ชีวิตต้องสู้ ยิ่งกว่ารุ่นพ่อแม่ เปิด 5 เทรนด์เอาตัวรอด ของวัยรุ่นจีน ในยุคเศรษฐกิจขาลง

Economics

World Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ชีวิตต้องสู้ ยิ่งกว่ารุ่นพ่อแม่ เปิด 5 เทรนด์เอาตัวรอด ของวัยรุ่นจีน ในยุคเศรษฐกิจขาลง

Date Time: 19 เม.ย. 2567 20:00 น.

Video

ดร.พิพัฒน์ KKP กระเทาะโจทย์เศรษฐกิจไทย บุญเก่าเจอความเสี่ยง บุญใหม่มาไม่ทัน

Summary

  • เมื่อเศรษฐกิจไม่เป็นใจ ในเวลาที่คนรุ่นใหม่ต้องเริ่มสร้างตัว แบกรับความหวังทั้งจากครอบครัวและสังคม ความมั่งคั่งก็ต้องมี Work Life Balance ก็ต้องรักษา วัยรุ่นจีนเขามีวิธีผ่านบททดสอบนี้กันอย่างไร? Thairath Money สรุป 5 เทรนด์เอาตัวรอดของวัยรุ่นจีนในยุคเศรษฐกิจขาลง

Latest


การใช้ชีวิตในฐานะ "คนรุ่นใหม่" หรือที่หลายคนเรียกว่า Gen Y หรือ Gen Z ในยุคที่เศรษฐกิจโลกผันผวนนั้นไม่ง่ายเลย โดยเฉพาะวัยรุ่นจีนที่ต้องก่อร่างสร้างตัว ท่ามกลางเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงขาลง สวนทางกับเศรษฐกิจโลกที่ทยอยตัวฟื้น อีกทั้งเศรษฐกิจยังส่อแววซึมยาว แม้ GDP ไตรมาสแรกของปี 2567 จะเติบโตเหนือความคาดหมายของตลาดที่ 5.3% แต่การเติบโต นั้นส่วนใหญ่มาจากฟื้นตัวในภาคผลิต ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล ในขณะที่การบริโภคในประเทศ และการจ้างงานในประเทศยังอ่อนแอ สะท้อนจากอัตราการว่างงานในเด็กจบใหม่ ซึ่งอยู่ที่ 15.3% ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศที่ 5.3% 

เมื่อเศรษฐกิจไม่เป็นใจ ในเวลาที่คนรุ่นใหม่ต้องเริ่มสร้างตัว แบกรับความหวังทั้งจากครอบครัวและสังคม ความมั่งคั่งก็ต้องมี Work Life Balance ก็ต้องรักษา "วัยรุ่นจีน" เขามีวิธีผ่านบททดสอบนี้กันอย่างไร? 

Thairath Money สรุป 5 เทรนด์เอาตัวรอดของวัยรุ่นจีนในยุคเศรษฐกิจขาลง

1.“ถ่างผิง” เลิกทำงานถวายชีวิต

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นปรากฏการณ์ต่อต้านสังคมรูปแบบต่างๆ ในกลุ่มคนจีนรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง โดย “ถ่างผิง” ถือเป็นเทรนด์แรกที่จุดประกายให้วัยรุ่นจีนลุกขึ้นมาปลดแอกตัวเอง จากบรรทัดฐานสังคมที่กดทับพวกเขาไว้ โดยเทรนด์นี้เริ่มเป็นที่รู้จักครั้งแรกในปี 2564 จากโพสต์หนึ่งใน Weibo ซึ่งเป็น Social Media ยอดนิยมของจีน ต่อมาได้ถูกนำไปทำเป็นภาพล้อเลียนจนเป็นกระแสอย่างแพร่หลาย


ทั้งนี้คำว่า “ถ่างผิง” แปลว่า นอนราบ แสดงถึงการพักผ่อนจากงาน โดยไม่แยแสแรงกดดันจากสังคม ปฏิเสธการทำงานที่หนักมากเกินไป และเลือกทำงานเท่าที่จำเป็น หันมาให้ความสำคัญกับ Work Life Balance เพื่อให้มีเวลาไปใช้ชีวิตในแบบที่ต้องการ สะท้อนถึงการไม่ยอมจำนน ต่อค่านิยมการทำงานหนัก ถวายชีวิตที่มีมาอย่างยาวนานในสังคมจีน 


2.ตามล่าดอกเบี้ยเงินฝาก

เมื่อธนาคารพาณิชย์ทั่วประเทศปรับลดดอกเบี้ยเงินฝาก เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศที่ส่อแววภาวะเงินฝืด ตามนโยบายธนาคารกลางจีน (PBOC) ทำให้หนุ่มสาวชาวจีนต้องหาทางหนีทีไล่ เพื่อรักษาความมั่งคั่งของตัวเอง ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ซบเซา จนเกิดเป็นเทรนด์ไล่ล่า ตามหาธนาคารที่ให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากสูงไปทั่วประเทศ


ในหลายประเทศการค้นหาอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่โดนใจนั้นง่าย เพียงแค่เข้าไปที่เว็บไซต์ธนาคาร แต่ในประเทศจีนนั้นแตกต่างออกไป ผู้ฝากเงินจะต้องใช้เวลามากขึ้นในการเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก แม้ว่าธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งจะเปิดเผยอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก บนเว็บไซต์ของตัวเอง แต่ในความเป็นจริงแม้จะชื่อธนาคารเดียวกัน แต่ต่างสาขา ก็จะมีการเสนออัตราดอกเบี้ยและข้อเสนอพิเศษที่แตกต่างกันไป เพื่อจูงใจลูกค้าให้ฝากเงิน ทำให้เกิดช่องว่างการเก็งกำไร

ประกอบกับความนิยมของเทรนด์การท่องเที่ยวแบบ Special Forces ที่คนจะใช้เวลาช่วงวันหยุดระยะสั้น เดินทางท่องเที่ยวแบบอัดแน่น เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่าย แต่ยังได้มาซึ่งประสบการณ์ จึงเกิดการผสมผสานรูปแบบการเดินทางเข้าด้วยกัน จนกลายเป็นเทรนด์ไล่ล่าดอกเบี้ยเงินฝากในกลุ่มคนรุ่นใหม่ขึ้นมานั่นเอง

ทั้งนี้วิกฤติฟองสบู่ในภาคอสังหาฯ และตลาดหุ้นที่ตกต่ำลง จากการเทขายของนักลงทุนต่างชาติ โดยดัชนีหุ้นจีน CSI 300 ในปี 2566 ทำผลงานแย่ติดต่อกันเป็นปีที่ 3 โดยปิดดัชนีที่ระดับ 11.4% ยังเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้คนรุ่นใหม่ หันมาเก็บเงินมากกว่าลงทุน เนื่องจากขาดความเชื่อมั่น ในสภาพเศรษฐกิจมีความผันผวนสูง


3.ลูกฟูลไทม์ รับเงินเดือนพ่อแม่

"ลูกฟูลไทม์" (full-time children) เป็นกระแสต่อเนื่องมาจากเทรนด์ “ถ่างผิง” เมื่อการเป็นเด็กจบใหม่ในจีนไม่ง่าย งานหายากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร

แม้จะร่อนใบสมัครเป็น 100 ที่ก็ยังไม่มีสัญญาณ หรือทำงานหนักจนหมดไฟก็ยังไม่ได้ใช้ชีวิตในแบบที่ต้องการ ทำให้หลายคนเลือกทิ้งความก้าวหน้าในหน้าที่งาน หรือความฝัน กลับไปอยู่บ้าน ทำหน้าที่ลูกที่ดีดูแลพ่อแม่ และกินเงินเดือนจากครอบครัว  


ซึ่งเทรนด์นี้เป็นปัญหาใหญ่ที่บั่นทอนเสถียรภาพประเทศ ถึงขนาดที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ต้องออกมาตำหนิคนรุ่นใหม่ ให้รู้จักหน้าที่ของตัวเอง เนื่องจากจีนประสบปัญหาเศรษฐกิจเติบโตชะลอลง จากสังคมสูงวัย ทำให้มีคนทำงานน้อยลง อีกทั้งงานยังหายาก สะท้อนผ่านอัตราว่างงานเด็กจบใหม่ในเดือนมิถุนายน ปี 2566 ที่พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 21.3% จนทำให้เดือนต่อมาทางการจีนต้องประกาศยกเลิกรายงานอัตราว่างงานเลยทีเดียว


4.B1B2 ใช้เงินคุ้มค่า ไม่อินแบรนด์เนม

ก่อนโควิด จีน ถือเป็นตลาดที่มีฐานลูกค้าขนาดใหญ่ สำหรับธุรกิจแบรนด์เนม แต่ปัจจุบันด้วยผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง จากวิกฤติเศรษฐกิจ ในหลายด้าน ส่งผลให้กำลังซื้อในจีนแผ่วลง โดยเฉพาะวัยรุ่นจีน ที่เคยเป็นกลุ่มลูกค้าหลัก หันมารัดเข็มขัดการใช้จ่ายมากขึ้น รายงานของ Tsinghua-Nikkei ระบุว่า คน Gen Z ในจีนกว่า 59% หันมาช็อปปิ้งแบรนด์ท้องถิ่น มากกว่าแบรนด์ต่างประเทศ ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ 11.8% 

เป็นที่มาของการเกิดเทรนด์ “B1B2” ที่หยิบยกปุ่มลิฟต์ B1 และ B2 ซึ่งสื่อถึงชั้นใต้ดิน มาเป็นสัญลักษณ์แทนการปรับตัวมาใช้ชีวิตติดดิน ช็อปปิ้งและทานอาหารที่ราคาจับต้องได้ ในชั้นใต้ดินของห้างหรู

เพื่อลดแรงกดดันทางการเงิน ซึ่งเป็นการสะท้อนว่าคนรุ่นใหม่ในจีน มีความมั่นใจในรสนิยมของตัวเองมากขึ้น โดยไม่ต้องใช้สินค้าแบรนด์เนม เพื่อยกระดับสถานะทางสังคม เหมือนคนรุ่นพ่อแม่ โดยพวกเขาหันมา ให้ความสำคัญกับสินค้าที่ใช้งานได้จริง และตอบสนองคุณค่าที่พวกเขายึดถือ

5.หางานผ่าน Tinder


รักไม่ยุ่ง มุ่งแต่หางาน ในยุคเศรษฐกิจขาลง แบบนี้ขยับไปไหน ทำอะไรก็มีแต่ค่าใช้จ่าย งานก็ยังหาไม่ได้ การจะมีความรักยุคนี้ วัยรุ่นจีนเลยต้องคิดหนัก เลือกความอิ่มท้องมาก่อนความอิ่มใจ นับตั้งแต่ LinkedIn ปิดตัวแพลตฟอร์มหางาน InCareer ในจีน ไปเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2567 Tinder ได้กลายเป้าหมายใหม่ของเหล่าวัยรุ่นจีนที่ต้องการหางานทำ 


ทั้งนี้เทรนด์ใช้แอปพลิเคชันหาคู่ เพื่อหางานเริ่มเป็นที่แพร่หลายมากขึ้น หลังจากมีผู้ใช้งานรายหนึ่งใน Xiaohongshu แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียยอดนิยมของจีน โพส์ตแนะนำ 6 วิธีหางานใน Tinder เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งได้จุดประกายให้วัยรุ่นจีนเอาไปทำตาม


โดยวิธีที่วัยรุ่นจีนใช้ในการหางาน เริ่มแรก คือ การเลือกจับคู่กับคน ที่มาจากสายงานที่ตัวเองสนใจ ต่อมาคือการชวนคู่คุยแบ่งปันประสบการณ์ทำงาน และความยากลำบากที่ต้องเผชิญก่อนจะทำทีเป็นขอคำปรึกษา และตบท้าย ด้วยขอให้ช่วยเขียน resume และใส่ชื่อคนคุยเป็น recommendations เพื่อสมัครงาน


อย่างไรก็ตามโฆษกจาก Tinder ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อต้าน เทรนด์ดังกล่าวว่าเป็นการละเมิดกฎชุมชน และเน้นย้ำว่าจุดประสงค์ ของการใช้แอปพลิเคชันมีไว้เพื่อสานสัมพันธ์ส่วนตัว ไม่ใช่พื้นที่สานสัมพันธ์ทางธุรกิจ

อ่านข่าวเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้
https://www.facebook.com/ThairathMoney


 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ