ตลาดเพิ่มความคาดหวังว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะยุติการดำเนินนโยบาย อัตราดอกเบี้ยติดลบ และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 17 ปี ในการประชุมนโยบายการเงินระหว่างวันที่ 18-19 มี.ค.นี้ หลังตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญหลายตัวส่งสัญญาณบวกใกล้ระดับเป้าหมายของธนาคารกลาง
ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 ก.พ. ที่ผ่านมา สมาพันธ์สหภาพแรงงานญี่ปุ่น หรือ Rengo องค์กรแรงงานที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ได้บรรลุการเจรจาปรับขึ้นค่าจ้างประจำปีกับเหล่าบริษัทต่างๆ จะส่งผลให้มีการขึ้นค่าจ้างเฉลี่ยที่ 5.28% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 33 ปี และเหนือระดับที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ที่ 4.1% ทำให้นักลงทุนเพิ่มน้ำหนัก ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก มี.ค.นี้
ทั้งนี้กลุ่มบริษัทขนาดเล็กจะมีการปรับขึ้นมีค่าจ้างเฉลี่ยอยู่ที่ 4.42% ด้านฐานเงินเดือนปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.7% โดยการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างเป็นหนึ่งในตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ BOJ ให้ความสำคัญ เนื่องจากค่าจ้างที่สูงขึ้นจะช่วยเพิ่มกำลังซื้อของผู้บริโภค และทำให้อัตราเงินเฟ้อยั่งยืนมากขึ้น
ซึ่งปัจจุบัน BOJ ประเมินว่า ภาวะเศรษฐกิจญี่ปุ่นขณะนี้เอื้อต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของญี่ปุ่นอยู่สูงกว่ากรอบเป้าหมาย 2% มานานกว่า 1 ปีแล้ว
ผลสำรวจจาก Bloomberg ระบุว่า นักเศรษฐศาสตร์ 67% คาดว่าการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้จะอยู่ระหว่าง 0%-0.1% อีก 16% คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 0% ขณะที่ 10% มองว่าจะอยู่ที่ระดับ 0.1% ทั้งนี้คาดว่าตลอดทั้งปีจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ 0.5% โดยจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1 หรือ 2 ครั้ง
ด้านนักเศรษฐศาสตร์จากธนาคาร Goldman Sachs ให้ความเห็นว่า นอกจากการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว BOJ น่าจะประกาศยกเลิกมาตรการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (YCC) ไปพร้อมกันด้วย แต่จะยังคงปริมาณการซื้อพันธบัตรรัฐบาลในระดับเดิม และถือครอง ETF ต่อไป.
อ้างอิง
อ่านข่าวเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้
https://www.facebook.com/ThairathMoney