สหรัฐฯ เจอวิกฤติหนี้บัตรเครดิต คน GenZ ก่อหนี้เยอะสุด เครดิตการเงินแย่ หวั่นฉุดเศรษฐกิจประเทศ

Economics

World Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

สหรัฐฯ เจอวิกฤติหนี้บัตรเครดิต คน GenZ ก่อหนี้เยอะสุด เครดิตการเงินแย่ หวั่นฉุดเศรษฐกิจประเทศ

Date Time: 11 มี.ค. 2567 18:18 น.

Video

ล้วงไส้ TEMU อีคอมเมิร์ซจีน บุกไทย ทำไมอาจสร้างวิบากกรรมกว่าที่คิด ? | Digital Frontiers

Summary

  • สหรัฐฯ เจอวิกฤติหนี้บัตรเครดิต คน GenZ-Millennials นักก่อหนี้ตัวยง เครดิตการเงินแย่ ดันยอดหนี้ค้างชำระพุ่ง มากกว่า 50% หวั่นฉุดกำลังซื้อ กระทบเศรษฐกิจประเทศ

แม้ในภาพใหญ่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะรอดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยและเติบโตอย่างแข็งแกร่งในปี 2566 แต่เมื่อดูสถานการณ์ความเป็นอยู่ของครัวเรือน จะพบว่าคนอเมริกันกำลังเผชิญกับวิกฤติหนี้บัตรเครดิต นำโดยกลุ่มคนรุ่นใหม่ GenZ-Millennials ที่เป็นนักก่อหนี้ตัวยง แซงหน้าคนรุ่นอื่น


โดยยอดคงเหลือบัตรเครดิตโดยเฉลี่ย ของกลุ่มคน Millennials ซึ่งมีอายุระหว่าง 27-41 ปี เพิ่มขึ้น 62% ตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2565 โดยมียอดค้างชำระหนี้โดยเฉลี่ย เพิ่มขึ้นจาก 2,000 ดอลลาร์เป็น 3,300 ดอลลาร์


ในขณะเดียวกัน กลุ่มคน GenZ ซึ่งมีอายุระหว่าง 18-26 ปี มียอดค้างชำระหนี้บัตรเครดิตมากกว่าสองเท่าของคน Millennials โดยเพิ่มขึ้น 50% ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จาก 4,500 ดอลลาร์เป็น 6,700 ดอลลาร์


นับตั้งแต่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรงในปี 2565 เพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ จนทำให้ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับ 5.25%-5.50% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 22 ปี ผลักดันค่าครองชีพให้พุ่งสูงขึ้น และซ้ำเติมภาระหนี้ที่ต่อเนื่องมาจากช่วงโควิด-19 


ปัจจุบันสหรัฐฯ มีหนี้ครัวเรือนสะสม 17.5 ล้านล้านดอลลาร์ โดยในปี 2566 อัตราการผิดนัดชำระหนี้บัตรเครดิต พุ่งสูงขึ้นมากกว่า 50% ทำให้หนี้บัตรเครดิต พุ่งสู่ระดับ 1.13 ล้านล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ในไตรมาส 4/2566 หนี้บัตรเครดิตที่กลายเป็นหนี้เสียอยู่ที่ 6.4% เพิ่มขึ้น 59% จากเพียง 4% ณ สิ้นปี 2565 

GenZ-Millennials เครดิตการเงินติดลบ


ยอดหนี้บัตรเครดิตที่พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์นั้น สวนทางกับคะแนนเครดิต (Credit Score) ของคนอเมริกันที่ตกต่ำลง ซึ่งคะแนนนี้เป็นเกณฑ์ที่สะท้อนถึงระดับความเสี่ยงทางการเงินของผู้กู้แต่ละราย


ตามข้อมูลล่าสุดของ Intuit Credit Karma พบว่า ณ เดือนกุมภาพันธ์ มากกว่า 1 ใน 3 ของคน Millennials และ Gen Z มีคะแนนเครดิตต่ำกว่า 600 คะแนน หรือเรียกว่าอยู่ในระดับ Subprime credit ที่มีความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้สูง

โดยคน Millennials เป็นกลุ่มที่มี Subprime credit สูงสุด เพิ่มขึ้นเป็น 34% จาก 28% ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 ตามมาด้วยคน Gen Z ที่เพิ่มขึ้นเป็น 33% จาก 25% ในช่วงเวลาเดียวกัน


ทั้งนี้การที่คนรุ่นใหม่มีคะแนนเครดิตแย่ลงเรื่อยๆ จะส่งผลต่อความสามารถในการกู้ยืม เพราะถูกจำกัดการเข้าถึงสินเชื่อ จึงมีตัวเลือกน้อยลง และต้องแบกรับต้นทุนการกู้ยืมที่สูงกว่าคนที่คะแนนเครดิตดี

เนื่องจากสถาบันการเงินจะคิดดอกเบี้ยคนที่เป็น Subprime credit ในอัตราที่สูงเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในอนาคต หากคนรุ่นใหม่มีกำลังใช้จ่ายน้อยลง

อ้างอิง

อ่านข่าวเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้
https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์