ไทย-อินโดนีเซีย กอดคอเสี่ยงถูกลด อันดับเครดิต หลังการทำประชานิยม ส่อเพิ่มความเสี่ยงการคลัง

Economics

World Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ไทย-อินโดนีเซีย กอดคอเสี่ยงถูกลด อันดับเครดิต หลังการทำประชานิยม ส่อเพิ่มความเสี่ยงการคลัง

Date Time: 27 ก.พ. 2567 18:41 น.

Video

ทางรอดเศรษฐกิจไทยในยุค AI ครองโลก | 1st Anniversary Thairath Money

Summary

  • ไทยและอินโดนีเซีย เสี่ยงถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ จากการดำเนินนโยบายประชานิยม แจกเงิน แจกอาหาร เอาใจชนชั้นกลาง คนรายได้น้อย ชี้เพิ่มความเสี่ยงทางการคลัง กระตุ้นเศรษฐกิจได้แค่ระยะสั้น

สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า ไทยและอินโดนีเซีย เสี่ยงถูกลด อันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ จากการดำเนินนโยบายประชานิยม ที่จะเพิ่มความเสี่ยงทางการคลัง


ฟิทช์ เรทติ้งส์ เตือนว่า อินโดนีเซียจะมีความเสี่ยงทางการคลังระยะกลางเพิ่มขึ้น จากการดำเนินนโยบายประชานิยม ในขณะที่ประเทศไทยการเผชิญกับภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการชะลอตัวของการเติบโตทางเศรษฐกิจ อาจทำให้ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ 


หลังจากผ่านพ้นการเลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ไปเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 การนับผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ คาดว่า ปราโบโว ซูเบียนโต จะได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนที่ 8 ของอินโดนีเซีย ซึ่งมีแผนนโยบายจัดหาอาหารและนมฟรีให้กับเด็กนักเรียนมากกว่า 80 ล้านคนทั่วประเทศ เพื่อต่อสู้กับความยากจนขั้นรุนแรง และส่งเสริมพัฒนาการทางร่างกาย


โครงการนี้คาดว่าจะมีมูลค่า 120 ล้านล้านรูเปียห์ (7.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปีแรก ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 450 ล้านล้านรูเปียห์ต่อปีภายในปี 2572


นโยบายหาเสียงอื่นๆ ซึ่งรวมถึงนโยบายอาหารแจกฟรีของปราโบโว คาดว่าจะทำให้การขาดดุลทางการคลังเพิ่มขึ้นเป็น 2.8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศในปี 2568 จากที่คาดการณ์ไว้ที่ 2.29% ในปีนี้ และหลังจากแตะระดับต่ำสุดในรอบ 12 ปี ในปี 2566


สำหรับประเทศไทย โครงการแจกเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภค และทำให้เศรษฐกิจไทยหลุดออกจากแนวโน้มการเติบโตที่ต่ำกว่า 2% โดยโครงการนี้จะสร้างหนี้ใหม่ให้กับรัฐบาลกว่า 5 แสนล้านบาท

การยืนหยัดดำเนินนโยบายประชานิยม สะท้อนให้เห็นว่าผู้นำประเทศในอาเซียน หันมาช่วยเหลือประชาชนด้วยเม็ดเงิน เพื่อเอาใจครัวเรือนที่มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลางมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ยังไม่ฟื้นตัวหลังโควิด 

ท่ามกลางสภาวะเงินออมที่หมดลง และอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง ค่าครองชีพและมาตรการช่วยเหลือภาครัฐจึงกลายเป็นประเด็นสำคัญ ที่มีผลในการตัดสินใจ สำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง แม้แต่ในประเทศที่มีฐานะดี อย่างสิงคโปร์เองก็ตาม 

ทามารา มาสต์ เฮนเดอร์สัน จาก Bloomberg Economics ให้ความเห็นว่า

“โครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ของประเทศไทยเป็นเรื่องที่น่ากังวลมากที่สุด เนื่องจากรัฐบาลยืนยันว่าจะใช้ พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท มาเป็นทุนในการดำเนินโครงการ นี่จะเป็นเพียงการยกระดับการเติบโตในระยะสั้นเท่านั้น แต่ไม่มีประโยชน์ในเชิงผลิตภาพ หรือเชิงโครงสร้างต่อเศรษฐกิจระยะยาว” 


อย่างไรก็ตาม แม้โครงการอาหารแจกฟรีของประธานาธิบดี ปราโบโว ซูเบียนโต จะยังต้องรอข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ของ Bloomberg มองว่ามีความน่ากังวลน้อยกว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ต เมื่อพิจารณาจากแนวโน้มการเติบโตที่แข็งแกร่งของอินโดนีเซีย และภาระหนี้ที่ต่ำกว่าประเทศไทย

อ้างอิง

อ่านข่าวเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ


ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้
https://www.facebook.com/ThairathMoney


 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์