เมื่อ TikTok เสี่ยงถูกแบนในสหรัฐฯ ความมั่นคงที่ละทิ้ง ธุรกิจคนตัวเล็ก จนต้องเกิดกระแส #KeepTikTok

Economics

World Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

เมื่อ TikTok เสี่ยงถูกแบนในสหรัฐฯ ความมั่นคงที่ละทิ้ง ธุรกิจคนตัวเล็ก จนต้องเกิดกระแส #KeepTikTok

Date Time: 14 มี.ค. 2567 19:23 น.

Video

คนไทยจ่ายภาษีน้อย มนุษย์เงินเดือนรับจบ ปัญหาอยู่ที่ระบบหรือคนกันแน่ ? | Money Issue

Summary

  • เมื่อ TikTok เสี่ยงถูกแบนในสหรัฐฯ ทำคนอเมริกันลุกฮือ จุดกระแส #KeepTikTok ปกป้องแอปพลิเคชันจีน
  • Thairath Money ชวนเปิดผลกระทบ TikTok ต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีอิทธิพลขนาดไหน ใครได้ ใครเสียผลประโยชน์

ในที่สุดความพยายามของสหรัฐฯ ในการแบน TikTok แพลตฟอร์มวิดีโอสั้นทรงอิทธิพลจากจีน ก็เริ่มเห็นผล หลังพยายามบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการทำธุรกิจในประเทศทุกรูปแบบ ตั้งแต่ปี 2565 โดยอ้างเหตุผลเรื่องความมั่นคง เนื่องจากกังวลอิทธิพลของรัฐบาลจีน 


ล่าสุด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ได้ผ่านร่างกฎหมาย “ปกป้องชาวอเมริกันจากแอปพลิเคชันที่ควบคุมโดยปรปักษ์ต่างชาติ” (Protecting Americans from Foreign Adversary Controlled Applications Act) ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น 352 ต่อ 65 เสียง ที่อาจทำให้ TikTok ถูกถอดออกจากแอปสโตร์ หรือบริการเว็บโฮสติ้ง ทำให้แอปพลิเคชันนี้ไม่สามารถดาวน์โหลดได้ในสหรัฐฯ หากไม่ยอมขายกิจการ


ทั้งนี้หากวุฒิสภาพิจารณาผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว และประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ‘ไบต์แดนซ์’ (ByteDance) บริษัทแม่ในจีน จะมีเวลา 6 เดือน ในการขายหุ้น TikTok เพื่อเปลี่ยนความเป็นเจ้าของ


Thairath Money ชวนเปิดผลกระทบ TikTok ต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีอิทธิพลขนาดไหน ใครได้ ใครเสียผลประโยชน์จากวิกฤติครั้งนี้บ้าง

ครีเอเตอร์ ธุรกิจรายเล็กเจ็บหนัก โดนตัดช่องทำกิน 


แม้รัฐบาลจะอ้างว่าการแบน TikTok จะช่วยปกป้องไม่ให้ข้อมูลชาวอเมริกันรั่วไหล และถูกทางการจีนนำไปใช้ประโยชน์ แต่อิทธิพลของแพลตฟอร์มต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ นั้นใหญ่กว่าที่หลายคนคาดคิด ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจได้ไม่คุ้มเสีย ในสายตาชาวอเมริกัน โดยเฉพาะกลุ่มครีเอเตอร์ อินฟลูเอนเซอร์ และธุรกิจรายย่อย ที่ล่าสุดออกมาทำคลิป ติดแฮชแท็ก #KeepTikTok แสดงพลังสนับสนุนแพลตฟอร์ม ต่อต้านร่างกฎหมายของรัฐบาล

ทั้งนี้ปัจจุบัน TikTok มีผู้ใช้งานในสหรัฐฯ ที่ประมาณ 170 ล้านคน ด้วยจำนวนสัดส่วนผู้ใช้งานที่มากกว่าครึ่งนึงของประชากรสหรัฐฯ การแบน TikTok จะส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง

ตั้งแต่อุตสาหกรรมเพลงที่พึ่งพาการเข้าถึงฐานผู้ฟังขนาดใหญ่ เพื่อสร้างกระแสต่อยอดการเติบโต ไปจนถึงเหล่าแบรนด์หรูที่เพิ่งผันตัวเข้ามาเล่นในตลาด เพื่อจับกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ที่จะต้องปรับกลยุทธ์ธุรกิจใหม่


สอดคล้องกับข้อมูลของ Oxford Economics ที่ทำการศึกษาผลกระทบ TikTok ต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ พบว่า ธุรกิจรายย่อยมองว่า TikTok เป็นช่องทำมาหากินสำคัญที่ขาดไม่ได้ โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา แพลตฟอร์มสร้างการเติบโตให้ GDP สหรัฐฯ มูลค่ากว่า 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์ และผลักดันให้รายได้ธุรกิจขนาดเล็กเติบโตถึง 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ รวมถึงสนับสนุนการจ้างงาน 224,000 ตำแหน่ง โดยเฉพาะธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม


ทั้งนี้ผู้ประกอบการรายย่อยส่วนใหญ่ใช้ TikTok เป็นช่องทางโฆษณาสินค้า โดย 69% ระบุว่า การใช้งานแพลตฟอร์มช่วยเพิ่มยอดขายให้กับธุรกิจในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อีกทั้งการเกิดขึ้นของ TikTok Shop ทำให้สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าอายุน้อยได้มากขึ้น ทำให้ปัจจุบันเป็นจุดหมายการช็อปปิ้งยอดนิยมอันดับ 2 ในหมู่วัยรุ่น รองจาก Instagram ตามข้อมูลของ Insider Intelligence และสร้างรายได้ภาษี 5.3 พันล้านดอลลาร์ให้กับรัฐบาลสหรัฐฯ


เปิดทาง Instagram-Google ดึงผู้ใช้งาน


ทุกวิกฤติมีโอกาส แม้การแบน TikTok จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้กับบริษัทในประเทศ เช่น Meta เจ้าของ Facebook และ Instagram โซเชียลมีเดียยอดนิยมระดับโลก และ YouTube เจ้าตลาดแพลตฟอร์มวิดีโอ ที่คาดว่าจะส้มหล่นได้ผู้ใช้งานเพิ่ม

หากแพลตฟอร์มคู่แข่งโดนแบนอย่างถาวร ไม่เพียงแต่จะได้ส่วนแบ่งผู้ใช้งานเท่านั้น  แต่ยังรวมถึงเม็ดเงินโฆษณาจากบริษัทต่างๆ ที่จะหลั่งไหลเข้ามาตามการย้ายแพลตฟอร์มของผู้ใช้งาน


ทั้งนี้ปัจจุบัน Instagram มีผู้ใช้งานเกือบ 1.5 พันล้านคนต่อเดือน ตามข้อมูลของ Sensor Tower ในขณะที่ TikTok มีผู้ใช้งานมากกว่า 1.1 พันล้านคน อย่างไรก็ตาม ในแง่ของเวลาการใช้งาน TikTok ผู้คนใช้เวลาบนแอปพลิเคชันโดยเฉลี่ย 95 นาทีต่อวัน มากกกว่า Instagram ซึ่งมีเวลาการใช้งานเฉลี่ยที่ 62 นาที.

อ้างอิง

อ่านข่าวเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ


ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้
https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์