดุล (Quantitative Tightening : QT) โดยปรับลดวงเงินพันธบัตรที่จะครบกำหนดการไถ่ถอนแต่ละเดือนจาก 60,000 ล้านดอลลาร์ลงเหลือ 25,000 ล้านดอลลาร์ โดยไม่มีการซื้อเพิ่ม แต่ยังคงวงเงินหลักทรัพย์ค้ำประกัน (Mortgage-Backed Security: MBS) ไว้ที่ 35,000 ล้านดอลลาร์ และจะนำเงินต้นที่เกินวงเงินไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลแทน
ทั้งนี้การชะลอการลดขนาดงบดุลลง จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดความโกลาหลในตลาดเงินเนื่องจากการลดสภาพคล่องในระบบ จะส่งผลเชิงลบต่อสินทรัพย์เสี่ยง
อย่างไรก็ตาม รายงานสรุปการประชุมที่เผยแพร่เมื่อวันพุธ เฟดมองว่า ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ยังขาดความคืบหน้าเพิ่มเติมว่าอัตราเงินเฟ้อจะเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ 2% เนื่องจากตัวชี้วัดล่าสุดชี้ให้เห็นว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังคงขยายตัวในอัตราที่มั่นคง การจ้างงานยังคงแข็งแกร่ง และอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ แม้เงินเฟ้อจะผ่อนคลายลงในช่วงปีที่ผ่านมา แต่ยังคงปรับเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนนี้
เฟดยังคงเน้นย้ำว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ในระดับที่เหมาะสม และจะไม่ลดอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะมั่นใจว่าเงินเฟ้อเคลื่อนเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ 2% อย่างยั่งยืน ซึ่งอาจใช้เวลานานกว่าที่คาดไว้
นอกจากนี้ ในช่วงแถลงข่าวหลังการประชุม เจอโรม พาวเวลล์ (Jerome Powell) ประธานเฟด กล่าวเพิ่มเติมว่า ไม่น่ามีความเป็นไปได้ที่เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งต่อไป โดยปัจจัยที่อาจทำให้เฟดตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง คณะกรรมการจะต้องเห็นหลักฐานที่บ่งชี้ว่านโยบายการเงินปัจจุบันเข้มงวดไม่เพียงพอที่จะนำเงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย
อ้างอิง
อ่านข่าวเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้
https://www.facebook.com/ThairathMoney